SMEs ญี่ปุ่นเข้าคิว “ปิดตัว” สังคมสูงอายุ “ขาดผู้สืบทอด”-

สังคมญี่ปุ่นที่ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวส่อเค้าปัญหาหนักขึ้น ล่าสุดมีรายงานออกมาว่า อนาคตอันใกล้ธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 1.2 ล้านกิจการ มีความเสี่ยงจะปิดตัวลง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีทายาทสืบทอดต่อ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งจะทำให้ญี่ปุ่นสูญเสีย “นวัตกรรม” สำคัญต่าง ๆ ไปด้วย

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่ากระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการหรือผู้ดูแลธุรกิจจะเป็นผู้สูงอายุระหว่าง 65-69 ปี และคาดว่าในปี 2025 กว่า 60% ของกิจการเอสเอ็มอี 2.45 ล้านแห่ง จะมีผู้ดูแลกิจการที่มีอายุ 70 ปีหรือมากกว่านั้น และในจำนวนนั้นราว 1.27 ล้าน บริษัทระบุว่าพวกเขาไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ทำให้กิจการอาจต้องยุติลงเมื่อพวกเขาเกษียณ

รายงานระบุว่า การยุติกิจการดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ในปี 2025 ญี่ปุ่นอาจสูญเสียงานกว่า 6.5 ล้านตำแหน่ง และสูญเสียจีดีพีไปอีกกว่า 194,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากผลสำรวจของ “Tokyo Shoko Research” ระบุว่า ในปี 2016 มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในญี่ปุ่นปิดตัวไป 29,583 ราย หนึ่งในเหตุผลหลัก ๆ มาจากปัญหาประชากรที่ลดลงและ สังคมผู้สูงอายุทำให้ไม่มีผู้สืบทอดกิจการ และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2007 ที่มีการปิดกิจการไปประมาณ 21,000 ราย

และสำหรับปีนี้สถานการณ์ก็ไม่ต่างไปจากเดิม หลายกิจการยังทยอยปิดตัว ขณะที่ศาสตราจารย์อิชิโร ยูเอะสึกิ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัย ฮิโตสึบาชิ ระบุว่า หากการปิดตัวของกิจการที่ประสบปัญหาขาดทุนถือว่าเป็นเรื่องถูกต้อง แต่สำหรับธุรกิจที่มีกำไรต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาที่ “ไม่มีคนสืบทอดกิจการ” สิ่งนี้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยรวมในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มีหลายบริษัทได้หาผู้สืบทอดจากภายนอกตระกูลเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ผู้ผลิตสาเกเซมปุกุ “มิยาเกะ คิโยสุกุ” ได้จ้างคนที่มาจากบริษัทตัวแทนจัดหางานมาช่วยบริหารงาน เนื่องจากลูกชายของเขายังอยู่ในวัย 20 ปีเศษเท่านั้น จึงคิดว่าหากมีใครสักคนที่เข้ามาช่วยวางแผนระยะกลางได้ก่อนก็จะดี

นี่จึงกลายเป็นความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวงของรัฐบาล หากญี่ปุ่นสูญเสียกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ไป เพราะไม่ใช่เพียงแค่ “อุตสาหกรรมญี่ปุ่น” จะอ่อนแอลงเท่านั้น แต่จะกลายเป็นว่า ญี่ปุ่นได้สูญเสีย”นวัตกรรม” ต่าง ๆ

เช่นเมื่อราว 2 ปีก่อนหน้านี้ บริษัทผู้ผลิตชอล์กเทคโนโลยีไร้ฝุ่น “ฮาโกโรโม” ได้ปิดตัวลงท่ามกลางความเสียดายของคนทั่วโลก โดยเฉพาะบรรดานักคณิตศาสตร์ ทำให้ “ทาคายาสุ วาตานาเบะ” ประธานบริษัทได้ตัดสินใจปิดตัวกิจการลงเนื่องจากไร้ผู้สืบทอด

“เราได้รับแฟกซ์และโทรศัพท์มากมาย และเราแทบจะรับมือกับออร์เดอร์ที่เข้ามาไม่ไหว” วาตานาเบะกล่าวถึงช่วงเวลาเมื่อ 2 ปีก่อน ภายหลังปิดบริษัทลง เขาส่งต่อเครื่องจักรผลิตชอล์กไปต่อยังเกาหลีใต้

“โอคาโนะ โคเกียว” วัย 84 ปี เจ้าของบริษัทอุตสาหกรรมเหล็ก ผู้ผลิตเข็มฉีดยาเทคโนโลยีขนาดเล็กพิเศษ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวด ในเขตสุมิดะ กรุงโตเกียว ซึ่งก่อตั้งในปี 1924 กล่าวถึงอนาคตของบริษัทว่า เขาคิดถึงเรื่องการปิดกิจการเหมือนกันภายใน 2 ปีข้างหน้า

ธุรกิจที่โอคาโนะก่อตั้งมานาน ได้กลายเป็นต้นแบบของเทคโนโลยีด้านเบ้าหลอมและแรงดัน ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อื่น ๆ และบริษัทอุตสาหกรรมอื่น ๆ นำไปใช้ แม้ว่าจะมีความสำคัญระดับนี้ แต่โอคาโนะก็บอกถึงโอกาสในการปิดตัวว่า “เขามีลูกสาว2 คน ซึ่งเลือกทางเดินชีวิตอื่น ดังนั้นภายหลังจากเขาเกษียณ กิจการผลิตเข็มฉีดยาจะถูกควบรวมไปกับบริษัท “เทรุโม” ซึ่งผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และแชร์สิทธิบัตร รวมถึงไลน์การผลิตกับบริษัทของโอคาโนะมาก่อนหน้านี้

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามสร้างเทรนด์การหาผู้สืบทอดกิจการจากภายนอกบริษัท โดยหอการค้าญี่ปุ่นได้ให้คำปรึกษาบริษัทต่าง ๆ เรื่องผู้สืบทอดไปแล้วกว่า 800 กรณี และคาดว่าจำนวนผู้ต้องการรับคำปรึกษาจะเพิ่มถึงปีละ 2,000 กรณีใน 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอดกิจการ ด้วยการออกกฎหมายลดภาษีในการซื้อหรือควบรวมกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงการสนับสนุนนโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากลงทุนในธุรกิจของครอบครัวต่อไป

อีกทางรอดหนึ่งซึ่งมีข้อเสนอแนะว่า ทางการญี่ปุ่นควรจะเปิดโอกาสสำหรับกิจการที่ต้องการควบรวมหรือส่งไม้ต่อ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าถึงและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่นที่ในประเทศฝรั่งเศสมีการจัดตั้งเครือข่ายออนไลน์สำหรับบริษัทที่ต้องการขายกิจการ


ประเทศในเอเชียหลายแห่งมีความสนใจในกิจการของญี่ปุ่น ดังนั้นทางออกจาก “ต่างแดน” อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด และช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังดำเนินต่อไปได้