เด็กขอทาน หลุดระบบการศึกษา 1.7 หมื่นคน ยากจนเงียบเชียบ

เด็กหลุดระบบนั่ง ‘ขอทาน’

นักวิชาการเผยเด็กไทยกว่า 1.7 หมื่นคนยากจนเงียบเชียบ พ่อแม่พาลูกไปขอทาน ไม่เคยได้รับทุกการศึกษา

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า นโยบายพาน้องกลับมาเรียน ถือเป็นนโยบายเกรดเอ จะเห็นว่าในปี 2564 มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 238,700 คน ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วจำนวนมาก เหลือเพียง 17,000 คน ที่ยังไม่สามารถติดตามให้กลับเข้ามาเรียนได้

ซึ่งสะท้อนว่านโยบายนี้ได้รับการปฏิบัติ และลงพื้นที่ติดตามเด็กอย่างจริงจัง สาเหตุที่นโยบายนี้ประสบความสำเร็จ คือทุกหน่วยงานมีข้อมูลตัวเลขเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาแน่น รู้ได้ว่าผู้เรียนในแต่ละสังกัด ออกจากระบบการศึกษาเท่าใด ดังนั้น การมีข้อมูลที่แม่นยำ ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับ จะนำไปสู่การติดตามเด็กอย่างเป็นระบบ

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า เด็ก 17,000 คน ที่ยังหลุดจากระบบการศึกษา จากการลงพื้นที่ติดตาม พบว่า เด็กเหล่านี้เมื่อหลุดจากระบบการศึกษาแล้ว แทบไม่มีโอกาสกลับมาเรียน จากที่ลงพื้นที่ จ.ราชบุรี ขอนแก่น พิษณุโลก ยะลา และกรุงเทพฯ ไปติดตามเด็ก 170 คน พบว่า ส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะออกมาทำมาหากิน หรือแอบอยู่ในมุมมืดของชุมชนแออัด เช่น อยู่ตามสี่แยกไฟแดง ขายของ ขายพวงมาลัย หรืออยู่ที่ตลาดเพราะพ่อแม่พาลูกไปขอทาน หรืออยู่ในวัดเพราะพ่อแม่นำลูกไปฝากไว้กับวัด หรืออยู่ในสถานที่ก่อสร้าง และชุมชน เป็นต้น

จากการติดตามเด็ก 170 คน พบว่า เด็ก 91 คน หรือ 53.93% ไม่เคยได้รับทุกการศึกษา ทั้งนี้ ยังพบลักษณะร่วมของเด็กเหล่านี้ คือยากจนเงียบเชียบ คือพูดน้อย เสียงเบา ถามคำ ตอบคำ แต่น้ำตาจะคลอเบ้า และถ้าเจอคำถามหนักๆ จะร้องไห้ แต่ส่วนใหญ่ที่พบเด็กเหล่านี้จะเป็นเด็กดี ใฝ่ดี และเรียนหนังสือ เด็กเสียสละเพราะต้องออกมาทำงานหาเงินช่วยพ่อแม่

“สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรค คือเมื่อเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา กลับมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อย่างในกรุงเทพฯ เฉลี่ยเด็กมีค่าใช้จ่าย 37,257บาท และในต่างจังหวัด เฉลี่ยเด็กมีค่าใช้จ่าย 17,832 บาท ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่มีเงินอยู่แล้ว อีกทั้ง เด็กยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น 63.4% พ่อแม่มีรายได้ลดลง อุปการะไม่ไหว 53% ครอบครัวหย่าร้าง อยู่กับปู่ย่าตายายจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาเศรษฐกิจ และรายได้ และปัญหาครอบครัวที่เด็กพบเจอ ทำให้เด็กถูกละเลยจำนวนมาก

จะเห็นว่าเด็ก 17,000 คน มีปัญหาเดียวกัน ทำให้โอกาสที่จะกลับมาเรียนแทบเป็นศูนย์ สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำ คือต้องเตรียมโรงเรียน เตรียมครู และผู้บริหาร ให้ลงพื้นที่ติดตามเด็กแบบเข้มแข็ง โดยแต่ละโรงเรียนต้องมีครูคอยช่วยเหลือเด็ก ทั้งช่วยแก้ 0 ช่วยหาทุนการศึกษา ช่วยกันหาอาชีพให้พ่อแม่ และเด็กด้วย” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า แม้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามเด็กมาเรียนได้มากกว่า 200,000 คนแล้ว แต่ต้องหามาตรการช่วยเหลือไม่ให้เด็กเหล่านี้ออกจากระบบอีก เพราะจากการศึกษา พบว่าในจำนวน 200,000 คน มีเด็กประมาณ 50% ที่มีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำสอง ดังนั้น ศธ.ต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อบูรณาการ ส่งต่อ ช่วยเหลือเด็กอย่างครอบคลุมที่สุด