บีโอไอปักธงลงทุนตลาดใหม่ 5 ประเทศ-

นายอรรจน์สิทธิ สร้อยทอง นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการเพิ่มโอกาสการขยายการลงทุนของนักธุรกิจไทยไปต่างประเทศว่า ในปีนี้ BOI ได้ทำการศึกษา “ตลาดใหม่” ใน 5 ประเทศด้วยกัน คือ บังกลาเทศ, อิหร่าน, อินเดีย, ซูดาน และเคนยา

สำหรับประเทศแรกก็คือ บังกลาเทศ มีจุดเด่นก็คือ ทรัพยากรมนุษย์มากและอัตราค่าจ้างไม่สูง มีทรัพยากรทางทะเล ท่าเรือดี เหมาะกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (labor intensive) และภาคบริการ แต่บังกลาเทศมีปัญหาเรื่องขาดแคลนที่ดิน ระบบไฟฟ้า การขนส่งภายในยังไม่ค่อยดี มาตรการกฎระเบียบขั้นตอนการลงทุนมีความลักลั่นภาษีสูง ระบบกฎหมายเป็นแบบจารีตซึ่งไทยไม่คุ้นชิน ระยะเวลาของสิทธิประโยชน์น้อย ทำให้การลงทุนในบังกลาเทศแบบ greenfield ไม่ง่ายนัก

ส่วนอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและมีความต้องการ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องจักร-เครื่องใช้ไฟฟ้า-พลังงาน-ฝ้าย/สิ่งทอ โดยรัฐบาลส่งเสริมสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน การสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ การผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้น การลงทุนของไทยในบังกลาเทศจึงเหมาะเป็นการ “ร่วมทุน” ระยะแรกก่อนที่จะขยับขยายลู่ทางในการลงทุนแบบ greenfield

อิหร่าน มีจุดเด่นอยู่ที่ขนาดของเศรษฐกิจใหญ่พอสมควร มีทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมัน เหมืองแร่ ทรัพยากรทางทะเล และทะเลสาบ แหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตร อิหร่านยังสามารถผลิตสินค้าต่าง ๆ ได้ครบวงจรตลอดห่วงโซ่มูลค่าในหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากนโยบายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าในอดีต โดยอิหร่านต้องการอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ และอุตสาหกรรมที่ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเดิม ขณะที่อิหร่านเองส่งเสริมเกษตร เหมืองแร่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สำหรับการลงทุนไทย อิหร่านจึงเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าจับตาและตระเตรียมความพร้อมอย่างใกล้ชิดเพื่อลงทุนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

อินเดีย เฉพาะ North East Region (NER) ด้วยจากเป็นรัฐที่เพิ่งเปิดตัวสู่โลกภายนอกจึงยังมีความไม่พร้อมในหลายด้าน ขนาดตลาด/เศรษฐกิจของรัฐที่ไม่ใหญ่นัก อัตราภาษีที่ค่อนข้างสูง ขาดหน่วยงานที่เป็น one stop service และเหตุความไม่สงบในพื้นที่ อินเดียจึงพยายามดึงดูดการลงทุนอย่างเต็มที่

ผู้ประกอบการที่มีการใช้เทคโนโลยีไม่สูง นับเป็นช่องทางที่นักลงทุนไทยจะสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนจับคู่ธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีเป็นจุดแข็งได้ ใช้ NER เป็นฐานการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่งออกไปยังตลาดรอบ ๆ โดยช่วงแรกควรเป็นการทดลองตลาด การผลิต และสร้างความเชื่อมั่นระหว่างไทยกับผู้ประกอบการ แล้วจึงค่อยขยายออกไปเป็นการผลิตขายยังตลาดที่ใหญ่กว่า ในสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค ยา เวชภัณฑ์ บริการพื้นฐาน (ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ) และอุตสาหกรรมที่เกิดการจ้างงาน

เคนยา จุดเด่นก็คือ มาตรการทางภาษี (Tax Holiday) มีการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศผ่านมาตรการกีดกันทางภาษีและไม่ใช่ภาษี มีขนาดตลาดที่เล็ก รายได้ต่อหัวที่ต่ำกว่าไทยด้วย ดังนั้น การลงทุนของไทยควรใช้เคนยาเป็นฐาน (platform) เพื่อขยายการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่นอุตสาหกรรมที่ต้องการ ได้แก่ พลังงาน เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยา เวชภัณฑ์ อาหาร ก่อสร้าง อาหารสุขภาพ กาแฟ

ซูดาน มีทรัพยากรล้นเหลือทั้งน้ำมัน ทองคำ พื้นที่ทำการเกษตร ประมงน้ำจืด ประมง ปัจจุบันเศรษฐกิจซูดานมีปัญหามากพอสมควร มีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กโตน้อยและมีรายได้ต่อหัวต่ำ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติเต็มที่ทั้งการให้ต่างชาติถือครองกิจการได้ 100% การเก็บภาษีที่ไม่สูงและต้องการการลงทุนในทุก ๆ อุตสาหกรรม และสนใจไทยเป็นพิเศษในเรื่องของการเกษตร-ท่องเที่ยว-สุขภาพ และการกลั่นน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 กันยายนนี้ BOI เตรียมจัดงานสัมมนาและนำเสนอผลการศึกษา “โอกาสการลงทุนไทยในสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน-เคนยา-ซูดาน-อินเดีย และบังกลาเทศ” ภายในงานจะมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจในประเทศเป้าหมายทั้ง 5 ประเทศ

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”