สนั่น อังอุบลกุล เมลามีนปลอมถล่ม “ศรีไทย” จัดทัพสู้-

สัมภาษณ์พิเศษ

คนไทยคุ้นเคยกับ”ศรีไทยซุปเปอร์แวร์” มานานถึง 55 ปี ในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เมลามีนชั้นนำของประเทศ แต่ท่ามกลางภาวะสงครามการค้าที่ยืดเยื้อขณะนี้ถือเป็นความท้าทายของศรีไทย ที่ต้องแข่งขันอย่างดุเดือดกับเมลามีนคุณภาพต่ำราคาถูกจากจีนที่ทะลักเข้ามา “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SITHAI ถึงทิศทางธุรกิจว่า

เมลามีนปลอมถล่มไทย

ขณะนี้น่าห่วงว่ามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เมลามีนปลอมที่ผลิตจากยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์จากจีนที่อ้างว่าเป็นพลาสติกเข้ามาจำหน่ายตามตลาดนัดมากขึ้น และราคาถูก เช่น เมลามีนขายใบละ 40 บาทแต่ยูเรียฯขายใบละ 20 บาท ผู้บริโภคสังเกตยาก และที่สำคัญเมลามีนปลอมเหล่านี้ หากนำมาใส่อาหารสัมผัสความร้อนกว่า 60 องศา หรือกรดน้ำส้มจะทำให้สารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย หากมีปริมาณเกินกว่า 4 ppm จะไม่ปลอดภัย เพราะองค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งจัดให้สารนี้เป็นสาเหตุของมะเร็ง

ความเสียหายต่ออุตสาหกรรม

จีนมีโรงงานผลิตอยู่มากกว่า 2,000 แห่งเมลามีนปลอมจากจีนทะลักเข้ามาจำนวนมาก คาดว่าในแต่ละปีมีเข้ามาถึง 10,000 ตัน หรือมากกว่ากำลังการผลิตเมลามีนทั้งหมดของไทย ส่งผลให้ตลาดเมลามีนในประเทศไม่เติบโตจากเดิมที่เคยโตปีละ 5% และเคยโตกระโดดถึง 100%

การกำกับดูแลเมลามีนปลอม

ไทยยังไม่มีมาตรฐานบังคับดูแลเช่นในต่างประเทศ ทั้ง ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐ สหภาพยุโรป ที่ต้องให้มีการทดสอบและมีหนังสือรับรองก่อนที่จะส่งสินค้านี้เข้าไปจำหน่าย หรือแม้แต่จีนก็ห้ามขายต้องมีใบอนุญาต และต้องผ่านการตรวจรับรองจากบุคคลที่ 3

ตอนนี้บริษัทได้ประสานไปยังสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขอให้เร่งยกร่างมาตรฐาน มอก.บังคับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ไม่ให้เกินค่าที่กำหนด จากเดิมมีมาตรฐาน มอก. 524-2539 กำกับดูแลแบบสมัครใจ

ขณะนี้หารือกันถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งเอกชนขอให้เพิ่มคำนิยาม “พลาสติก” ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้นำเข้าสวมว่าเป็นพลาสติก

ภาพรวมรายได้ศรีไทย

คาดการณ์ว่ายอดขายทั้งปี 2561 จะมูลค่า 9,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 9,577 ล้านบาท โดยล่าสุดในไตรมาส 3 ของปีนี้ ยอดขาย7,122 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาส 3 ปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 6,977 ล้านบาท โดยรายได้มาจากตลาดต่างประเทศและตลาดภายในประเทศ สัดส่วน 50 ต่อ 50 เท่ากันแต่ตลาดในประเทศไม่โตอิ่มตัว ส่วนกำไรปีนี้เหลือ 12-13% จากปีก่อนที่ 14% จากปัจจัยบาทแข็ง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะมียอดขาย 10,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น8.7% แต่ยังต้องติดตามผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และค่าบาทค่าที่จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน

ฐานผลิต-ตลาดต่างประเทศ

ตลาดต่างประเทศยังขยายตัวได้ดี โดยปัจจุบันบริษัทมีฐานผลิตในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำสัญญากับพันธมิตรเวียดเพื่อขยายโรงงานบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม (ขวดเพ็ต) ฝาปิดขวด หากสำเร็จมีแผนจะขยายการลงทุนในปีหน้า 500 ล้านบาทจากปีนี้ที่มีการลงทุน 200 ล้านบาท

ส่วนโรงงานที่อินเดียสามารถผลิตและจำหน่ายเข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตในและตัวแทนจำหน่าย และขยายเข้าสู่ตลาดข้างเคียงอย่างศรีลังกา นอกจากนี้บริษัทยังได้ขายเทคโนโลยีการผลิตให้กับพันธมิตรจากอียิปต์ด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีนโยบายฟรีซการลงทุน เพราะเศรษฐกิจโลกต้องระวัง มีความเสี่ยงหลายอย่าง บริษัทจึงวางแผนจะปรับโครงสร้างองค์กร และใช้กลยุทธ์ LEAN โดยจะมีการตั้ง COO (Chief Operating Officer) ขึ้นมาดูด้านโอเปอเรชั่น การผลิต จากเดิมที่มีแต่ CEO พร้อมทั้งจะตั้งรองประธาน หรือ Vice President อีก 3 ตำแหน่งมาดูเรื่องไลน์การผลิต 3 สินค้า คือ เมลามีน สัดส่วน 22% และที่เหลืออีก 75% คือ พลาสติก บรรจุภัณฑ์บรรจุอาหารพร้อมรับประทานและน้ำดื่มต่าง ๆ

อนาคต “ไบโอพลาสติก”

บริษัทเริ่มขยายการลงทุนไบโอพลาสติกและไบโอเมลามีน ซึ่งผลิตจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายได้ เพราะที่ผ่านมีกระแสลดขยะพลาสติก แต่แนวคิดนี้เพิ่งเริ่มต้นยังมีสัดส่วนเพียง 2% มีตลาดสหภาพยุโรปเป็นหลัก เพราะราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์อื่นจึงยังไม่ค่อยได้รับความนิยมในประเทศ แต่หากรัฐบาลส่งเสริมอย่างจริงจังคาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”