จำชื่อไว้… สมุนไพรที่คนเป็นโรคไตต้องเลี่ยง-

สมุนไพรตามธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใช้รักษาโรคมาแต่โบราณกาล ด้วยองค์ความรู้ที่สืบทอดมา บวกกับการศึกษาวิจัย บวกกับความเชื่อที่ว่าสมุนไพรตามธรรมชาติเป็นยาดี และไม่มีสารตกค้างเหมือนยาทางการแพทย์สมัยใหม่ รวมถึงในบางกรณีที่พึ่งพาการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่แล้วไม่เป็นผล จึงหันไปพึ่งพายาสมุนไพรเพื่อเป็นอีกความหวังหนึ่งในการพิชิตโรค

ด้วยเหตุผลต่าง ๆ มากมาย ทำให้ยาสมุนไพรยังได้รับความนิยมอยู่เสมอ แต่ไม่ว่าจะเป็นยาสมัยใหม่หรือสมุนไพรก็มีทั้งคุณและโทษ หากใช้ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ซึ่งโรคหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาจากการใช้สมุนไพรก็คือ โรคไต

ในงานเสวนาวิชาการ “เรื่องควรรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพร กับโรคไต” โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ผศ.พญ.สุภินดา ศิริลักษณ์ แพทย์อายุรกรรมโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากเป็นโรคไต ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไต ได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น และโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิต และพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและความดันที่ใช้ยาหม้อ ยาชุด ยาต้ม ยาลูกกลอน มีโอกาสเป็นโรคไตสูงกว่าคนที่ไม่ใช้ยาเหล่านี้ ส่วนในคนปกติถ้าทานสมุนไพรในปริมาณที่พอเหมาะจะเป็นการรักษาร่างกาย แต่ถ้าใช้มากไปก็เสี่ยงจะเป็นโรคไตเช่นกัน

ผศ.พญ.สุภินดาชี้ให้เห็นปัญหาว่าปัจจุบันมีคนใช้ยาสมุนไพรกันเยอะ เพราะคำโฆษณาที่อธิบายสรรพคุณเกินจริง และมีราคาถูก จึงจูงใจให้ซื้อมารับประทาน แต่เมื่อทานยาสมุนไพรเข้าไปมาก ๆ อาจเกิดปัญหาเจ็บป่วยตามมา เนื่องจากหลายสาเหตุ สรุปได้ดังนี้

1.การที่ร่างกายได้รับสมุนไพรเข้าไปในปริมาณมาก ทำให้ไตไม่สามารถขับสมุนไพรออกมาได้หมด นำไปสู่การไตวายได้

2.เรื่องมาตรฐานการใช้และความสะอาด เนื่องจากยาสมุนไพรที่ขายตามตลาดนั้นไม่ได้มาตรฐานทั้งในเรื่องการจัดเก็บ บรรจุภัณฑ์ ไม่ระบุวันผลิต ไม่ระบุวันหมดอายุ ไม่มีทะเบียนยา จึงทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถใช้สมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งบางกรณีที่มีสารปนเปื้อน เมื่อผู้บริโภคได้รับสารสะสมในร่างกายมาก ๆ ก็จะเกิดโรคตามมา

3.การใช้สมุนไพรผิดชนิด ถ้าไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้มากพอ ใช้สมุนไพรผิดจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น สมุนไพรบางตัวที่กินเพื่อให้ปัสสาวะ แต่ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้ปัสสาวะทั้งวัน และทำให้เกิดผลเสียต่อไต

4.สมุนไพรบางตัวมีผลต่อยาแพทย์แผนปัจจุบันที่คนไข้กิน เช่น ถ้ากินยาสมุนไพรคู่กับยาแอสไพรินจะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น อาจจะมีเลือดออก

5.สมุนไพรบางตัวไม่ส่งผลกระทบต่อคนปกติ แต่จะส่งผลกระทบต่อคนที่เป็นโรคไต

ผศ.พญ.สุภินดาแนะนำว่า สมุนไพรที่คนเป็นโรคไตต้องหลีกเลี่ยง และคนทั่วไปต้องกินอย่างระวัง เพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคไต ได้แก่

1.สมุนไพรในตระกูล Aristolochia มีความสัมพันธ์ทำให้เกิดโรคไตวาย และทำให้เกิดมะเร็งทางเดินปัสสาวะ

2.ไคร้เครือ มีสรรพคุณคือลดไข้ ใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันไคร้เครือถูกถอดออกจากตำรับยาแล้ว 10 ตำรับ หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งว่ามีผลต่อโรคไตและมะเร็งทางเดินปัสสาวะ ถ้าใครกินยาสมุนไพรที่เป็นตำรับต้องดูด้วยว่าตัดไคร้เครือออกแล้วหรือยัง

3.มะเฟือง คนจีน คนฮ่องกง กินเพื่อขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ซึ่งการกินมะเฟืองสดไม่มีปัญหา แต่ถ้ากินเป็นน้ำหรือกินแทนน้ำจะทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน เพราะในมะเฟืองมีออกซาเลต (oxalate) ถ้าปั่นเป็นน้ำกินมากเกินไปทำให้ตกตะกอนเป็นนิ่วที่ไต ทำให้ไตวายเฉียบพลัน รวมถึงตะลิงปลิง เป็นผลไม้ในกลุ่มมะเฟือง ซึ่งมีฤทธิ์ให้เกิดอาการคล้าย ๆ กัน

4.แครนเบอรี่ ถ้ากินในปริมาณที่มากเกิน ความเข้มข้นมากเกินจะทำให้เกิดนิ่วในไต

5.ปอกะบิด คนไข้เอาไปต้มกินลดความอ้วน ลดน้ำตาลในเลือด บางคนต้มกินแทนน้ำนาน 6 เดือน ก่อให้เกิดโรคไต มีพังผืด ต้องฟอกเลือด หลังจากหยุดกินไตก็กลับมาปกติ แต่ไม่ดีเท่าเดิม

6.ลูกเนียง คนภาคใต้นิยมกินกับแกงเหลือง แกงไตปลา ซึ่งคนปกติกินแล้วไม่มีปัญหา แต่บางกรณีในเพศชายกินแล้วเกิดอาการปัสสาวะเป็นเลือดและเป็นนิ่วที่ไต

“คนรักสุขภาพบางคนกินน้ำปั่นที่มีออกซาเลต บางคนทั้งวันกินแต่น้ำปั่น ไม่กินข้าว เพราะคิดว่าจะทำให้สุขภาพดี ผักผลไม้บางอย่างมีออกซาเลตเยอะ ถ้ากินทั้งวันทำให้เกิดไตวายได้ ต้องระวังพอประมาณ ไม่ควรปั่นผักที่มีออกซาเลตสูง เช่น ผักแพว ผักปวยเล้ง ใบชะพลู ชาสมุนไพรมีออกซาเลตช่วยบำรุงร่างกาย แต่กินมากไปก็เป็นไตวายได้ สมุนไพรบางอย่างมีโพแทสเซียมสูง คนไข้โรคไตนั้นการขับโพแทสเซียมไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ถ้ากินโพแทสซียมเข้าไปมาก เช่น น้ำลูกยอที่มีโพแทสเซียมจะมีโอกาสทำให้หัวใจหยุดเต้นได้” คุณหมอเตือน

การกินยาแผนปัจจุบันก็ต้องกินตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกร ดังนั้น การกินยาสมุนไพรก็ควรปรึกษาแพทย์แผนไทย หรือหมอยาผู้มีประสบการณ์เชี่ยวชาญจริง ๆ เพราะถ้ากินมั่ว ๆ ไม่ว่ายาแผนไหนก็ทำร้ายร่างกายได้เหมือนกัน

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”