ศธ.เปิดรับเด็กจบ ม.3 เรียนอาชีวะฟรี-อยู่ฟรี 5,200 คน

ศธ.ลุยนโยบายพาน้องกลับมาเรียน จับมือ 4 หน่วยงาน เปิดโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ตั้งเป้าปี 2565 รับนักเรียน ม.3 จำนวน 5,200 คน นำร่อง 87 วิทยาลัยทั่วประเทศ วางแผน 10 ปีรองรับเด็ก 110,000 คน

วันที่ 22 มกราคม 2565 ที่วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นประธานในการเปิดโครงการ “สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” และร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดึงเด็กยากจนเข้าสู่ระบบการศึกษา

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า โครงการนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องกับโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างโอกาสทางการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้เข้าศึกษาต่อในสายอาชีพ ตามนโยบาย ศธ. ที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ตกหล่น จากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับได้เรียนต่อ 100% ซึ่งเป็นการผนึกกำลังบูรณาการ การทำงานภายในร่วมกันของ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สอศ. สพฐ. สช. และ กศน. ซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กนักเรียนโดยตรง

“โครงการนี้ ทาง สอศ.ได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับปีการศึกษา 2565 ไว้แล้ว โดยสามารถให้การสนับสนุนน้องๆ ที่สนใจเข้าเรียนทางสายอาชีพในระดับประกาศณียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 5,200 คน ในวิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเกษตร จำนวน 87 แห่ง โดยเป็นการเรียนฟรี และมีที่พักมาตรฐานให้พักฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลา3 ปีของการเรียน

อีกทั้งยังสนับสนุนให้น้องๆ มีรายได้ผ่านการจัดทำโครงการหารายได้ระหว่างเรียน รวมถึงการหาแหล่งงานให้ทำภายหลังจบการศึกษาอีกด้วย คาดหมายว่าตลอด 10 ปีของโครงการจะรับได้จำนวน 8 รุ่น จะมีน้องๆที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 110,000 คน และภายใต้การดูแลของวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศใน 77 จังหวัด รวม169 แห่ง”

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า ในปีการศึกษา 2565 จะเปิดทุกสาขาวิชาของระดับ ปวช. ที่สถานศึกษานั้นเปิดทำการสอน โดยจะเน้นให้ความสำคัญในภาคปฏิบัติ ส่วนวิชาสามัญที่เป็นพื้นฐานในการเรียนยังคงมีอยู่ แต่จะบูรณาการเข้ากับการเรียนเนื้อหาทางวิชาชีพ ในทางปฏิบัติ ทาง สอศ.จะประสานกับ สพฐ.เพื่อสำรวจนักเรียนที่กำลังจะจบการศึกษา ม.3 ที่มีความประสงค์ในการเรียนต่อทางด้านสายอาชีพ แต่ครอบครัวขาดทรัพย์ที่จะให้การสนับสนุน ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มเป้าหมายหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ และป้องกันเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา ให้เข้ารับการศึกษาสายอาชีพแทน

ด้านนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายศธ. ภายใต้โครงการ “อาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” หรือ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ได้คัดเลือกสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 87 แห่ง ทั่วประเทศ โดยสามารถรับปริมาณนักเรียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้จำนวน 5,200 คน

ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 เพิ่มสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการฯ ให้ได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 169 แห่ง ทั่วประเทศ โดยสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน จำนวนรวมทั้งสิ้น 116,000 คน

“เด็กกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาไปแล้ว คือ จบม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ ซึ่งตกค้างมาหลายปี จะสามารถเข้ามาเรียนในโครงการนี้ได้ทั้งการศึกษานอกระบบและการศึกษาปกติ และกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่กำลังจะจบ ม.3 ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ตกหล่นจากระบบการศึกษาเนื่องจากวิเคราะห์แล้วพบว่ามีเด็กที่คาดว่าจะตกหล่นจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุหลักคือเรื่องของฐานะทางครอบครัวที่ยากจน และความไม่พร้อมในการศึกษา ถึงแม้จะมีโครงการเรียนฟรี15 ปี แต่ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเรียน ทั้งค่าอาหาร ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายอื่นอีก แต่โครงการนี้จะมีทั้งหอพักให้อยู่ฟรี มีอาหารเลี้ยง 3 มื้อ และยังให้เด็กทำงานหารายได้ระหว่างเรียนอีกด้วย “นายสุเทพ กล่าว

นายธีรศักดิ์ อรุณวัชรพันธ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า ทางวิทยาลัยการอาชีพป่าซางเน้นบริหารจัดการศึกษา ภายใต้แนวคิด “การอาชีพ…เพื่อชุมชน” ที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กที่มีต้นทุนชีวิตไม่มาก ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อสายอาชีพ ซึ่งผู้เรียนส่วนใหญ่ เป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ม้ง อาข่า กะเหรี่ยง จากดอยสูงสู่การเรียนรู้ 7 สาขาวิชาอาชีพ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในศาสตร์ที่ผู้เรียนมีความสนใจ

สำหรับจำนวน 87 สถานศึกษาที่จะเปิดรับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนต้น ในระยะแรก ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิค 1 แห่งวิทยาลัยการอาชีพ 39 แห่ง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 47 แห่ง แยกเป็นภูมิภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ 26 แห่ง ภาคกลาง 19 แห่ง ภาคใต้ 19 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 แห่งภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร 5 แห่ง