“บีเอซี” เล็งระดมทุน 1.5 พัน ล. ขยายโรงเรียนการบินรับอุตฯท่องเที่ยวโต-

คืบหน้า - ศูนย์ฝึกสนามบินนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 ของกลุ่มบีเอซี ต่อจากศูนย์ฝึกนครนายก คลอง 15ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% โดยคาดว่าน่าจะสามารถเปิดให้บริการในช่วงประมาณกลางปี 2561 ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการได้จะทำให้บีเอซีสามารถผลิตนักบินได้เพิ่มขึ้นเป็น 350 คนต่อปี

“บีเอซี” เร่งขยายกิจการโรงเรียนการบิน เผยเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯต้นปี”62 ระดุมทุน 1.5 พันล้านเพิ่มศูนย์ฝึกบินแห่งที่ 3 และ 4 “บุรีรัมย์-สกลนคร” ดึงนักเรียนการบินต่างชาติ เสริมทัพที่มีอยู่แล้ว 2 แห่ง หวังเพิ่มกำลังผลิตนักบิน รับอุตฯท่องเที่ยว-การบินโต

นาวาอากาศโทปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (บีเอซี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บีเอซีมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยช่วงต้นปี 2562 เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) โดยตั้งเป้าระดมเงินทุน 1,500 ล้านบาท เพื่อนำไปขยายกิจการโรงเรียนการบิน รองรับการเติบโตของธุรกิจการบินและท่องเที่ยว

ตั้งเป้าระดมทุนในตลาดหุ้นปี’62

โดยปัจจุบันที่บีเอซีมีแล้วศูนย์ฝึกจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฝึกสนามบินนครนายก คลอง 15 และศูนย์ฝึกสนามบินนครราชสีมา โดยมีแผนเพิ่มอีก 2 ศูนย์ฝึกใหม่ คือ ศูนย์ฝึกสนามบินบุรีรัมย์ และศูนย์ฝึกสนามบินสกลนคร

นอกจากนี้ บีเอซียังวางเป้าหมายนำหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯช่วงต้นปี 2562 โดยได้เตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อขอเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ภายในปี 2561 นี้

ประกอบกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ปลดธงแดงให้กับมาตรฐานการบินพลเรือนของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกทำให้บีเอซีมีลูกค้ามากขึ้นด้วย จากปัจจุบันมีลูกค้าจาก 3 สายการบินส่งนักบินมาฝึกกับบีเอซี ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย การบินไทย และไทยสมายล์

บูมสนามบินอีสาน

นาวาอากาศโทปิยะกล่าวด้วยว่า เหตุผลที่บีเอซีต้องการไปลงทุนเพิ่มในภาคอีสานนั้น เนื่องจากมีสนามบินที่รัฐบาลสร้างไว้แล้ว อยู่ภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยาน แต่มีหลายแห่งที่ไม่ได้ใช้งานเชิงพาณิชย์ในปริมาณมากนัก เช่น สนามบินนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสกลนคร ซึ่งทั้ง 3 แห่งมีสายการบินใช้บริการน้อย จึงเป็นโอกาสดีที่บีเอซีจะไปขอใช้พื้นที่ เพื่อทำการฝึกนักบิน โดยไม่รบกวนวงจรขึ้นลงของสายการบิน

นอกจากนี้ ทั้ง 3 สนามบินดังกล่าวยังมีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์และสถานที่ เช่น เครื่องช่วยเดินอากาศที่ครบครัน ทางวิ่ง (รันเวย์) กว้าง เอื้อต่อการฝึกอย่างมาก อาทิ ศูนย์ฝึกสนามบินนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าแล้วกว่า 60% กำหนดเปิดวันที่ 1 กรกฎาคมปี 2561 ศูนย์ฝึกแห่งนี้ทำให้ทางบีเอซีวางเป้าเพิ่มกำลังการผลิตนักบินอีก 250 คนต่อปี จากปัจจุบันผลิตได้ 280 คนต่อปี รวมเป็น 530 คนต่อปี

โดยก่อนหน้านี้ บีเอซีได้เข้าไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาฝีมือช่างซ่อมอากาศยานผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ในการส่งนักศึกษาเข้ามาเป็นช่างซ่อมบำรุง โดยบีเอซีต้องการทีมช่างมากกว่า 60 คน เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบิน 50 ลำ โดยนักศึกษาจะใช้เวลาฝึกระหว่างปฏิบัติงาน (on the job training) กับบีเอซี เป็นเวลา 1-2 ปี และได้รับประกาศนียบัตรเพื่อนำไปขอใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงเครื่องบิน เพื่อไปทำงานกับสายการบินอื่น ๆ ต่อไป

ลงทุนศูนย์ฝึกบุรีรัมย์-สกลนคร

สำหรับแผนลงทุนศูนย์ฝึกใหม่ที่สนามบินบุรีรัมย์และสกลนครนั้น นาวาอากาศโทปิยะกล่าวว่า จะเป็นโมเดลเดียวกับที่นครราชสีมาและนครนายก คลอง 15 โดยค่าใช้จ่ายเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ศูนย์ฝึกสนามบินนครราชสีมา อยู่ที่ 200 ล้านบาท คาดว่าที่บุรีรัมย์และสกลนคร น่าจะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ในกรอบใกล้เคียงกัน

ส่วนค่าใช้จ่ายหนักจริง ๆ จะเป็นค่าเครื่องบิน โดยทางโรงเรียนวางแผนสั่งซื้อเครื่องบินใหม่จำนวน 50 ลำ สำหรับศูนย์ฝึกสนามบินนครราชสีมา ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ลำละ 15 ล้านบาท รวม 750 ล้านบาท ดังนั้นศูนย์ฝึกบิน 1 แห่ง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 1,000 ล้านบาท

“ถ้าบีเอซีเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และระดมทุนได้ 1,500 ล้านบาทตามเป้าหมายเราจะนำไปลงทุนศูนย์ฝึกบินแห่งที่ 3 และ 4 คือ ที่บุรีรัมย์และสกลนคร เพื่อขยายตลาดไปยังชาวต่างชาติมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีชาวจีนสนใจมาเรียนมากที่สุด เพราะจีนเป็นประเทศที่มีคำสั่งซื้อและรับมอบเครื่องบินสูงสุดในโลก จีนจึงยังขาดนักบินอีกจำนวนมาก”

รอ “โบอิ้ง” รับรองมาตรฐาน

นาวาอากาศโทปิยะกล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด โบอิ้งได้เข้ามาเยี่ยมชมการดำเนินงานของบีเอซีไปแล้ว 2 รอบ และเตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบมาตรฐานโรงเรียนการบินของบีเอซีในอีก 2 เดือนข้างหน้า หรือภายในเดือนธันวาคมนี้ หากผลการตรวจสอบเป็นไปตามมาตรฐาน ทางโบอิ้งจะเข้ามาสนับสนุน พร้อมแนะนำให้ลูกค้าสายการบินพันธมิตรส่งนักบินมาฝึกอบรมด้วย

ทั้งนี้ บีเอซีเตรียมนำเสนอผลการตรวจสอบจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งนำมาตรฐานของสำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป (EASA) มาทดสอบบีเอซี โดย กพท.ได้ให้คะแนนแก่บีเอซี 98 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม ให้ทางโบอิ้งพิจารณาด้วย


“ทางโบอิ้งเล็งเห็นปัญหาอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอยู่ในภาวะขาดแคลนนักบิน จึงสนใจมาตรวจสอบมาตรฐานโรงเรียนการบินในไทย เพราะตั้งอยู่ในเอเชียซึ่งมีลูกค้าสายการบินจากภูมิภาคนี้สั่งซื้อเครื่องบินมากถึง 35% ของรายการผลิตทั้งหมด และมองว่าเอเชียมีศักยภาพในการผลิตนักบิน จึงเป็นโอกาสที่ดีของบีเอซี ในการกระโดดเข้าไปเล่นตลาดระดับนานาชาติ” นาวาอากาศโทปิยะกล่าวและว่า ปัจจุบันโบอิ้งได้รับรองมาตรฐานให้แก่โรงเรียนการบิน 6 แห่งในโลก มีที่สหรัฐอเมริกา 3 แห่ง ออสเตรเลีย 2 แห่ง และในอเมริกาใต้อีก 1 แห่ง