ตามรอยพ่อไปชิม “อาหารจากแผ่นดิน”-

มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เตรียมจัดงาน “รอยัล โปรเจ็กต์ แอต สยามพารากอน” (Royal Project at Siam Paragon) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “อาหารจากแผ่นดิน”

เพื่อเผยแพร่ผลงานและองค์ความรู้จากการวิจัยผลผลิตของโครงการหลวง ให้ประชาชนทั่วไปได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ และสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมไปถึงยังได้จัดจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวง ในรูปแบบตลาดนัดไลฟ์สไตล์ร่วมสมัย (flea market) ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

โดยผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดภายในงานล้วนเป็น “อาหารจากแผ่นดิน” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพื่อแก้ปัญหาปากท้องและสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวเขา

อาทิ “กาแฟอราบิก้า” ที่เป็นพืชยืนต้นชนิดแรก ที่โครงการหลวงได้นำมาศึกษาวิจัยและส่งเสริม โดยเริ่มต้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเมล็ดกาแฟที่ชาวไทยภูเขานำมาถวาย คืนให้แก่ชาวไทยภูเขาเพื่อให้ชาวไทยภูเขานำเอาไปปลูกต่อ เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น และสร้างรายได้ให้แก่ชาวไทยภูเขา เมื่อในปี พ.ศ. 2517 ซึ่งโครงการหลวงได้นำมาเป็นต้นแบบการผลิตกาแฟอราบิก้ามาจากประเทศโคลอมเบีย เนื่องจากประเทศโคลอมเบียมีสภาพภูมิประเทศใกล้เคียงกับพื้นที่สูงของประเทศไทย

ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้าในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 24 ศูนย์ บนพื้นที่ 9,491 ไร่ และมีเกษตรกรในโครงการประมาณ 2,602 ราย มีผลผลิตผ่านโครงการหลวงปีละประมาณ 400-500 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้เป็นอย่างดี

ในส่วนการปลูกกาแฟอราบิก้า มีวิธีการปลูกแบบผสมผสานกับพืชท้องถิ่นภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ยืนต้นตามธรรมชาติ บนพื้นที่ที่มีความสูงกว่า 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เพื่อเป็นการเสริมรายได้ให้แก่ชาวไทยภูเขาและรักษาสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมด้วย

“พื้นที่ปลูกชา บ้านขุนแม่วาก” เป็นสถานีหน่วยย่อยของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) และเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้ามาส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาหันมาปลูกต้นชาแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งหน่วยย่อยนี้ เป็นพื้นที่ปลูกชาเบอร์สิบสอง หรือชาหยวนจือ (ชาอู่หลง) โดยต้นชาของที่นี่มีอายุประมาณเกือบ 20 ปีแล้ว เพราะมีการเริ่มต้นปลูกชากันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โดยในหนึ่งปีจะสามารถเก็บชาได้ประมาณ 5 ครั้ง และในแต่ละครั้งของการเก็บยอดชาจะมีระยะเวลาห่างกันครั้งละประมาณ 2 เดือน เนื่องจากต้นชาหยวนจือ เป็นต้นไม้ยืนต้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องปลูก-ถอนบ่อย

นอกจากการปลูกชาแล้ว พื้นที่ปลูกชาบ้านขุนแม่วากยังเป็นสถานที่แปรรูปยอดชาสดแบบครบวงจรอีกด้วย โดยใบชาที่ผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นใบชาพร้อมชงดื่มแล้วจะถูกนำไปขายในร้านค้าของโครงการหลวง

นอกจากของกินยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง “สวนกุหลาบหลวงห้วยผักไผ่” เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ตั้งอยู่ในตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติเพื่อดำเนินการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม ลดการทำลายพื้นที่ป่าจากการทำไร่เลื่อนลอย

ปัจจุบันภายในสวนกุหลาบหลวงห้วยผักไผ่ มีกุหลาบทั้งหมดประมาณ 183 สายพันธุ์ และภายในสวนได้ตกแต่งในสไตล์อังกฤษ ซึ่งพันธุ์กุหลาบส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่มีช่อและกลิ่นหอม สวนกุหลาบหลวงห้วยผักไผ่ถือได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ ที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวให้สัมผัสกับความงดงามของกุหลาบหลากสีสันนานาพันธุ์

“ฟาร์มแกะดอยอินทนนท์” ตั้งอยู่ที่สถานีหน่วยย่อยผาตั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่ขนาด 120 ไร่ บนความสูง 1,480 เมตรจากระดับน้ำทะเล ได้เริ่มต้นการศึกษาวิจัยการเลี้ยงแกะเมื่อปี 2553 โดยได้ขอพันธุ์จากปศุสัตว์แม่ฮ่องสอน ในครั้งแรกเริ่มมีแกะอยู่เพียง 32 ตัว แต่ในปัจจุบันมีแกะทั้งหมดประมาณ 160 ตัว ซึ่งประกอบด้วยแกะ 3 สายพันธุ์ คือ แกะพันธุ์บอนด์, ดอร์เซต และแกะลูกผสมพันธุ์พื้นเมือง โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแกะ คือ ผ้าทอขนแกะ ผ้าคลุมไหล่ ถุงย่าม หรือผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น

สำหรับผู้ที่สนใจผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวง สามารถเข้าร่วมงาน “อาหารจากแผ่นดิน” งานนี้พารากอนขนสินค้าลงจากดอยมาไว้ในศูนย์การค้า ระหว่างวันที่ 23-30 พฤศจิกายน 2560 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน