“ระทึก-พลิกโผ-โดนเท” ลาทีปี 2561 ลุ้นต่อ 2562-

ผ่านไปแล้วกับ พ.ศ. 2561 ปีที่วงการไอทีโทรคมนาคมแทบจะลุ้นระทึกตลอดเวลา เปิดประเดิมตั้งแต่การสรรหา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ “กสทช.” ชุดใหม่ แทนชุดปัจจุบันที่หมดวาระไปตั้งแต่ 6 ต.ค. 2560 แต่บทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ระบุให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่จำเป็นไปพลางก่อน จนกว่าบอร์ดชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ม.44 ล้มสรรหา-ลุ้น กม.ใหม่

โดยการเปิดรับสมัครเมื่อต้นปี 2561 ก็สุดคึกคัก มาครบทุกวงการ ทั้งคนดังในแวดวงข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ รวมถึงรองเลขาธิการ กสทช. และที่ปรึกษา กสทช.ชุดปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณสมบัติและความเหมาะสม มีกระทั่ง “คลิปหลุด” ที่เป็นเสียงสนทนาของบุคคลปริศนาที่ระบุว่า “นายกฯไม่ปลื้ม” รายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกมาให้ “สนช.” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติโหวตลงคะแนน

แต่สุดท้าย ทุกคนก็ “โดนเท” เมื่อหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งยกเลิกการสรรหาทั้งหมด แล้วให้ชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่แทนไปก่อนเรียกว่า “พลิกล็อก” ไม่ต่างจากที่ เลขาธิการ กสทช. “ฐากร
ตัณฑสิทธิ์”
ตัวเต็งจ๋า ว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง “กกต.” ชุดใหม่ แต่โดน สนช.ลงมติ “ไม่เลือก”

ปี 2562 นี้ก็ยังต้องลุ้นว่า บอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบัน จะยังนั่งทำหน้าที่ไปอีกนานแค่ไหน เพราะร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ก็กำลังจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ หลัง สนช.พิจารณาในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว

เซอร์ไพรส์สุด ๆ คดี “ติ๋มทีวีพูล”

ขณะที่คำพิพากษาศาลปกครองคดี “ติ๋ม ทีวีพูล” นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ผู้รับใบอนุญาต 2 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ยื่นฟ้อง “กสทช.” ก็เป็นอีกหนึ่งที่ “พลิกโผ” เมื่อศาลชี้ว่า มีสิทธิ์คืนช่องที่ประมูลไปได้ และให้ กสทช.คืนแบงก์การันตีเงินประมูลที่วางไว้รวม ๆ 1,500 ล้านบาท หลังจากเจ๊ติ๋มประกาศปิดช่องให้จอดำมาตั้งแต่ 1 พ.ย. 2558 และย้ำว่าจะไม่จ่ายเงินประมูลช่องที่เหลือเด็ดขาดซึ่งจากนี้ก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่า ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาคำอุทธรณ์ของ กสทช.อย่างไร แล้วจะชี้ขาดมาทันปี 2562 นี้หรือไม่

ทีวีดิจิทัลได้ “ม.44” อุ้มเสียที

ฟากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลธุรกิจที่ยังสู้ต่ออีก 22 ช่อง หลังจากลุ้นตั้งแต่ปลายปี 2560 ว่าจะได้ของขวัญปีใหม่ปี 2561 เป็นมาตรการช่วยเหลือตามที่เลขาธิการ กสทช.รับปากไว้ แต่สุดท้ายก็ล่วงไป 23 พ.ค. 2561ถึงจะมีคำสั่ง คสช. ให้พักชำระหนี้ค่าประมูลช่อง อุดหนุนค่าเช่าโครงข่าย 50% 24 เดือน นอกเหนือจากที่ช่วยค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมอยู่ก่อนแล้ว

ปี 2562 ก็ยังต้องลุ้นต่อว่า ไอเดียของ กสทช.ที่จะย้ายการใช้งานคลื่นของช่องทีวีดิจิทัลจาก 700 MHz ไปใช้ย่าน 470 MHz แทน เพื่อนำคลื่น 700 MHz ไปประมูล 5G แล้วจะนำเงินที่ได้มาสนับสนุนช่องทีวีดิจิทัล ให้ไม่ต้องจ่ายเงินประมูลคลื่นที่เหลือ และได้อุดหนุนค่าเช่าโครงข่ายไปจนถึงปี 2572 จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

ค่ายมือถือ “เท” ไม่ประมูล

เหตุเพราะในปี 2561 ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ทั้ง 3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ พร้อมใจกัน “เท” กสทช. ไม่เข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ที่เปิดให้ยื่นซองเมื่อ 15 มิ.ย. 2561 จนทำให้ กสทช.ต้องวิ่งวุ่นในการแก้ไขกฎเกณฑ์การประมูลใหม่ พร้อมเข็นคลื่น 900 MHz ที่เดิมตั้งใจจะเก็บไว้ก่อนจนกว่าจะมีทางออกเรื่องคลื่นรบกวนกับย่านความถี่สำหรับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าความเร็วสูง ด้วยเหตุว่า “ดีแทค” อยากได้คลื่นความถี่ย่านต่ำ แถมกำหนดเกณฑ์ให้สิทธิ์ “ดีแทค” จะเข้าสู่ช่วงเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทาน ก.ย. 2561 ด้วยการเปิดให้บริการเป็นการชั่วคราวระหว่างเปลี่ยนผ่านได้ต่อเมื่อ “ดีแทคเข้าประมูล” เรียกว่าทั้งเอาใจ ทั้งกดดัน ทั้งบีบบังคับกันเต็มที่ !

และแล้วการประมูลคลื่น 1800 MHz ก็เกิดขึ้นในวันที่ 19 ส.ค. 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการทำงานของ “ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ซีอีโอ “ดีแทค” ในขณะนั้น โดยมี “เอไอเอส-ดีแทค” คว้าคลื่นไปคนละใบอนุญาต เหลือค้างไว้ที่ กสทช. 7 ไลเซนส์ แต่คลื่น 900 MHz ก็ยังโดนเทอยู่ดี

กสทช.ไม่หยุด ! ลุยจัดประมูลต่อ

แต่ กสทช.ก็ยังไม่หยุดที่จะผลักดันการประมูลคลื่น 900 MHz ทำให้บรรดาข้อเรียกร้องของ “ดีแทค” ถูกนำมาพิจารณาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเงื่อนไขการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวน ที่เดิมผู้ชนะประมูลต้องรับผิดชอบทั้งหมด ก็ยกเลิก โดยให้แต่ละค่ายไปจัดการป้องกันเอง การยืดเวลาใช้คลื่นในระบบสัมปทานในระหว่างติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายใหม่ รวมถึงการยก “ไม้ตาย” ของเลขาธิการ กสทช.ที่ระบุว่า ถ้าดีแทคไม่ยื่นประมูล 900 MHz ที่จัดขึ้นใหม่อีกรอบภายใน 12.00 น. วันที่ 16 ต.ค. 2561 “กสทช.” ก็จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองที่คุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี “ดีแทค” ให้ได้สิทธิ์เยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทาน

สุดท้ายภารกิจแรก ๆ ของซีอีโอคนใหม่ของดีแทค “อเล็กซานดร้า ไรช์” จึงกลายเป็นการเข้าประมูลคลื่น 900 MHz แบบรายเดียวโดด ๆ ด้วยราคา 38,064 ล้านบาท เรียกว่าปี 2561 ทั้งปี เป็นปีแห่งการผลักดันประมูลคลื่นอย่างแท้จริง เพราะปูทางประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์มาตั้งแต่ต้นปี ลากยาวมาจนเพิ่งมอบใบอนุญาตใช้คลื่นในเดือน ธ.ค.

แต่ปี 2562 กสทช.ก็ยังจะ “ไม่หยุด” เพราะวางแผนเรียกคืนคลื่น (รีฟาร์มมิ่ง) สารพัดย่านความถี่ เพื่อนำมาจัดประมูลใหม่ รองรับเป้าหมายรัฐบาลที่จะผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2563 โดยมีย่าน 2600 MHz ในมือ บมจ.อสมท และย่าน 700 MHz ที่ช่องทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ เป็นเป้าหมายแรก ๆ ในการรีฟาร์ม

ขณะที่บรรดาค่ายมือถือต่างพร้อมใจกันยกประเด็นเรื่องราคาคลื่นในทุกเวทีสัมมนา 5G ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจที่โค้งท้ายปี 2561 เลขาธิการ กสทช.ประกาศจะ “เซตซีโร่” วงการโทรคมนาคม ด้วยการทบทวนมูลค่าคลื่นใหม่ พิจารณาการผ่อนชำระคลื่นเก่าที่ประมูลไปแล้ว รวมถึงรูปแบบใบอนุญาตที่จะมีทั้งแบบให้บริการทั่วประเทศ และเฉพาะพื้นที่

จากนี้ก็ต้องลุ้นกันต่อเนื่องว่า 5G จะเกิดขึ้นได้จริงแค่ไหน ทั้งค่ายมือถือและช่องทีวีดิจิทัลจะได้รับการปลดล็อกภาระทางการเงินได้แค่ไหน เพราะหลายไอเดียของ กสทช.ต้องอาศัย “ม.44” ในมือของหัวหน้า คสช. เป็นทางออก

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือสแกน QR Code