ศาลเยาวชน MOU อาชีวะ นำเด็กในกระบวนการศาลฯ เข้าสู่ระบบการศึกษา

ศาลเยาวชน MOU อาชีวะ

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง MOU สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ขยายโอกาสให้เยาวชนที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฯ เข้าสู่ระบบการศึกษา

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกัน เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวได้เข้าสู่ระบบการศึกษาด้านอาชีวศึกษา

“เพราะเราตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและอาชีพ โดยเชื่อว่าเมื่อเด็กและเยาวชนมีการศึกษาที่ดี มีอาชีพที่ดี จะสามารถลดการกระทำผิดซ้ำได้ และพบว่าเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการของศาลเยาวชนและครอบครัว ภายหลังกระทำผิดอาญามักจะหลุดลอยจากระบบการศึกษาหรือมีปัญหาในการกลับเข้าเรียนหลายประการ เช่น โตเกินวัย หรือบ้านมีฐานะยากจน หรือหากจะกลับเข้าเรียนต้องกลับไปเริ่มสมัครเรียนใหม่ ดังนั้น เพื่อเป็นการให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับและขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนได้เลือกเรียนตามความสนใจ จึงต้องร่วมมือกับหลายฝ่าย”

นายประกอบ กล่าวต่อว่าสำหรับการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีเจตนาร่วมกันที่จะให้โอกาสเยาวชนของศาลเยาวชนและครอบครัว ทั่วประเทศได้เข้าเรียนสถานศึกษาในสังกัด สอศ.โดยไม่ต้องทดสอบความรู้ เลือกเรียนในสถานศึกษาเดิม หรือเปลี่ยนสถานศึกษาใหม่ และเทียบโอนผลการเรียน หรือเข้าเรียนในโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพก็ได้ เป็นการเพิ่มทางเลือกทางการศึกษาให้แก่เยาวชน เมื่อมีการศึกษาก็จะทำให้เยาวชนมีอนาคตที่ดีและกลับตน เป็นพลเมืองดีของชาติ ไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ

ทั้งนี้จะร่วมกันวางแผนในการส่งเสริมโอกาสให้แก่เยาวชนทุกคน ให้ได้รับการพัฒนาทักษะความรู้และความสามารถด้านวิชาชีพ พร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยการคัดเลือกเยาวชนที่มีคุณสมบัติเข้ารับการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับเด็กและเยาวชน และติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการดำเนินความร่วมมือกับ สอศ.ตลอดจนช่วยเหลือในทุกด้านแก่เด็กและเยาวชนที่ส่งเข้าศึกษาเพื่อให้บรรลุผลต่อไป

ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ.ให้ความสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาที่ให้ความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังโครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อการแก้ปัญหาเชิงรุกสำหรับเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา คืนโอกาส สร้างอนาคตให้เด็ก และแก้ปัญหาระยะยาวให้ประเทศ

ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ มีระยะเวลา 5 ปี ถือเป็นเรื่องสำคัญในการสร้าง และขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลเยาวชน และครอบครัวให้เข้าสู่ระบบการศึกษา ให้ได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพ สามารถรับผิดชอบดูแลตนเองได้ และจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ พร้อมเป็นกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเด็กและเยาวชนที่ได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ ด้านวิชาชีพ จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ