กรมศุลอ้ำอึ้งเกรย์ขอปรับตัว ส่อไม่เลื่อนเกณฑ์ราคารถหรู-

กุลิศ สมบัติศิริ

กรมศุลฯเสียงแข็งเลื่อนบังคับใช้เกณฑ์นำเข้ารถหรู 4 ยี่ห้ออีก 6 เดือนตามเอกชนเรียกร้อง ชี้หลักฐานดีเอสไอฟันธงชัดเจน เอกชนสำแดงราคาต่ำมาตลอด แจงแค่แสดง “ใบขน” จากประเทศต้นทางก็จบ เร่งสรุปปรับโครงสร้างอากรขาเข้ารถยนต์ในสิ้น ต.ค.นี้

นายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายความชื่อดัง ในฐานะตัวแทนสมาคมผู้นำเข้ารถยนต์ กล่าวในการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของกรมศุลกากรในการพิจารณาประเมินราคารถยนต์ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ขอเรียกร้องให้กรมศุลฯขยายเวลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์ที่ออกมาเมื่อ 28 ส.ค. 2560 ที่ใช้ตรวจสอบราคารถยนต์นำเข้า 4 ยี่ห้อจากประเทศอังกฤษ ออกไปอีกสัก 6 เดือน หรือจนถึง เม.ย. 2561 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาตั้งหลักได้ ไม่ต้องผิดสัญญา และไม่ถูกฟ้อง ตลอดจนไม่ต้องปิดบริษัทเลิกจ้างพนักงาน

ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าหลังจากนี้จะเห็นผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์ผิดสัญญาส่งมอบรถให้ลูกค้ากันมากขึ้น เนื่องจากหลังมีหลักเกณฑ์ 28 ส.ค.ออกมา ได้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ รวมไปถึงผู้บริโภคเป็นวงกว้าง เนื่องจากว่าต้องใช้ราคาที่ประกาศในเว็บไซต์ของประเทศผู้ผลิต โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เข้าไปด้วย ซึ่งตามหลักการซื้อของจากต่างประเทศต้องถอด VAT ออกทั้งสิ้น ไม่มีการนำมาคำนวณรวมเป็นภาษีศุลกากรเหมือนกรณีนี้ ขณะที่การกำหนดส่วนลดที่แตกต่างกับกรณีการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ทำให้เกิดความลักลั่น

“เกณฑ์ที่ออกมากระทบผู้ประกอบการและผู้บริโภคทุกราย ผมว่าถ้าจะใช้หลักเกณฑ์ที่กระทบวงกว้างขนาดนี้ แม้จะบอกว่าเป็นคำสั่งภายใน แต่ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่กระทบกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภค จะต้องประกาศลงราชกิจจานุเบกษาด้วย แล้วก็ต้องมีระยะเวลาให้ตั้งหลักในการทำงาน เพราะผู้ประกอบการมีการทำสัญญากับลูกค้า รับเงินจองมา เอาเงินไปจองที่ต่างประเทศ แต่สินค้าออกมาแล้วส่งมอบไม่ได้ เพราะราคาที่ศุลกากรยอมรับได้ตอนนี้สูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งถ้าผิดสัญญาก็จะถูกฟ้อง หรือถ้าเอารถออกมาส่งมอบได้ ก็ขาดทุนยับเยิน” นายประมาณกล่าว

นายประมาณกล่าวด้วยว่า เดิมการนำเข้ารถยนต์หรูจะใช้คำสั่ง 317/2547 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้อย่างราบรื่นมากว่า 10 ปี เพราะยึดการสำแดง “ราคาที่กรมศุลกากรยอมรับได้” ที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ แต่ตอนนี้กรมศุลฯไม่พอใจราคาที่ว่านี้แล้ว

ขณะที่นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็มีการพูดคุยกันอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการนำเข้ามีการสำแดงราคาต่ำมาตลอด ซึ่งเมื่อมีการทำให้ถูกต้อง ก็ย่อมมีการโต้แย้ง

“เรื่องจะให้ชะลอ ก็กำลังคุยกันอยู่ แต่ดีเอสไอเขามีหลักฐานชัดว่าทางฝั่งผู้ประกอบการสำแดงต่ำมาตลอด ทำให้พอเรามาทำให้ถูกต้อง ก็เลยมีการโวยวายกัน เพราะที่ผ่านมาเขามีกำไรมาตลอด” นายกุลิศกล่าว

นายกุลิศกล่าวว่า การที่เรียกผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ก็เพื่อชี้แจงให้เข้าใจว่าการนำเข้าจะต้องมีการสำแดงราคาตามข้อเท็จจริง โดยใช้ใบขนสินค้าขาออกจากประเทศต้นทางที่นำรถยนต์ออกมายังประเทศไทย แสดงกับกรมศุลกากร ซึ่งจะเป็นหลักฐานที่สามารถประเมินภาษีได้ทันที ถูกต้อง และเป็นธรรมที่สุด แต่หากนำมาแสดงไม่ได้ก็ต้องใช้ราคาในเว็บไซต์ และราคาหักทอนมาเทียบเคียง อย่างไรก็ดี ในเรื่องราคานี้กรมศุลฯกำลังปรับปรุงคำสั่ง 317 เพื่อคำนวณราคาหักทอนต่าง ๆ ใหม่ให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเสร็จแล้วก็จะต้องหาข้อสรุปด้วยว่า จะต้องปรับปรุงโครงสร้างอากรขาเข้ารถยนต์ด้วยหรือไม่ ซึ่งจะสรุปให้ได้ในสิ้นเดือน ต.ค.นี้

อธิบดีกรมศุลฯกล่าวด้วยว่า ตอนนี้การนำเข้ารถยนต์หรูมีตัวเลขลดลง และผู้ประกอบการก็ชะลอที่จะนำรถออกไปจากคลังสินค้าด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการรอความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายใหม่ที่ต้องคำนวณจากราคาขายปลีกแนะนำ ซึ่งตนอยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่สำรวจว่าทุกด่านมีรถค้างอยู่มากน้อยอย่างไร