ลุ้นเลือกตั้งดันหุ้น 1,800 จุด “วิกฤตค่าเงิน” ไม่ลามหนัก-

นักวิเคราะห์คาดแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี’61 ทะยานแตะกว่า 1,800 จุด “บล.เคทีบี” ชี้ปัจจัยบวก “เลือกตั้งชัด-ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตดีขึ้น” ขณะที่ “สงครามการค้า-วิกฤตค่าเงินประเทศเกิดใหม่” สร้างความผันผวน ฟาก บล.กสิกรไทยเชื่อสงครามการค้าผ่อนคลายปลายปี-กนง.ตรึงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี ลุ้น 13-14 ก.ย.นี้รู้วันเลือกตั้งชัด ผู้จัดการ ตลท.เชื่อวิกฤตค่าเงินกระทบตลาดหุ้นไทยไม่แรง

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมองเป้าดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2561 นี้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,800-1,845 จุด โดยภาพรวมตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังจะมีทิศทางดีกว่าครึ่งปีแรก หลังเห็นสัญญาณการเลือกตั้งไทยที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีการเร่งลงทุนและใช้จ่ายก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันดัชนี บวกกับเศรษฐกิจและการใช้จ่ายผู้บริโภคที่เริ่มมีการขยายตัว รวมถึงภาคเอกชนที่มีการใช้จ่ายมากขึ้น จะเป็นแรงหนุนให้ดัชนีมีโอกาสปรับตัวและมีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยได้

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยอาจยังต้องเผชิญกับความผันผวนอยู่บ้าง โดยเฉพาะกรณีข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ฉุดให้ปริมาณการค้าโลกปรับลดระดับลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) เนื่องจากมีการส่งออกค่อนข้างมาก ซึ่งไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากยอดส่งออกไปยังสหรัฐในเดือน ก.ค. 2561 หดตัว -1.9% เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 9 เดือน

ส่วนผลกระทบเงินไหลออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลต่อค่าเงิน และนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในประเทศเหล่านั้น จึงเห็นเงินไหลออกและการขายหุ้นทิ้งออกมา ดังนั้น ตราบใดที่สงครามการค้ายังไม่ยุติ ปัญหาดังกล่าวก็จะยังไม่ยุติเช่นกัน โดยประเมินว่าไตรมาส 4 นี้ตลาดหุ้นไทยอาจจะเจอผลกระทบเหล่านี้บ้าง แต่ปิดตลาดสิ้นปีน่าจะดีกว่าไตรมาส 3 เนื่องจากไตรมาสสุดท้ายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดโลกจะคลายตัวลง และจะเริ่มเห็นฟันด์โฟลว์ทยอยไหลกลับเข้ามาอย่างเร็วภายในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ จากที่ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิราว 205,380 ล้านบาท เทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน

“เม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นที่ส่วนใหญ่ปรับลดลง มีส่วนมาจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในระดับ 3-4% เป็นปีแรก หรืออยู่ที่ 2-3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และเผอิญเป็นปีที่ลดลงมากกว่าปกติ เนื่องจากตลาดได้รับความเสี่ยงเข้ามาหลายปัจจัย ฉะนั้น ฟันด์โฟลว์ที่มาจากต่างประเทศเชื่อว่ายังไม่ได้เข้ามาในเวลาอันใกล้นี้” นายมงคลกล่าว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบที่กลุ่มประเทศเกิดใหม่กำลังเผชิญวิกฤตค่าเงินจนกระทบเศรษฐกิจภาพรวมอาจจะลุกลามกระทบไปทั้งภูมิภาค แต่มองว่าสำหรับประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบต่ำที่สุด เพราะไทยมีส่วนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงสามารถช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยได้

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มที่ดี ทำให้บริษัทยังคงเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,805 จุด เพราะมองว่าเศรษฐกิจในประเทศแข็งแกร่ง ขณะที่สงครามการค้าสหรัฐกับจีนคาดว่าจะผ่อนคลายมากขึ้น โดยคาดว่าจะทยอยเก็บภาษีทีละลอต ทำให้ตลาดคาดหวังว่าอาจมีการเจรจาเกิดขึ้นในการประชุมระหว่างสุดยอดผู้นำในเดือน พ.ย.นี้ และมีการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ซึ่งอาจจะลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยได้

นอกจากนี้ ยังมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงสิ้นปี 2561 จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ระดับต่ำเพียง 0.7% ขณะที่ในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย.นี้ ต้องติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งที่อยู่ระหว่างรอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้โดยคาดว่ากรอบระยะเวลาการเลือกตั้งจะอยู่ช่วงวันที่ 24 ก.พ.-5 พ.ค. 2562 อย่างไรก็ดี หากการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นตามที่คาด ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็จะปรับตัวลดลงกว่า 88 จุดจากเป้าหมาย

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามการค้าที่ดูไม่สิ้นสุด และกระแสเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ คือ ตุรกี อาร์เจนตินา และอินโดนีเซีย ส่วนไทยพื้นฐานเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ต้องจับตาการเลือกตั้ง หากชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 หรือ 2 ปีหน้า จะทำให้ตลาดหุ้นปลายปีนี้มีทิศทางดีขึ้น

“กบข.ลงทุนหุ้นระยะกลางและยาว โดยจัดน้ำหนักลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันสัดส่วนในหุ้นไทยแค่ 8% ซึ่งคาดว่าภาพรวมผลตอบแทน กบข.สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2-3%” นายวิทัยกล่าว

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”