5 พรรคติดอาวุธโซเชียล ท้ากฎเหล็ก คสช.ล็อกหาเสียงเลือกตั้ง-

รายงานพิเศษ

ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวกระโดด พลิกโฉมการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการในรอบ 8 ปี ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

สื่อโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูบ เข้าถึงมือโหวตเตอร์ได้เพียงแค่ปลายนิ้ว พรรคการเมืองไหนยังจมอยู่ในโลกแอนะล็อกอาจตกขบวน

โดยเฉพาะเสียงจากคนชั้นกลาง-คนรุ่นใหม่ที่ตีออกมาเป็นคะแนนเสียงหลายล้านคะแนน

จนทำให้หนึ่งในปัจจัยที่จะชี้ขาดสงครามเลือกตั้งในปี 2562

ฝ่ายผู้มีอำนาจที่คุมกฎการเลือกตั้งอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยังไม่ออกปากรับคำอย่างเป็นทางการว่าจะกระโดดเข้าร่วมวงการเมืองในอนาคต ย่อมรู้พิษสงจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างดี

มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มือกฎหมายระดับพญาครุฑ ของ คสช. กล่าวถึงความคิดของประชาชนกับการเมืองปัจจุบันว่า “ประชาชนเติบโตในตอนนี้ จะสังเกตได้จากโซเชียลมีเดีย และเขา judge โดยไม่รอฟังสื่อ สมัยก่อนสื่อเป็นตัวนำ บัดนี้สื่อตามโซเชียล แม้แต่ข่าวยังเอาจากโซเชียล และเมื่อคนดูสื่อน้อยลง ความคิดเห็นในสื่อก็จะน้อยลง ผมคิดว่าโลกมันเปลี่ยน ถ้าใครไม่เปลี่ยนมันถูกกลืนได้ที่เราคิดว่าเราเคยทำแบบนี้แล้วได้ผล มันอาจจะไม่ได้ผล”

คสช.จึงให้พรรคการเมืองใช้ช่องทางโซเชียลติดต่อสื่อสารกันภายในพรรคเท่านั้น ห้ามใช้เพื่อการหาเสียง ในคำสั่งที่ 13/2561 ในข้อ 6 ระบุว่า

“พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมืองของตนโดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้”

เปิดช่องให้นักการเมืองกระโจนมารุมถล่มว่า คสช.ตกยุค-ไม่ทันโลก

นักการเมืองรุมจวก คสช.ตกยุค

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตำหนิว่า ค่อนข้างฝืนธรรมชาติว่าอะไรคือการหาเสียง การเมืองเป็นเรื่องของการเอาความคิดความอ่านมา ถ้าการเมืองเป็นธุรการเรียกว่าซื้อเสียง แต่การเมืองเป็นเรื่องความคิดอุดมการณ์ แลกเปลี่ยนความคิด วิพากษ์วิจารณ์ โน้มน้าว พอทำแบบนี้ไม่ได้การเมืองก็กลายเป็นเรื่องอื่นไปหมด ไม่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตย

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะสร้างความสับสนและเปิดโอกาสให้มีการเลือกปฏิบัติทำนองเดียวกับการห้ามชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากคำว่า “หาเสียง” มีความหมายกว้างมาก ไม่มีการให้ความหมายใด ๆ ไว้ คำสั่งเช่นนี้จะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าเหตุ เป็นการทำตามอำเภอใจ

“วราวุธ ศิลปอาชา” แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า “พรรคต้องขอความชัดเจนจาก คสช.หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เร่งพิจารณาแนวทางให้พรรคปฏิบัติได้ เพราะโลกออนไลน์มีรายละเอียดซับซ้อน เช่น เฟซบุ๊กของพรรคการเมืองจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เปิดเป็นสาธารณะแล้วสื่อสารกับสมาชิกได้อย่างเดียว แม้แต่เว็บไซต์ของพรรคจะต้องทำอย่างไร ยังนึกไม่ออกจนปัญญาจริง ๆ เพราะการควบคุมโลกโซเชียลให้เป็นไปในทางปิดหรือไม่ใช่สาธารณะนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก”

ปชป.ฝ่าวงล้อมไซเบอร์ คสช.

แต่ท่ามกลางการถูกปิดกั้นพรรคการเมืองยังพยายามฝ่าวงล้อม คสช.โดยเปิดใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียสื่อสารกับประชาชนแทบจะทุกช่องทาง ต่อไปนี้คือช่องทางรุกของพรรคการเมืองต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย เริ่มจาก…พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีเคเบิลทีวีช่อง “BULE SKY” เป็น “กระบอกเสียง” ให้กับพรรคเป็นหลัก โดยมีรายการที่มี “อภิสิทธิ์” หัวหน้าพรรคเป็นแขกรับเชิญ มีพิธีกรคอยชงให้นายอภิสิทธิ์ตบ อาทิ รายการ “ต้องถาม” ทุกวันจันทร์ เวลา 09.30 น. ที่ลิงก์-ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก “Abhisit Vejjajiva” ที่มีผู้กดไลก์-ติดตามกว่า 2.2 ล้านคน และมีเพจอย่างเป็นทางการของพรรค “Democrat Party” ที่มีผู้กดไลก์-ติดตาม จำนวน 6.8 แสนคน

นอกจากนี้ ยังมี Application Line “@ MARK_ABHISIT” ไว้พูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ได้โดยตรง ซึ่งมีผู้ “แอดไลน์” จำนวน 11,546 แอ็กเคานต์ยูทูบ “TheDMPparty” มีผู้ subscribe จำนวน 6,062 แอ็กเคานต์ และทวิตเตอร์ Democrat Party of Thailand มียอดฟอลโลว์จำนวน 6.2 หมื่นฟอลโลเวอร์

พท.เน้นเพจบุคคล

พรรคเพื่อไทยเน้นให้นักการเมืองในสังกัดสื่อสารกับประชาชนโดยตรงผ่านทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งทีมยุทธศาสตร์พรรคได้ให้ ส.ส.เปิดแอ็กเคานต์เฟซบุ๊กไว้เป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนโดยตรงในช่วงที่ลงพื้นที่หาเสียงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม บรรดาแกนนำพรรคเขี้ยวลากดินในพรรค อย่างภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค-จาตุรนต์ ฉายแสง-วัฒนา เมืองสุข-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ฯลฯ ต่างใช้เฟซบุ๊กของตัวเอง ในการสื่อสารทางการเมืองกับประชาชน-ตอบโต้ คสช.อยู่แล้ว ทำให้เฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของพรรคที่ใช้ชื่อว่า “Pheuthaiparty” มียอดไลก์ 124,113 และยอดติดตาม 122,733 ขณะที่ ทวิตเตอร์ @PheuThaiParty มียอดฟอลโลว์อยู่ที่ 99,800 ฟอลโลเวอร์

อนาคตใหม่รุกทุกแพลตฟอร์ม

ด้านพรรคอนาคตใหม่ที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค ในฐานะดาวรุ่งวงการเมือง และครบครันไปด้วยการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ในการเข้าถึงกับฐานเสียง ดังนั้น “อนาคตใหม่” จึงมีช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากกว่าพรรคอื่น ๆ

เฟซบุ๊กมีชื่อเพจว่า The Future We Want มีผู้ติดตาม 6 หมื่นราย ขณะที่เพจของ “ธนาธร” Thanathorn Juangroongruangkit-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีผู้ติดตาม 1.1 แสนแอ็กเคานต์ ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับโหวตเตอร์ มีทั้งคอนเทนต์ความเคลื่อนไหวของพรรค และวิดีโอคอนเทนต์ เจาะกลุ่มโหวตเตอร์รุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน “ธนาธร” ยังใช้ทวิตเตอร์ @Thanathorn_FWP มียอดฟอลโลว์ 1.7 หมื่นฟอลโลเวอร์ พร้อมทั้งช่องทางยูทูบใช้ชื่อแอ็กเคานต์ว่า “พรรคอนาคตใหม่-The Future We Want” ไว้เผยแพร่คลิปของ “ธนาธร” ขณะลงพื้นที่

ธนาธรขยายความว่า ในเว็บไซต์ thefuturewewant.today ของพรรค จะมีการ “ปรับโฉม” ให้กลายเป็น mini amazon online store เพื่อหาสมาชิกพรรค เผยแพร่อุดมการณ์ และระดมทุนโดยขายสินค้าของพรรคในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะเริ่มต้นเดือนตุลาคม เบื้องต้นมี 30-40 สินค้า ซึ่งมาจากเครือข่ายที่สนับสนุนพรรค เหยือก แก้วน้ำ จะทำให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างพรรคกับผู้สนับสนุน

เสี่ยหนูผุด Ringside การเมือง

ด้านพรรคตัวแปรอย่างภูมิใจไทยของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ประกาศตัวเป็นมิตรกับทุกขั้ว รุกพื้นที่โซเชียลด้วยการเข็นเพจการเมืองที่ชื่อว่า “Ringside การเมือง” เปิดตัว 3 ม.ค. 2561 มีคนติดตามกว่า 36,000 คน อัพเนื้อหาประเภท “รายการ” สนทนาการเมือง มีพิธีกรผลัดเปลี่ยนมาดำเนินรายการ พร้อมทั้งมีวิดีโอคอนเทนต์เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของ “อนุทิน” และพรรคภูมิใจไทย เช่นเดียวกับหัวหน้าพรรคอื่น ๆ “อนุทิน” ก็มีแอ็กเคานต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anutin Charnvirakul ไว้โพสต์ความเคลื่อนไหว และเป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

“ลุงกำนัน” คนติดตามนับล้าน

ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย สปอนเซอร์ทางการเมืองของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นแบ็กอัพสำคัญ มีช่องทางโซเชียลมีเดียคือ “เฟซบุ๊ก” ที่ใช้ชื่อว่า @Actparty เผยแพร่กิจกรรมต่าง ๆ ของพรรค และของ “สุเทพ” มีผู้ติดตามราว 1 หมื่นคน

“กำนันสุเทพ” ยังมีเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นช่องทางในการสื่อสารถึงกลุ่มแฟนคลับ กปปส.เนื้อหาในเพจนอกจากอัพเดตความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของ “กำนันสุเทพ” แล้ว ยังมีการ “แชร์” เนื้อหาของพรรครวมพลังประชาชาติไทยในเพจนี้ด้วย ทั้งนี้ มีผู้ติดตามกว่า 2.6 ล้านคน

“บิ๊กตู่” ผุดสารพัดเพจดึงเรตติ้ง

ส่วนรัฐบาล-คสช.นอกจากวิทยุ-โทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่มี “พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั่ง “รักษาการ” คุมกรมประชาสัมพันธ์ และ “ช่อง 5” สื่อกองทัพบกแล้ว

“ฟรีทีวี-ดิจิทัล” ทุกช่อง รวมถึง “เคเบิล” บางรายการยังต้องพ่วงสัญญาณจากแม่ค่าย-ทางทีวีพูลเพื่อเกาะสัญญาณ “บังคับ” คือ 1.รายการเดินหน้าประเทศไทย ทุกเย็นวันจันทร์-วันพฤหัสฯ เวลา 18.00 น. และ 2.รายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทุกคืนวันศุกร์ เวลา 20.15 น.

นอกจากนี้ ยังมี “สื่อโซเชียล” ไว้เผยแพร่ผลงานรัฐบาล-ไลฟ์สดกิจกรรม “พล.อ.ประยุทธ์” เวลาลงพื้นที่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และประชุม “ครม.สัญจร” เดือนละ 1 ครั้ง ได้แก่

1.เพจ “สายตรงไทยนิยม สายตรงลุงตู่” มียอดกดถูกใจ-ติดตาม ราว 2 หมื่นคน

2.เพจ “ไทยคู่ฟ้า” ยอดกดถูกใจ-ติดตาม จำนวน 7.6 หมื่นคน

ล่าสุดรัฐบาลเปิดไลน์ใหม่ “ข่าวจริงประเทศไทย” หรือ “@realnewsthailand” เพื่อชี้แจงข่าวลือ-ข่าวป้ายสีรัฐบาล

นอกจากนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังมี “ทีมงานทำเนียบ” ทำสงครามโซเชียลตอบโต้ทางการเมืองกับนักการเมือง-พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม อาทิ เพจ “Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน” ยอดผู้ถูกใจ-ติดตาม 3.2 หมื่นคน เพจ “เปรี้ยง NEWS เพิ่มเสียงดังให้ความจริง” มียอดผู้กดไลก์-ติดตาม จำนวน 46,723 แอ็กเคานต์

แม้คำสั่ง 13/2561 ปิดล้อมไม่ให้พรรคการเมืองหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย

แต่ในโลกยุคการสื่อสารเชื่อมถึงกันเสี้ยววินาที โซเชียลจึงกลายเป็น “อาวุธ” การเมืองที่พรรคการเมืองพยายามใช้ฝ่าวงล้อมกฎเหล็ก คสช.

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”