มรดกคณะปฏิวัติ 19 กันยาฯ “ทักษิณ” ชนะเลือกตั้ง พ่ายกลการเมือง-

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งแบบถึงลูก ถึงคน ถึงชีวิต

กำเนิดสงครามกลางกรุงย่อย ๆ มา 3 ครั้ง โดย 3 ม็อบ พันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย – แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ กปปส. – คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปฏิเสธไม่ได้ทั้ง 3 ม็อบ 3 เหตุการณ์นองเลือดมีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะฝ่าย นปช. คือมวลชนข้าง “ทักษิณ ชินวัตร” ขบวนการแนวร่วมข้างถนนของพรรคพลังประชาชน ถึงพรรคเพื่อไทย

เพราะพันธมิตรฯ คือมวลชนที่ยืนตรงข้าม “ทักษิณ ชินวัตร”

เพราะ กปปส. คือคนจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองขั้วตรงข้าม “ทักษิณ”

และ 19 กันยายน2549 ที่บัดนี้ผ่านมา 11 ปี “ทักษิณ” และพวกพ้องพยายามลบล้าง คดีความ – ผลพวงการเมือง ซึ่งเรียกว่า “ผลไม้พิษ” แต่ก็ไม่สำเร็จ และจะกลายเป็นชนวนที่ทำให้ “ทักษิณ” และพวก พังยิ่งกว่าเดิม

นี่คือ 11 ปมเหตุการณ์ ในรอบ 11 ปีที่ ทักษิณ และพวก สู้ไม่เคยชนะ

ตั้งกองบัญชาการสู้การยึดอำนาจ

หนึ่ง ในคืนยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ขณะนั้น “ทักษิณ” ไปประชุมสหประชาชาติที่ มหานครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา พรรคพวก – ลูกน้องทักษิณ พยายามต่อสู้กับกองกำลังที่เข้ามายึดอำนาจด้วยการถ่ายทอดสัญญาณข้ามโลก “ปลด” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. แต่ก็ไม่ทันการณ์

จากนั้นคณะยึดอำนาจได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบคดีทุจริตในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งอดีตนายกฯ พลัดถิ่น โดนไปถึง 12 คดี มี 1 คดีที่ศาลตัดสินแล้วคือคดีที่ดินรัชดา จำคุก 2 ปี บัดนี้ “ทักษิณ” ยังมีฐานะจำเลย อีก 5 คดี

ยุบพรรคไทยรักไทย

สอง ผลพวงจากการยึดอำนาจ เป็นผลให้พรรคไทยรักไทยถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 21 กันยายน 2549 ข้อ 3 ซึ่งบทลงโทษตัดสิทธิ 5 ปี กลายเป็น “ผลไม้พิษ” ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งพรรคการเมืองของทักษิณได้ลิ้มรสชาติอีกครั้ง หลังการถูกยุบพรรครอบ 2 คือพรรคพลังประชาชน

กำเนิดพันธมิตรฯรอบ 2

สาม แม้ว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยจะถูกยุบ แต่พรรคไทยรักไทยได้แปลงสภาพมาเป็นพรรคพลังประชาชน แต่จิตวิญญาณร่วมทั้งหมดอยู่ที่ “ทักษิณ” เป็นศูนย์กลาง และทำให้พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ด้วยความที่เป็นเสียงข้างมาก พรรคพลังประชาชนมีแนวคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มรดกของ 19 ก.ย. 2549 แต่ถูกขัดขวางจากกลุ่มพันธมิตรฯ มวลชนที่ไล่ต้อน “ทักษิณ” ก่อนการรัฐประหาร 2549

ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯ ได้กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งในวันที่ 25 พ.ค.2551 เพื่อขวางการแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว นับแต่นั้นกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยึดทำเนียบฯ ยึดสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ กลายเป็นม็อบที่ชุมนุมนานกว่า 193 วัน ส่วนพรรคพลังประชาชนไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ต้องการ

สมัครสังเวยผลประโยชน์ทับซ้อน

สี่ 9 ก.ย.2551 สมัคร สุนเทรเวช ต้องสังเวยเก้าอี้นายกฯ จากกรณีจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” เพราะไปรับเงินจากบริษัทเอกชนในฐานะลูกจ้าง ซึ่งขัดต่อหมวด “ขัดกันแห่งผลประโยชน์” ตามรัฐธรรมนูญ 2550

ยุบ พปช. สมชายพ้นนายกฯ

ห้า และผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2550 อีกเช่นเคย ที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 จากการที่ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” กรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกปี 2550 และทำให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพ้นนายกฯ ไปด้วย เพราะถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 5 ปี

ศาลเบรกแก้ รธน.ทั้งฉบับ

หก หลังพรรคเพื่อไทยพลิกกลับมาชนะเลือกตั้งได้อีกครั้ง เมื่อ 3 ก.ค.2554 ผ่านมาหนึ่งปีพรรคเพื่อไทยพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มรดก 19 ก.ย.กันอีกรอบ แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลกำเสียงในสภากว่า 300 เสียง ถือธงแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ทว่า..ถูกพรรคประชาธิปัตย์เข้าชื่อร้องคัดค้านการแก้ไขต่อศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้าย 13 ก.ค.2555 ศาลรัฐธรรมนูญเบรกแก้ รธน.ทั้งฉบับ โดยแนะนำว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติของประชาชน ถ้าจะแก้ไขต้องกลับไปทำประชามติขออนุญาตประชาชนในฐานะเจ้าของรัฐธรรมนูญก่อน 1 ปีให้หลัง 9 ก.พ.2556 พรรคเพื่อไทยจึง “เปลี่ยนแผน” ไปเป็นแก้ไขรายมาตรา โดยขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.เลือกตั้ง มีผลประโยชน์ตอบแทนคือ ให้ ส.ว.ที่จะครบวาระสามารถสมัครเลือกตั้งต่อไปอีกสมัยได้ และ โละ ส.ว.สรรหา อันเป็นเครือข่ายของรัฐประหารปี 49 ทิ้งไป

ผ่านนิรโทษกรรม เกิด กปปส.

เจ็ด ระหว่างสภาล่าง – สภาสูง กำลังชุลมุนวุ่นวายกับการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยฉวยจังหวะผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ท่ามกลางแรงต้านจากหลายฝ่ายที่คิดว่าผลของกฎหมายดังกล่าวจะนิรโทษกรรมให้ “ทักษิณ” แต่วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ในฐานะผู้ยื่นร่างกฎหมาย ยืนยันว่าไม่ได้ล้างผิดให้ทักษิณจากคดีทุจริตที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร 2549 แต่นิรโทษฯ ให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองไม่รวมแกนนำ ผู้สั่งการ

แต่ต่อมา 31 ต.ค.2556 ในการพิจารณาวาระ 3 มีการเปลี่ยนสาระ พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยให้ “นิรโทษกรรมตามเหตุการณ์” ย้อนถึงคดีความของ “ทักษิณ” ยิ่งกว่านั้นเมื่อ สภาฯลงมติผ่านกฎหมายกันตอนตี 4 เช้าตรู่ของวันที่ 1 พ.ย.2556 สังคมยิ่งไม่พอใจ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาพรรคประชาธิปัตย์ จึงใช้จังหวะดังกล่าวรวบรวมมวลชน ก่อเกิด กปปส.ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จวบจนยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557

ศาลชี้ แก้รัฐธรรมนูญขัด ม.68

แปด ในขณะที่พรรคเพื่อไทยต้องเจอแรงต้านจากม็อบ กปปส.โดยผลของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 20 พ.ย.2556 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคเพื่อไทย ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

พ้นรักษาการนายกฯ

เก้า แม้ “ยิ่งลักษณ์” จะพ้นเก้าอี้นายกฯ จากการยุบสภาเมื่อต้นธันวาคม 2556 เพื่อระบายแรงกดดันจากกรณีนิรโทษกรรมสุดซอย แต่ก็ไม่วายที่ “ยิ่งลักษณ์” ต้องพ้นรักษาการนายกฯ โดยผลคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2557

ถูก คสช.ยึดอำนาจ

สิบ ทั้งเหตุการณ์ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เลือกตั้งโมฆะ ม็อบ กปปส.เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ฯลฯ ทั้งหมดถูกลากยาวมาจน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”ผบ.ทบ.ขณะนั้น ใช้อำนาจประกาศกฎอัยการศึกเรียกคู่ขัดแย้งทุกขั้วทุกข้างมาหาทางออกทางการเมือง แต่เมื่อหาทางออกไม่ได้ ก็ถึงคราวยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557

หนีคำพากษา

สิบเอ็ด ผลจากการยึดอำนาจโดย คสช.ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับผลไม้พิษเขียนรัฐธรรมนูญใหม่พร้อมบทลงโทษนักการเมืองให้เข้มขึ้นกว่าเก่า ปิดตายนโยบายประชานิยมรัฐบาลเลือกตั้ง ทำลาย “กล่องดวงใจ” ของพรรคทักษิณมาตลอด 1 ทศวรรษกว่า ส่วน “ยิ่งลักษณ์” ต้องขึ้นศาลต่อสู้คดีทุริต กระทั่งไม่มาฟังคำพิพากษาทุจริตจำนำข้าว และทิ้งเมืองไทยไป ส่วน 2 รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ที่ถูกชี้ว่าทุจริต บุญทรง เตริยาภิรมย์ และ ภูมิ สาระผล ถูกติดคุกอ่วม

แม้ “ทักษิณ” และพวกจะชนะเลือกตั้ง หลังจากนั้นทุกครั้ง แต่ก็บริหารประเทศไม่ได้ แพ้กลศึกการเมืองให้กับการปฏิวัติทุกครั้ง