Next Gen ศรีวัฒนประภา อาณาจักรแสนล้าน “คิง เพาเวอร์”-

“คิง เพาเวอร์” เพิ่งจัดงานฉลอง 29 ปีอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจดิวตี้ฟรีเป็นรายแรกของเมืองไทย ในวันที่ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” ประธานกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ มีอายุเพียงแค่ 31 ปีเท่านั้น

จากวันนั้นถึงวันนี้ “วิชัย” กลายเป็นนักธุรกิจไทยที่ติดอันดับมหาเศรษฐีเมืองไทยติดต่อกันมาหลายปี กระทั่งล่าสุดปี 2560 นิตยสารฟอร์บส จัดอันดับให้ “เจ้าสัววิชัย” เป็นผู้มั่งคั่งอันดับที่ 5 ของประเทศด้วยมูลค่าธุรกิจกว่า 1.6 แสนล้านบาท

มุ่ง “ดิวตี้ฟรี-ท่องเที่ยว-ฟุตบอล”

“เจ้าสัววิชัย” เคยให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มคิง เพาเวอร์ จะเดินหน้าลงทุนในเส้นทางธุรกิจที่ถนัดเท่านั้น

ธุรกิจที่ถนัดที่ว่า คือ ดิวตี้ฟรี การท่องเที่ยว และฟุตบอล

พร้อมย้ำว่า เขาจะใช้ศักยภาพใน 3 ธุรกิจหลักนี้เพื่อสร้างจุดขายร่วมกัน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยและวิถีชุมชนฐานรากเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตสินค้า มีช่องทางการจำหน่าย โฆษณาประชาสัมพันธ์ และการตลาดผ่านช่องทางเครือข่ายของร้านค้าดิวตี้ฟรี นอกจากนี้ยังมองว่าระหว่างการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกทุกแมตช์ออกสู่สายตาชาวโลกนั้น ทั่วโลกก็จะมีโอกาสได้เห็นแบรนด์ “ประเทศไทย” ด้วย

“อัยยวัฒน์” รับไม้ต่อ

หากประเมินแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ จะพบว่าหลังจากที่ได้เข้าไปซื้อสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ “เจ้าสัววิชัย” ได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการสร้างสโมสรฟุตบอลเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมพร้อมส่ง “ไม้ต่อ” ให้กับรุ่นลูกสานต่อในส่วนของธุรกิจดิวตี้ฟรีมาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะลูกสาวคนโต “วรมาศ” และลูกชายคนเล็ก “อัยยวัฒน์” ที่วันนี้ได้เข้ามารับไม้ต่อจากพ่ออย่างเป็นทางการแล้ว

“อัยยวัฒน์” แม้จะเป็นลูกชายคนเล็ก แต่เป็นคนที่พี่น้องโหวตให้เป็นใหญ่ที่สุดที่รับไม้ต่อจากพ่อ นั่นหมายความว่าทันทีที่ “เจ้าสัววิชัย” วางมือ คนที่จะเข้ามากุมบังเหียนแทนทั้งหมด คือ “อัยยวัฒน์” นั่นเอง

ไม่เพียงเท่านี้ นอกจาก “รุ่นลูก” ที่เข้ามารับไม้ต่อแล้ว กลุ่มคิง เพาเวอร์ ยังมีทีมผู้บริหารและผู้ร่วมลงทุนที่ร่วมก่อร่างสร้างตัวมาด้วยอีกจำนวนหนึ่งด้วย อาทิ นายสมบัตร เดชาพานิชกุล, นายสุวรรณ ปัญญาภาส, นายจุลจิตต์ บุณยเกตุ ซึ่งทั้ง 3 คนนี้ล้วนเป็นที่ยอมรับในแวดวงว่า เป็นมือพระกาฬ ทั้งสิ้น

การจากไปของ “เจ้าสัววิชัย” นอกจากจะเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ และสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้แล้ว นี่คือช่วงสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ และเป็นภารกิจครั้งใหญ่ของ next gen “ศรีวัฒนประภา” ครั้งใหญ่อีกด้วย

ถือหุ้น 8 บริษัท-รายได้แสนล้าน

ล่าสุดจากฐานข้อมูลของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ระบุว่า นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ถือครองหุ้นและเป็นกรรมการอยู่ใน 8 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ทำธุรกิจบริหารจัดการธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง จำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและปลอดอากรภายใต้แบรนด์ “คิง เพาเวอร์” ทั้งหมด รวมถึงโรงละครอักษรา ร้านอาหารรามายณะ และร้านอาหารลามูน โดยปี 2560 มีรายได้รวม 5.61 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3.94 พันล้านบาท ทำกำไรสูงสุดในธุรกิจที่นายวิชัยครอบครองอยู่

2.บริษัท วี แอนด์ โฮลดิ้ง จำกัด เปิดให้บริการเครื่องหมายการค้า ร่วมลงทุนในกิจกรรมทุกประเภทจัดสรรที่ดิน บริการสนามกอล์ฟ สนามโปโล ให้บริการให้ใช้สถานที่และอุปกรณ์เพื่อใช้ในการกีฬา โดยปี 2560 มีรายได้รวม 4.02 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3.75 พันล้านบาท 3.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด จำหน่ายสินค้าปลอดอากร ให้บริการจุดส่งมอบปลอดอากรและให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ได้รับอนุญาตจาก ทอท. โดยในปี 2560 มีรายได้รวม 3.56 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.83 พันล้านบาท

4.บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมดในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่เพียงผู้เดียว (ไม่รวมร้านค้าปลอดภาษีและอากร ที่บริหารจัดการโดยคิง เพาเวอร์ ภายใต้อีกสัมปทานที่แยกออกไป) ปี 2560 มีรายได้สุทธิ 5.32 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.76 พันล้านบาท 5.บริษัท คิง เพาเวอร์ มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเครื่องบินโดยสารระหว่างประเทศ และในปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 144 ล้านบาท

6.บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี จำหน่ายสินค้าของที่ระลึกและสินค้าไทยในอาคารผู้โดยสารในประเทศ และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 248.63 ล้านบาท

7.บริษัท คิง เพาเวอร์ เอวิเอชั่น จำกัด กิจการขนส่งคนโดยสาร ไปรษณีย์ สิ่งของ และพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ และในปี 2560 มีกำไรสุทธิ 1.62 แสนบาท และ 8.บริษัท คิง เพาเวอร์ โฮเทล แมเนจเมนท์ จำกัด ประกอบกิจการโรงแรมและภัตตาคาร โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ปี 2560 มีรายได้รวม 665 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 42 ล้านบาท

ทั้ง 8 บริษัทมีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ในปี 2560 ทั้งหมดรวม 1.07 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 1.14 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ในส่วนของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้นั้น จากรายงานการเงินประจำปีของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ หลังจบฤดูกาล 2016-2017 เลสเตอร์ ซิตี้ มีผลประกอบการ 233 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดย Forbes ได้ประเมินมูลค่าเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ไว้ว่า สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ มีรายรับรวมก่อนหักค่าใช้จ่าย 407 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13,431 ล้านบาท เมื่อบวกกับมูลค่าแบรนด์ 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สรุปเป็นมูลค่าสโมสร 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อนหน้า

“ภรรยา-ลูก” ถือร่วมอีกเพียบ

ยังไม่รวมเครือข่ายธุรกิจของครอบครัว ที่ถือครองหุ้นโดย นางเอมอร ศรีวัฒนประภา ภรรยา และลูกอีก 4 คน โดยเฉพาะนางสาววรมาศ ศรีวัฒนประภา ลูกสาวคนโต และนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายคนเล็ก ที่โลดแล่นอยู่ในวงการธุรกิจเคียงข้าง “เจ้าสัววิชัย” มาโดยตลอด อีกจำนวนหนึ่งด้วย

นอกจากนางเอมอร ภรรยา นางสาววรมาศ และนายอัยยวัฒน์ จะถือครองหุ้นอยู่ใน 8 บริษัท ที่เจ้าสัววิชัยมีหุ้นอยู่แล้ว ทั้ง 3 คนยังถือครองหุ้นในบริษัท คิง เพาเวอร์ คลิก จำกัด ประกอบกิจการประเภทการขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ให้บริการเว็บไซต์และระบบสำหรับซื้อสินค้าปลอดภาษี (duty free) บริษัท บ้านพราวดาว จำกัด ประกอบกิจการประเภทการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย และบริษัท เอม ธรรมชาติ จำกัด ประกอบกิจการประเภทการขายส่งดอกไม้ ต้นไม้ และเมล็ดพันธุ์พืชร่วมกัน

นอกจากนี้ นางเอมอรและนายอัยยวัฒน์ยังถือครองหุ้นอยู่ในบริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ธุรกิจให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีกด้วย

ขณะที่นางสาววรมาศ ถือครองหุ้นในบริษัท มัลติพลาย บาย เอท จำกัด ธุรกิจให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ และให้บริการออกแบบและตกแต่งภายใน

เช่นเดียวกับนายอัยยวัฒน์ ที่ถือครองหุ้นในบริษัท ชอปสปอท (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจตัวแทนขายสื่อโฆษณาและขายสินค้าออนไลน์

รวมถึงขายสินค้าหรือรับจ้างทำของตามวัตถุประสงค์ และบริษัท สยาม โปโล ปาร์ค จำกัด ธุรกิจให้บริการดูแลม้าที่ใช้ในการเล่นกีฬาโปโล และบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด ที่กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ได้เข้าซื้อหุ้นโครงการมหานคร 51% ในส่วนโรงแรมเอดิชั่น ชั้นชมทัศนียภาพ และส่วนมหานครคิวบ์

ต่อยอดธุรกิจ “โรงแรม-ดิวตี้ฟรี”

จากพอร์ตรายได้จากธุรกิจต่าง ๆ ดังกล่าวชี้ชัดว่า ธุรกิจหลักของกลุ่ม “เจ้าสัววิชัย” และครอบครัว คือ ธุรกิจดิวตี้ฟรี โดยหลัก ๆ มาจากคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี, คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ และคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

ส่วนธุรกิจที่อยู่ในฟากที่ต้องลงทุนจำนวนมากคือ ธุรกิจโรงแรม ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มคิง เพาเวอร์ เพิ่งลงทุนไปกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อสินทรัพย์ของโครงการมหานคร ในส่วนของโรงแรม จุดชมวิว Observation Deck และอาคารรีเทลมหานครคิวบ์ จากกลุ่มเพซ ดีเวลอปเม้นท์ พร้อมตั้งชื่อโครงการใหม่ว่า “คิง เพาเวอร์ มหานคร”

ในส่วนโรงแรมนั้นมีประมาณ 155 ห้อง ถือเป็นโรงแรมแห่งที่ 2 ของกลุ่มต่อจากโรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (ซอยรางน้ำ)

การลงทุนดังกล่าว นอกจากจะเป็นการต่อยอดธุรกิจโรงแรมแล้ว ยังมีพื้นที่รีเทลบางส่วนที่มีแผนนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่ร้านค้าดิวตี้ฟรีใจกลางเมืองอีกแห่งหนึ่งด้วย พร้อมกันนี้ เจ้าสัว

วิชัยยังมีแผนผลักดันให้โครงการ “คิง เพาเวอร์ มหานคร” เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพฯ และของประเทศไทยด้วย คาดว่าโครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้

ที่สำคัญ ขณะนี้กลุ่มคิง เพาเวอร์ อยู่ระหว่างเตรียมที่จะเข้าประมูลชิงพื้นที่ร้านค้าดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ 5 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, ภูเก็ต และหาดใหญ่ ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนเมษายน 2563 รวมถึงสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่อีกด้วย

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”