สงครามการค้าทุบส่งออก ‘กกร.-สรท.’ ลุ้นปี’61 โต 8%-

พิษสงครามการค้า สรท.หดเป้าส่งออกปี’61 โต 8% เท่า กกร. ส่วนปี’62 คาดส่งออกโต 5% จับตาจีน-สหรัฐ ถกเวทีจี 20 เชื่อไตรมาส 4 ดีขึ้น แต่ยังห่วงปัจจัยเสี่ยงเพียบ แนะ ฟื้น “กรอ.” สะท้อนปัญหาถึงบิ๊กตู่

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทย ปี 2561 ขยายตัว 8% จากเดิมที่วางไว้ 9% ส่วนในปี 2562 คาดว่าขยายตัว 5% ต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 8% เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ติดลบ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามผลการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีน ในการประชุมสุดยอดผู้นำโลก จี 20 ที่ประเทศอาร์เจนตินา ในปลายเดือนนี้ว่าจะสามารถหายุติเรื่องนี้ได้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสหรัฐตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 11 รายการ อาจทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ตลาดคู่ค้าเผชิญกับปัญหาวิกฤตค่าเงินและศักยภาพในการชำระหนี้ส่งผลต่อกำลังซื้อ ข้อกังวลเรื่องความตกลง USMCA จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและสิ่งทอ, ปัญหาสหรัฐคว่ำบาตรอิหร่านและปัญหาโลจิสติกส์

อย่างไรก็ตาม ผลเชิงบวกจากสงครามการค้าจากที่สหรัฐขึ้นภาษีกับจีน ทำให้มีสัดส่วนการนำเข้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น 3.7% เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และกลุ่มประเทศเอเชียและอาเซียน ได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตมาสร้างโกลบอลซัพพลายเชนในไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ สรท.เสนอรัฐกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ พร้อมเร่งเปิดตลาดคู่ค้าใหม่ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออก

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ประเมินว่า ทิศทางเศรษฐกิจไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้น ทำให้จีดีพี ปี 2561 ยังขยายตัวได้ในกรอบ 4.4-4.8% การส่งออกขยายตัว 4.4-8% เงินเฟ้ออยู่ที่ 0.9-1.5% ส่วนภาพรวม GDP ปี’62 ขยายตัวได้เกิน 4% การส่งออกขยายตัว 5-6%

อย่างไรก็ตาม กกร.ยังห่วงปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับ สรท. จึงได้เสนอให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้ภาคเอกชนสะท้อนปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น อาทิ การลดความเหลี่อมล้ำ การกระจายรายได้ EEC การค้าชายแดน การโปรโมต SMEs สิทธิประโยชน์ของบีโอไอสำหรับธุรกิจบริการ รวมถึงเรื่องการยกเลิกใบ ตม.6 ให้ต่างชาติ เป็นต้น

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”