เช็กมาตรการเปิดเทอม 17 พ.ค. เด็กติดโควิด-เสี่ยงสูง เข้าเรียนได้

โรงเรียน ห้องเรียน
ภาพ : pixabay

เช็กมาตรการเปิดเทอมออนไซต์ 17 พ.ค. ทั้งโรงเรียนประจำ-ไปกลับ เด็กติดโควิด-เสี่ยงสูง เข้าเรียนได้ มีแนวปฏิบัติอย่างไรบ้าง

วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้วางมาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดเรียนเต็มรูปแบบภาคเรียนที่ 1/2565 วันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เนื่องจากขณะนี้การติดเชื้อลดลงและกำลังขับเคลื่อนไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น โดยเน้นย้ำ 4 มาตรการสำคัญคือ

1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อให้นักเรียนได้รับวัคซีนตามความสมัครใจให้ครอบคลุมอย่างน้อย 60%

2.สถานศึกษา ต้องเข้ารับการประเมิน Thai Stop COVID Plus โดยต้องผ่านการประเมินมากกว่า 95%

3.เน้นย้ำการทำตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ดำเนินการปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน เป้าประสงค์นักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน

4.เน้นย้ำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ปฏิบัติตามมาตรการ โดยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยในเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยง

สำหรับมาตรการเปิดเรียนออนไซต์ของนักเรียน ครู บุคลากร

โรงเรียนประจำ เน้นมาตรการ Sandbox Safety Zone in School

กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เปิดเรียนปกติ โดยป้องกันตนเองครอบจักรวาล ประเมิน Thai Save Thai (TST) เว้นระยะห่างในห้องอย่างน้อย 1 เมตร

กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้จัดพื้นที่กักกัน จัดการเรียนการสอนในนั้นเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นให้สังเกตอาการอีก 5 วัน รวมเป็น 10 วัน

อย่างไรก็ตาม กรณีได้รับวัคซีนครบตามกำหนดและไม่มีอาการไม่แนะนำให้กักตัว และตรวจ ATK ในวันที่ 5 และวันที่ 10

กรณีเป็นผู้ติดเชื้อ ให้หารือหน่วยบริการสาธารณสุขในการแยกกักตัวในโรงเรียนกรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ให้จัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร งดร่วมกลุ่ม

โรงเรียนไป-กลับ

กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เรียนตามปกติ ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ประเมิน TST เว้นระยะห่างในห้องอย่างน้อย 1 เมตร

กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหากยังไม่ได้รับวัคซีน ไม่มีอาการ แนะนำให้กักตัวเองเป็นเวลา 5 วัน และติดตามหลังจากนั้นอีก 5 วัน กรณีได้รับวัคซีนครบและไม่มีอาการไม่ต้องกักตัว ให้เข้าเรียนได้ สถานศึกษาจัดให้เรียนได้ตามความเหมาะสม โดยให้ตรวจ ATK วันที่ 1, 5 และ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

กรณีติดเชื้อให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือพิจารณากักตัวที่โรงเรียน โดยคณะกรรมการสถานศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรณีเป็นผู้ติดเชื้อมีอาการให้พิจารณาจัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม

ปรับผังห้องเรียน

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า โรงเรียนทั่วประเทศมีกว่า 35,000 แห่ง เป็นโรงเรียนรัฐสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งประถมศึกษา และมัธยมศึกษา 29,200 แห่ง เอกชน 4,100 แห่ง และอื่น ๆ เช่น อปท. มหาดไทย (มท.) อีกราว 1,800 แห่ง โดยกว่า 90% จะเปิดเรียนในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 โดยทุกสถานศึกษามีการเตรียมความพร้อม โดยสิ่งที่แตกต่างระหว่างภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 กับภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 คือ การเว้นระยะห่างในห้องเรียนจะเหลือ 1 เมตร จาก 1.5 เมตร

สุภัทร จำปาทอง
สุภัทร จำปาทอง

เพราะฉะนั้น ห้องเรียนปกติที่มีขนาด 8×8 เมตร สามารถจัดโต๊ะเรียนได้ 7 แถว แถวละ 6 ที่นั่ง รวม 42 คน ซึ่งโดยปกติ 1 ห้องเรียนจะมีนักเรียนประมาณ 40 คน ไม่มีปัญหาในเรื่องการเว้นระยะห่าง แต่อาจจะมีปัญหาในโรงเรียนประถมศึกษาบางแห่งเท่านั้น ที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ บางห้องอาจจะมีขนาด 6×8 เมตร

ทั้งนี้ บางโรงเรียนเป็นการเรียนในห้องปรับอากาศ ต้องมีการเปิดระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 นาที ในช่วงพัก สำหรับโอกาสติดเชื้อ และแพร่เชื้อในโรงเรียน คือ การถอดหน้ากาก กินข้าวร่วมกัน สนทนาระหว่างกันโดยไม่สวมหน้ากาก ดังนั้นในโรงอาหารควรมีการแยกสำรับกับข้าว แยกพื้นที่ งดการพูดคุย ขณะกินอาหาร และเมื่อมีการเล่นร่วมกัน ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา