หนึ่ง-จักรวาล มีวันนี้ ได้ เพราะเพียรพยายาม จากขอเล่นฟรี…สู่นักดนตรีแถวหน้า-

หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม ผู้โด่งดังเป็นที่รู้จักของมหาชนจากบทบาทคอมเมนเตเตอร์รายการ I Can See Your Voice และ The Mask Singer

แต่ก่อนหน้านั้นเขาเป็นนักเปียโน เป็นนักเรียบเรียงดนตรี เป็นโปรดิวเซอร์ เป็นมิวสิกไดเร็กเตอร์ เป็นแทบจะทุกตำแหน่งในกระบวนการผลิตดนตรี และเป็นอย่างมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในแวดวงดนตรีมานานหลายปี

จากความสำเร็จอันปรากฏขึ้นมาเด่นชัดในช่วงเวลาปีสองปีนี้ ทำให้หนึ่ง จักรวาล เป็นนักดนตรีงานชุกที่ผู้จัดอยากคว้าตัวเขาไปขึ้นเวที

ไม่เฉพาะเวทีคอนเสิร์ต และรายการประกวดร้องเพลงเท่านั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้หนึ่งได้ข้ามสายมาขึ้นเวทีสัมมนา “Passion To Profit พลิกมุมคิด…สร้างธุรกิจให้ติดลม” ซึ่งหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์

บนเวทีนี้วิทยากรทุกคนเป็นนักธุรกิจ ยกเว้นหนึ่งคนเดียวที่เป็นนักดนตรี แต่ที่ทีมจัดงานเลือกเขามา ให้เขาแชร์ประสบการณ์ชีวิตที่ต้องอดทนและเพียรพยายามอย่างมากกว่าจะประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ฟัง ให้ได้เห็นว่าในการทำธุรกิจอาจจะเจออุปสรรคมากมาย คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่คนทำธุรกิจต้องมีก็คือความอดทนและความพยายาม

หนึ่งเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงชีวิตวัยเด็กว่าบ้านอยู่ในสลัมคลองเตย พ่อเป็นคนขาพิการ ทำงานขับรถรับจ้างเลี้ยงครอบครัว ส่วนแม่เป็นคนไม่มีการศึกษา ไม่มีอาชีพ ฐานะทางบ้านยากจนและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นยุคมืดสุด ๆ ของสลัมคลองเตยที่เต็มไปด้วยยาเสพติด

ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น หนึ่งบอกว่า “งง ๆ อยู่เหมือนกันที่รอดมาได้ เพื่อนรุ่นเดียวกันตอนนี้เสียชีวิตหมดแล้ว เพราะว่าทุกคนติดยา”

แต่ฟังต่อไปก็รู้ว่าที่เขารอดมาได้ ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เขามีสิ่งหนึ่งเป็นแสงสว่างนำทางก็คือ “ดนตรี” ที่เขาซึมซับมาจากพ่อซึ่งเป็นครูสอนร้องเพลงให้นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง อย่าง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ชินกร ไกรลาศ สายัณห์ สัญญา พุ่มพวง ดวงจันทร์

“ในสมัยนั้นเราไม่คิดว่านักร้องเหล่านี้คือซูเปอร์สตาร์ เราเด็กมาก ไม่รู้เรื่อง ผมนั่งฟังคุณพ่อร้องเพลง เห็นคุณพ่อสอนคุณอาแต่ละคน พ่อบอกว่าวิธีการเล่นดนตรี การร้องเพลง คือการจินตนาการ บ้านเราไม่มีตังค์ซื้อคีย์บอร์ดหรือเครื่องดนตรีสักอย่าง ไม่มีตังค์ส่งเสียเราเรียนดนตรี ให้เราใช้จินตนาการ ใช้หูฟังและสังเกต ในชีวิตช่วงหนึ่งเคยมีคีย์บอร์ดตัวเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถเล่นคอร์ดได้ เล่นได้ทีละตัว เวลาคุณพ่อสอนคุณอาร้องเพลง ก็บอกให้เรากดโน้ตตาม ให้เราหาจากเสียงนั้นให้เจอ พ่อบอกให้สังเกต พยายามเก็บบรรยากาศตรงนั้น แล้วดึงเสียงพวกนั้นมาสู่จินตนาการของเรา

ทำตามคุณพ่อไปเรื่อย ๆ สักพักหนึ่งพ่อก็บอกให้ทำวงลูกทุ่งเล็ก ๆ ตอนอายุ 7 ขวบ ให้ไปเล่นตามบ้านเพื่อนพ่อ งานโกนจุก งานขึ้นบ้านใหม่ งานวันเกิด ผมเล่นออร์แกน มีคุณอาแต่ละท่านมาร้องเพลงให้ ทุกวันของการเล่น เราได้เห็นผู้คนมากมายผลัดกันหมุนเวียนเข้ามาร้องเพลง ร้องโดยที่ไม่ถามผมสักคำว่าผมเล่นได้รึเปล่า (เรียกเสียงหัวเราะดังทั่วห้อง) เล่นทุกวันจนรู้สึกว่าผูกพัน ผมคิดว่าต้องเอาตัวรอดแต่ละวันให้ได้ มันก็เลยเป็นเกมอย่างหนึ่งของผม เพลงไหนเล่นได้ก็เล่นไป เล่นไม่ได้ก็ต้องเล่นให้ได้ เล่นมั่วไป” นั่นคือชีวิตวัยเด็กของหนึ่ง จักรวาล

จากนั้นเขาได้เรียนดนตรีจริงจังตอน ม.1 ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์

“พ่อบอกให้ไปเรียนเปียโน ไปวันแรก ครูถามว่าใครจะเรียนเปียโน ทุกคนยกหมดเลย มีผมคนเดียวที่ไม่ยก เพราะผมไม่รู้จักเปียโน ผมรู้แต่ว่าไอ้ที่ผมเล่นที่บ้านมันคือคีย์บอร์ดและออร์แกน แล้วผมก็โดนจับเรียนไวโอลิน จบเอกไวโอลินมา”

แต่เขาก็พยายามขวนขวายหาวิธีเรียนเปียโนจนได้

“วิธีการเรียนเปียโนของผมคือ ไปแอบดูครูซ้อมครับ เราไปเล่นเองไม่ได้ เพราะว่ากฎเหล็กของวิทยาลัยนาฏศิลป์คือห้ามจับเครื่องมือที่ไม่ใช่วิชาเอกของเรา วันที่สองของการเรียน ผมมาโรงเรียนเช้ามาก ตีห้าครึ่ง ผมได้ยินเสียงเปียโนลอยมา ผมก็เดินตามเสียงเปียโนไปถึงห้องซ้อมเปียโน มีครูท่านหนึ่งนั่งเล่นเปียโนอยู่ มีหนังสือเพลงอยู่ข้างหน้า เราเข้าไปไม่ได้ก็แอบดูจากข้างหลัง แล้วก็เอาเงินที่หาได้จากการเก็บเศษกระดาษ เศษเหล็ก เก็บขวดชั่งกิโลขายไปซื้อหนังสือโน้ตเพลงเล่มนี้ แล้วกลับมาที่เดิม แอบฟังครูเล่นเปียโน เปิดหนังสือหน้าเดียวกันแล้วยืนมอง แล้วก็แอบมาเล่นอีกห้องหนึ่ง คิดว่าถ้าครูได้ยินแล้วมาด่าก็ไม่เป็นไร ยอม

ครั้งแรกที่ได้นั่งเก้าอี้เปียโน เปิดหนังสือ อ่านโน้ตไม่ออก ซื้อมาทำไม แล้วคำสอนของพ่อเข้ามา เวลาเล่นดนตรีอะไรก็แล้วแต่ …ฟัง เราก็กลับไปดูว่าครูเปิดหน้าไหนแล้วฟังว่าเสียงเป็นยังไง แล้วสังเกตว่าเสียงแบบนี้โน้ตมันเป็นแบบนี้ แล้วก็กลับไปเล่นอีก วิ่งไปวิ่งมาแบบนี้อยู่ 3 เดือน แต่ในใจคิดว่าเราจะทำแบบนี้ตลอดชีวิตไม่ได้ เราต้องเข้าใจให้เร็วที่สุด ก็เลยเอาตัวไปลงสนามจริง ขอพ่อแม่ไปเล่นในคาเฟ่เดือนแรกเล่นโดยไม่เอาเงิน ไปนั่งอยู่ข้างมือคีย์บอร์ด เพลงไหนเล่นได้ก็ขอเขาเล่น เพลงไหนเล่นไม่ได้ก็นั่งดูแล้วถามเขา

พอเดือนที่สองเริ่มมีวิชาความรู้ ย้ายไปเล่นอีกที่หนึ่ง แต่เตรียมใจไว้แล้วว่าโดนนักร้องด่าแน่นอน ก็เป็นไปตามความตั้งใจ นักร้อง 10 คนรุมด่า เพราะเล่นได้บ้างไม่ได้บ้าง 3 เดือนเสียงด่าเงียบ มันเหมือนเป็นพี่น้องกันแล้ว เขาบอกวันนี้เล่นไม่ได้ไม่เป็นไร เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เล่นได้ แต่ในความรู้สึกเรามันไม่ได้ ใจต้องสู้ มันเหงาไม่มีใครด่า ก็คิดว่าต้องไปที่ที่หนักกว่านี้ ไปอีกคาเฟ่หนึ่ง มีนักร้อง 20 คน เหตุการณ์ก็เหมือนเดิมครับ 3 เดือนเสียงด่าเริ่มเงียบ ก็ต้องไปหาที่อื่น”

หนึ่งเล่นดนตรีกลางคืนมาเรื่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์พัฒนาฝีมือ จากเล่นคาเฟ่ ขยับไปเล่นผับคนจีนที่ลูกค้ามีแต่คนจีน เล่นไปเรื่อย ๆ ได้ไปเล่นดนตรีให้ศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียง แล้วเริ่มมีทักษะความสามารถในการทำเพลงเอง

“ความสามารถด้านการเป็นมิวสิกไดเร็กเตอร์มันมาจากผมอยากแต่งเพลงได้ ทำดนตรีได้ ตามความฝันของพ่อ แต่เราไม่มีปัญญาไปเรียน เราก็อาศัยประสบการณ์จากสิ่งที่เราได้โอกาส สมมุติผมเล่นให้ศิลปินท่านหนึ่ง เวลาขึ้นคอนเสิร์ตแต่ละครั้งต้องแกะเพลงเล่นตามในแผ่น แต่ผมรู้สึกว่าเล่นทุกวันมันเบื่อครับ และคิดว่าถ้าเราแก่แล้วใครจะมาจ้างเราต่อ เราเลยคิดว่าต้องเอาเวลาที่มีอยู่ทำให้มันมีค่าที่สุด ด้วยความซนก็เอาเพลงมานั่งทำที่บ้าน (เอาเพลงเดิมมาเรียบเรียงดนตรีใหม่) แล้วก็ซ้อมกับเพื่อน ผมโดนเพื่อนด่าว่าทำทำไมวะ ทำไปก็เหนื่อยเปล่า ผมก็ไม่เป็นไร วันนี้ทำฟรีแต่วันหน้าคงไม่ฟรีหรอก”

หนึ่งบอกว่า ศิลปินหลายคนที่เขาร่วมงานด้วยมีส่วนในการสร้างชื่อเสียงความสำเร็จของนักดนตรีชื่อ หนึ่ง จักรวาล เขาอธิบายว่า ตัวเขาเองเป็นเพียงนักดนตรีคนหนึ่ง หากนักร้องที่อยู่หน้าเวทีไม่ให้เกียรติพูดถึง และแนะนำชื่อเขาให้คนดูได้ยิน ก็คงไม่มีใครสนใจนักดนตรีที่เล่นอยู่ด้านหลังนักร้อง แต่เขาได้รับเกียรติจากศิลปินทุกคนที่เอ่ยชื่อเขาจนผู้ชมคุ้นชื่อ

นอกจากการเล่นดนตรีหาเงินช่วยครอบครัวแล้ว หนึ่งก็มีแพสชั่นเกี่ยวกับดนตรีอย่างแรงกล้าเหมือนนักดนตรีคนอื่น ๆ เขาเล่าว่า เวลาซื้อเทปมาแกะเพลง เขาอ่านเครดิตคนทำเพลงในปกเทปแล้วจดชื่อนักดนตรี โปรดิวเซอร์ มิวสิกไดเร็กเตอร์ รายชื่อทีมงานทำเพลงที่เขาได้ยินชื่อบ่อย ๆ และจดรายชื่อศิลปินที่เขาอยากร่วมงานด้วยใส่สมุดไว้

“ผมคาดหวังไว้ว่าวันหนึ่งผมจะออกตามล่าฮีโร่ของผมทุกคน ลิสต์ยาวมาก จนวันนี้ผมได้ครบหมดทุกคนแล้ว คนสุดท้ายที่เก็บได้คือ พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์” หนึ่งเล่าอย่างมีความสุข

จากนักดนตรีที่ตั้งเป้าจะขึ้นเวทีเล่นดนตรีกับฮีโร่ของตัวเอง วันนี้ หนึ่ง จักรวาล เป็นฮีโร่ที่นักดนตรีมากมายอยากร่วมเวทีด้วย

ช่วงท้ายของเวทีพูดคุยวันนั้น ป๊อด โมเดิร์นด็อก ขึ้นมาร้องเพลงโดยมีหนึ่งเป็นคนบรรเลงดนตรี หลังจบเพลงป๊อดพูดถึงหนึ่งว่า

“เขาเป็นนักดนตรีที่มีความแพรวพราวมาก ผมคิดว่าเขาเป็นตัวจริงของวงการดนตรี และเป็นผู้ที่มีความเพียร เป็นผู้ที่แสดงตัวตนออกมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนทุกคนเห็นในวันหนึ่ง มวลประชาชนทั้งหลายอาจจะเพิ่งเห็นพี่หนึ่งในช่วงที่ผ่านมา แต่จริง ๆ พี่หนึ่งทำมานานมากแล้ว แล้ววันหนึ่งสิ่งที่พากเพียรมันก็ได้ปรากฏออกมา”

หนึ่งเสียงจากศิลปินดังที่การันตีความเป็นคนดนตรีคุณภาพของหนึ่ง จักรวาล ได้ครอบคลุมทุกแง่มุม