
หลายปีที่ผ่านมา นวัตกรรมการเงินจีนมีการพัฒนาไปมาก ประชากรคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการใช้งาน “โมบาย เพย์เมนต์” ในหัวเมืองใหญ่หลายเมืองของจีน และเริ่มขยายการใช้งานไปสู่แถบชนบท
ผู้เล่นสำคัญได้แก่ “อาลีเพย์” จากยักษ์ “อาลีบาบา” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2009 จากการเป็นระบบจ่ายเงินในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ก่อนที่จะขยายสู่บริการชำระเงินออนไลน์อื่น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร จ่ายบิล ดีลิเวอรี่ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 520 ล้านคน
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
อีกรายใหญ่คือ “เทนเซ็นต์” ที่พัฒนากลุ่มธุรกิจโมบาย เพย์เมนต์ ชื่อ “เทนเพย์”ซึ่งในปี 2012 เทนเพย์เริ่มแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากอาลีเพย์ โดยเปิดตัว “วีแชทเพย์” ระบบชำระเงินที่ผูกกับแอปพลิเคชั่นสนทนา “วีแชท” ของบริษัทที่มีผู้ใช้กว่าพันล้านคน
เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานอ้างอิงจาก “ไอรีเสิร์ช” ระบุว่า กลางปี 2014 อาลีเพย์มีส่วนแบ่งตลาดโมบาย เพย์เมนต์มากถึง 80% กระทั่งกลางปี 2017 ส่วนแบ่งการตลาดของอาลีเพย์ตกลงมาอยู่ที่ราว 50% เท่านั้น สวนทางกับเทนเพย์ที่กลางปี 2014 ส่วนแบ่งตลาดเพียง 7% และปัจจุบันพุ่งขึ้นถึง 40% ไล่บี้อาลีเพย์มาติด ๆ
การทำธุรกรรมของอาลีเพย์เกิดขึ้นบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ “เถาเป่า” ของอาลีบาบา ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ทำให้มียอดทำธุรกรรมสูงกว่าเทนเพย์ อย่างไรก็ตาม วีแชทเพย์มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่าเกือบ 2 เท่าตัว
นอกจากเป็นระบบที่ผูกกับวีแชท อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้วีแชทเพย์สามารถแข่งกับอาลีเพย์ได้อย่างสูสี คือการออกแคมเปญที่เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภค เช่น อั้งเปาออนไลน์ (Red Packets) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ตรุษจีน2014 โดยเริ่มต้นมีผู้ส่งอั้งเปา 16 ล้านซอง แต่ได้รับความนิยมมากจนปี 2017 ที่ผ่านมา การส่งเพิ่มขึ้นมากถึง 14.2 พันล้านซอง วีแชทเพย์ยังเพิ่มระบบการหารจ่ายเวลากินข้าวกับเพื่อนอีกด้วย ชาวจีนหลายคนให้ความเห็นว่าแม้ว่าอาลีเพย์จะแพร่หลายกว่า แต่วีแชทเพย์เป็นอะไรที่สะดวกสบายเอามาก ๆ
นอกจากการรุกไล่ของ “เทนเพย์” กับ “อาลีเพย์” ในประเทศจีนแล้ว จากที่จีนเป็นตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญของโลก ส่งผลให้ชนชั้นกลางขยายตัว มีกำลังซื้อมากขึ้น และออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นนับ 100 ล้านคนต่อปี นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญของทั้งอาลีเพย์และเทนเพย์ในการขยายบริการรองรับนักท่องเที่ยวจีนทั่วโลก
ปัจจุบันอาลีเพย์รุกบริการ 28 ประเทศทั่วโลก ขณะที่เทนเพย์ขยายออกไป 15 ประเทศ โดยเล็งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป ทั้งสองค่ายได้ขยายเข้ามาในไทยเมื่อปีที่แล้ว
“Paul Schulte” ผู้ก่อตั้ง “Schulte Research” บริษัทที่ปรึกษาสตาร์ตอัพฟินเทค ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับการที่ธนาคารอเมริกันในยุค 1950 ขยายสาขาตามนักท่องเที่ยวจากประเทศตัวเองไปยังประเทศต่าง ๆ “พวกเขาติดตามนักท่องเที่ยวชาติตัวเองเป็นการติดตามลูกค้าของพวกเขา” Schulte กล่าว