คุณมี “ไลฟ์สไตล์มรณะ” เพิ่มความเสี่ยง โรคมะเร็งเต้านมหรือไม่-

ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมยังคงรั้งอันดับเป็นโรคมะเร็งร้ายที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทยและทั่วโลก และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้หญิงยุคใหม่ที่กลายเป็นตัวเร่งสำคัญในการเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม

รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มะเร็งเต้านม เกิดจากเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติภายในเต้านมแล้วกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย ซึ่งจำนวนมากกว่าร้อยละ 95 ของผู้ป่วย มักเป็นโรคมะเร็งเต้านมที่มีสาเหตุจากท่อน้ำนม โดยอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง อาทิ ฮอร์โมนเพศหญิง พันธุกรรม โดยมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าหากมีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านม ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึงจำนวน 1 ใน 3

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่งคือรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งแต่การทำงานเพื่อตามล่าเป้าหมายในชีวิต โดยไม่ได้ให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของตนเองเท่าที่ควร ที่มีชื่อเรียกว่า “ไลฟ์สไตล์มรณะ” ซึ่งมีดังต่อไปนี้

– เผชิญภาวะความเครียด

– เร่งทำงานดึกดื่น พักผ่อนไม่เพียงพอ

– เป็นออฟฟิศซินโดรม

– ชอบอาหารจานด่วน ซึ่งอาจจะมีสารอาหารไม่ครบถ้วน ส่วนมากเป็นอาหารทอด และมีปริมาณโซเดียมสูงมาก

– ไม่สนใจการออกกำลังกาย มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่าการออกกำลังกายอย่างน้อย 4 ครั้ง/สัปดาห์ สามารถช่วยเลี่ยงอัตราเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้

สำหรับผู้ที่กังวลว่าตนเองอาจอยู่ในกลุ่มความเสี่ยง สามารถเริ่มต้นตรวจสอบตนเองได้อย่างง่าย ๆ ด้วยการคลำเต้านมอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำสลับขึ้นลงและไปมาให้ทั่วทั้งเต้านม ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการคลำเต้านมหาความผิดปกติคือช่วงหลังประจำเดือนหมดลงประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่เต้านมจะอยู่ในสภาวะปกติที่สุด หากว่าสามารถสังเกตถึงความผิดปกติของตนเองได้อย่างรวดเร็วก็จะทำให้ผลการรักษาเป็นไปได้อย่างดีมากยิ่งขึ้น

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”