“คนแก่” แซง “คนเกิด”

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

 

นักประชากรศาสตร์คาดว่า ปี 2564 สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574

พูดให้เห็นภาพคือ สังคมไทยจะมีประชากรผู้สูงวัย 20 คนต่อประชากร 100 คน หรือทุก 5 คนจะมีคนแก่ 1 คน

ความที่อัตราการเกิดลดลงเฉลี่ยปีละ 7 แสนคน ขณะที่ยุคสมัยใหม่เทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ส่งผลให้มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น

ความน่าห่วงนี้ รัฐไทย ผลักดันนโยบาย “สาวไทยแก้มแดง” สนับสนุนอัตราการเกิด เน้นกลุ่มที่พร้อมและต้องการมีบุตรก่อนผ่านการรณรงค์ส่งเสริมดูแลสุขภาพของสตรีเพื่อให้เป็นการเกิดที่มีคุณภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุขมองว่า ยังไม่มีนโยบายอื่นมากกว่านี้ เพราะจะไปเป็นการส่งเสริมกลุ่มที่ยังไม่พร้อมมีบุตร

ขณะที่ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนที่เป็นเพศหญิงและให้กำเนิดบุตร

ที่กล่าวมาคือความพยายามของรัฐที่ยังไม่ผลักดันกันขีดสุดด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ

ขณะที่มีโมเดลเพิ่มประชากรที่น่านำมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังนั้น เกิดในญี่ปุ่นที่ถือว่า เป็นประเทศเบอร์ต้นของโลกที่ประสบภาวะประชากรสูงวัยมีจำนวนมาก ส่งผลต่อการขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน โดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง ทั้งที่ประเทศต้องเตรียมการสู่การเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกปี 2020 แต่ปีนี้ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตขาดแคลนแรงงานรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี และต้องพึ่งพิงแรงงานจากผู้ลี้ภัยอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งยังไม่สามารถทดแทนแรงงานทั้งหมดในระบบได้ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองพยายามออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เกิดการเพิ่มประชากรเช่นกัน

ทั้งนี้ ที่เกริ่นถึงไอเดียน่าสนใจก่อนหน้านี้ มาจาก “ภาคเอกชนญี่ปุ่น” อย่างธนาคารในท้องถิ่น Gunma Bank ออกนโยบายมอบเงินให้พนักงานของธนาคาร 2 ล้านเยน หรือกว่า 6 แสนบาท ให้กับพนักงานที่มีครอบครัวและกำลังจะมีลูกคนที่ 4 ขึ้นไป โดยต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปี ส่วนครอบครัวพนักงานที่จะมีลูกคนที่ 3 และทำงานมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี จะได้รับ 1 ล้านเยน หรือ 3 แสนบาท ส่วนกลุ่มที่มีลูกคนที่สองได้ 2 แสนเยน หรือราว 6 หมื่นบาท

ผู้บริหารธนาคารท้องถิ่นแห่งนี้ บอกว่าไอเดียนี้ต้องการช่วยสนับสนุนรัฐและช่วยสนับสนุนอัตราการเกิดให้เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น

ธนาคารยังปรับสวัสดิการให้พนักงานลาคลอดบุตรเพิ่มวันลาหยุดไปจนถึง หากเป็นกลุ่มพนักงานสัญญารายปีที่มีบุตรจะได้รับพิจารณาให้เป็นพนักงานประจำ ซึ่งธนาคารในท้องถิ่นนี้เดินรอยตาม ซอฟต์แบงก์ของญี่ปุ่นที่ก่อนหน้านี้ออกนโยบายให้เงินพนักงาน 3 ล้านเยน หรือราว 9 แสนบาทกรณีมีลูกคนที่ 4 และจะให้ถึง 5 ล้านเยน หรือเกือบ 1.6 ล้านบาท เป็นเงินรับขวัญกรณีพนักงานมีบุตรคนที่ 5 เรียกว่าภาคเอกชนที่พร้อม…หันมาช่วยอีกแรง

สำหรับประเทศไทย แม้ขณะนี้ยังไม่ถึงกับวิกฤต ยังพอมี “เวลา” และ “แผนขั้นตอน” การเพิ่มประชากรตามลำดับได้อยู่ อยู่ที่ว่าเราจะทำได้ “ทันท่วงที” หรือไม่

ที่คู่ขนานกันมาคือ ประชากรสูงวัยของไทยที่เพิ่มขึ้นจะมีชีวิตความเป็นอยู่ มีคุณภาพตามสมควรแค่ไหน เพราะสถิติพบว่า 1 ใน 3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ 31,764 บาทต่อคนต่อปี

อีกทั้งในอนาคตที่ไทยเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์ ยังปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวเนื่องตามมาเป็นลูกโซ่ อาทิ อาชีพสำคัญอย่างพยาบาลและผู้ผ่านการฝึกดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกทักษะจะเป็นอาชีพที่ขาดแคลน

เช่นเดียวกับไทย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในโลก มีปัญหาประชากรวัยแรงงานเช่นเดียวกัน รวมทั้งการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวด้วย

แม้มีความพยายามวางแผนและแรงจูงใจเพิ่มประชากรในหลายประเทศ แต่ปัญหาสากลนี้ยังไม่มีประเทศไหนรับมือได้สมบูรณ์แบบ

ส่วนไทยระยะใกล้นี้ ปี 2562 หรืออีก 2 ปี นักประชากรศาสตร์คาดว่าเราจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าจำนวนเด็กเป็นครั้งแรกนั่นเอง