เขตเศรษฐกิจชายแดนซบสนิท ไทยซัมมิทพับลงทุน “สระแก้ว”-

BOI ขยายส่งเสริมลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน SEZ ไปอีก 2 ปี ยอดนักลงทุนไม่กระเตื้อง ติดขัดสารพัดปัญหา มุกดาหารแทบร้าง นักลงทุนไม่สนใจ “สหพัฒน์” หนีไปเมียนมา “ไทยซัมมิท” พับแผนโรงงานที่สระแก้ว เอกชนยื้อลงทุนตราดขอสิทธิประโยชน์เพิ่มเพียบ

การทุ่มเทของภาครัฐไปยังระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สวนทางเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัดชายแดน หรือ SEZ ที่กำลังถูกหลงลืมไป เนื่องจากประสบปัญหานานาประการ ทั้งจากนโยบายที่ไม่มีความต่อเนื่อง ไปจนถึงวิธีปฏิบัติในพื้นที่ สะท้อนออกมาให้เห็นถึงความสนใจของภาคเอกชนที่มีต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ ในบางเขตแทบไม่มีความคืบหน้าแต่เพื่อคงนโยบายของรัฐในเขต SEZ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงขยายเวลาส่งเสริมการลงทุนในเขต SEZ ออกไปอีก

ยอดลงทุน SEZ ลดต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครั้งล่าสุดได้ขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัด(ตาก-ตราด-มุกดาหาร-สระแก้ว-สงขลา-เชียงราย-หนองคาย-นครพนม-กาญจนบุรี-นราธิวาส) ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดการขอรับส่งเสริมในวันที่ 30 ธันวาคม 2561 ไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดย BOI ได้ให้เหตุผลของการขยายเวลาส่งเสริมออกไปว่า “มีนักลงทุนหลายรายกำลังจะเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ในหลายเขตของ SEZ”

ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้สรุปการลงทุนในพื้นที่ SEZ ปี 2559 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 37 โครงการ เงินลงทุน 8,462 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 25 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 5,505 ล้านบาท ในประเภทกิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม, กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์, กิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ, เครื่องจักร, ชิ้นส่วนเครื่องจักร/ชิ้นส่วนยานยนต์, กิจการผลิตวัสดุก่อสร้างสำหรับงานสาธารณูปโภค และกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ปี 2560 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมลงทุน 10 โครงการ เงินลงทุน 377 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้รับอนุมัติลงทุน จำนวน 15 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 2,628 ล้านบาท ในประเภทกิจการผลิตถุงมือสำหรับตรวจโรค, กิจการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ, กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์, กิจการผลิตน้ำยางข้น, กิจการผลิตกระเป๋าหรือรองเท้า หรือผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์หรือหนังเทียม, กิจการผลิตเครื่องนุ่งห่ม/เครื่องประกอบการแต่งกาย และเคหะสิ่งทอ

ส่วนปีล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2561 มีการอนุมัติเพียง 2 โครงการ เงินลงทุนแค่ 58 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน กับจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ลดลงต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ส.อ.ท.บอก SEZ ผิดเพี้ยน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ว่า การดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมามีกลไกและเจ้าภาพค่อนข้างมาก “ผมเห็นใจกับการทำงานของรัฐ” แต่ผลที่ได้ ยกตัวอย่าง กรณีการเปิดด่านชายแดนบางด่านยังคงติดปัญหาเรื่องของป่าไม้ บางด่านเสร็จแล้ว แต่ถนนไปไม่ได้ เมื่อไม่มีความเด็ดขาดจึงลำบากเวลาจะผลักดันให้ SEZ เดินหน้าต่อไป

“ผมรู้ว่ารัฐบาลอยากเปิดเขต SEZ ให้เร็วขึ้น จึงมีหลายออปชั่น แต่สุดท้ายติดปัญหาที่ดิน-ที่ป่าบ้าง กลไกการแก้กฎหมายกว่ากระทรวงจะร่าง กว่าจะเข้ากฤษฎีกา ผ่าน สนช. กว่าจะออกมาผิดเพี้ยนไปหมด เทียบกับจีนที่สร้างเมืองเสิ่นเจิ้น ได้ง่ายและเร็ว นั่นเพราะเขามีวิธีทำงานที่ค่อย ๆ ไล่เปิด โครงสร้างที่มีอิสระพอสมควรในระดับท้องถิ่น ในขณะที่ไทยโครงสร้างไปอยู่ศูนย์อำนาจส่วนกลางหมด ในท้องถิ่นจึงไม่สามารถดำเนินการกับ SEZ ได้” นายสุพันธุ์กล่าว

มุกดาหารมีแต่ความเงียบ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงสำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ในหลายจังหวัดพบว่า มีปัญหาจัดหาที่ดินไม่ได้ตามแผน บางจังหวัดเปิดประมูลไปหลายรอบแล้วก็ยังหาเอกชนมาลงทุนไม่ได้ ขณะที่บางจังหวัดแม้เอกชนเซ็นสัญญาลงทุนไปแล้ว แต่ก็ติดปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้

นายสมศักดิ์ สีบุญเรือง เลขาธิการหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารได้เปิดประมูลมาแล้ว 2 รอบ แต่ยังไม่ได้เอกชนเข้ามาลงทุน เพราะ “ยังไม่มีใครสนใจยื่นซองประมูล และมีเอกชนที่ไม่ผ่านเงื่อนไข” เหตุผลที่ไม่มีคนมาลงทุนก็เพราะ รัฐบาลประกาศให้สิทธิประโยชน์และสิทธิพิเศษในการลงทุน EEC “มากกว่า” เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เช่น การเช่าที่ดิน 50+49 ปี รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 5 ประเภทที่ประกาศออกไป ยังไม่ตอบโจทย์นักลงทุน โดยจังหวัดมีแนวคิดที่จะเสนอ กรอ.ให้ขยายอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็น 13 ประเภท ก่อนจะเปิดประมูลหาผู้ลงทุนในรอบที่ 3 ต่อไป

“นักธุรกิจในพื้นที่มองว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร 1,080 ไร่หากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายอาจคุ้ม ถ้าทำเป็นโกดังสินค้าส่งออก เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมุ่งเน้นอุตสาหกรรมสีเขียว ดังนั้นพื้นที่กว่า 30-40% จะต้องถูกนำไปทำบ่อบำบัดน้ำเสีย พื้นที่สีเขียว พื้นที่ส่วนกลาง และถนนต่าง ๆ ทำให้เหลือพื้นที่ในการพัฒนา 700 ไร่เท่านั้น”

สหพัฒน์หนีไปเมียนมา

นายสุชาติ ลายลักษณ์ศิริ กรรมการบริหาร บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายแฟชั่น (แอร์โรว์-กี ลาโรช) กล่าวว่า กลุ่มสหพัฒน์ได้ตัดสินใจเข้าไปลงทุนตั้งฐานผลิตและโรงงานต่าง ๆ ในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงงานมาม่าที่ย่างกุ้ง โรงงานวาโก้ที่นิคมอุตสาหกรรมติละวา ล่าสุดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทธนูลักษณ์และวาโก้ก็เข้าไปลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่มในรัฐกะเหรี่ยง ที่เมืองพะอาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอดมากนัก “โรงงานของเราทั้ง 2 โรงที่เมือง
พะอาน อยู่ใกล้พื้นที่ของสหพัฒน์ในสวนอุตสาหกรรมที่แม่สอด”

ส่วน ดร.สาโรจน์ วสุวานิช รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยซัมมิทฮาร์เนส ผู้ผลิตอุปกรณ์สายไฟสำหรับยานยนต์ ในเครือไทยซัมมิทกรุ๊ป กล่าวว่าไทยซัมมิทได้ยกเลิกแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนสายไฟสำหรับยานยนต์ มูลค่าประมาณ 300 กว่าล้านบาท ในนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ซึ่งเป็นโครงการในเขต SEZ แล้ว เมื่อช่วงต้นปี 2561 โดยบริษัทยอมให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยึดเงินจำนวน 200,000 บาท ที่ได้จ่ายในการทำสัญญาเช่าจองพื้นที่ประมาณ 23 ไร่ไป เนื่องจากความล่าช้าในการบริหารจัดการพื้นที่ในยุคเริ่มต้น ประกอบกับปัญหาค่าแรงที่ปรับขึ้นใหม่

“ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลรณรงค์เขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็พยายามกระทุ้งให้ไทยซัมมิทไปลงทุนนำร่อง เราเตรียมแผนงานจะไปลงทุนก่อสร้างช่วงปลายปี 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 ผลิตสินค้าป้อนให้กับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ สุดท้ายเขต SEZ มันก็ยังไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย ไม่มีที่ดิน ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จนเมื่อ กนอ.เข้าไปจัดการ แต่ในพื้นที่ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเท่าที่ควร” ดร.สาโรจน์กล่าว

ตราดขอเพิ่มสิทธิเท่า EEC

ส่วนกรณีบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ที่ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุในเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ ตราด กับกรมธนารักษ์ โดยเสนอโครงการ GOLDEN GATEWAY ให้ตราดกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวนานาชาติ-เมืองอาหารปลอดภัย และเมืองบริการการค้าระหว่างประเทศครบวงจร มูลค่าลงทุน 3,001 ล้านบาทนั้น ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า บริษัทได้ยื่นข้อเสนอขอปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ECC) โดยขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ด้วยการ 1) ขอขยายเวลาสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 10 จากระยะเวลา 10 ปี เป็น 20 ปี หรือปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 0 ในระยะ 10 ปีแรก 2) ขอสิทธิพิจารณาเป็นรายแรกในการต่อ-ปฏิเสธสัญญาเช่าระยะยาวในพื้นที่ทั้งหมดนี้อีก 50 ปี 3) ขอยกเลิกเงื่อนไขสิ้นสุดการเช่า ข้อ 19 ที่ต้องรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและปรับสภาพดิน ภายใน 30 วัน 4) ขอรับสิทธิในการสนับสนุนการก่อสร้างสนามบินนานาชาติ หรือท่าเทียบเรือท่องเที่ยวแห่งใหม่ 5) ขอผ่อนผันค่าเช่าที่ดิน โครงการศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนศูนย์ราชการ สวนชุมชนและอ่างเก็บน้ำ รวมพื้นที่ 91 ไร่ อัตราค่าเช่า464 ล้านบาทใหม่ และ 6) ขอการสนับสนุนสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการ เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปาเขตไฟเบอร์ออปติก
ระบบการกำจัดขยะ และการวางผังเมืองให้สอดคล้องกับแนวพัฒนาโครงการ

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”