ราชาผู้ทรงธรรม-

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลศักดิ์ สมรรคะบุตร

 

กว่า 7 ทศวรรษ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชสมบัติ อันเป็นห้วงเวลาที่ยาวนานที่สุดในโลก ปรากฏพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอภิปรัชญาในการพัฒนา

นับเนื่องจากพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อันเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่คนทั้งโลก นับตั้งแต่วันแรกที่เสด็จขึ้นทรงราชย์

“ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือ การที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้านั่นคือ…คนไทยทั้งปวง” ข้อความจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ แต่หน้าที่ของข้าพเจ้าไม่ใช่หน้าที่ของกษัตริย์ เป็นสิ่งยากที่จะระบุ…ข้าพเจ้าเพียงแค่ทำสิ่งต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานสัมภาษณ์แก่ BBC

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ฉันถือว่า ฉันเป็นพลเมืองคนหนึ่งซึ่งมีตำแหน่ง…ตราบใดที่ยังอยู่ในตำแหน่งนี้…ตราบนั้นฉันต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สมบูรณ์”

หรือในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสตอบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หลังทรงถูกถามว่าเคยทรงเหนื่อยหรือทรงท้อบ้างหรือไม่ “…ความจริงมันน่าท้อถอยหรอก…บางเรื่องมันน่าท้อถอย…แต่ว่าฉันท้อไม่ได้เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านคือเมือง…คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”

“การทำความดีนั้น…โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า…แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่…ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว” พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรี ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙

“…ความสุขความเจริญนี้ แม้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ในวิถีชีวิตของคนเรานั้น ย่อมต้องมีทั้งสุขและทุกข์ ทั้งความสมหวังและผิดหวัง เป็นปรกติธรรมดา ทุกคนจึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมการให้พร้อมอย่าประมาท…” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๙ วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

“การปิดทองหลังพระนั้น… เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนักเพราะนึกว่า ไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย…พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…” พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖

และพระราชดำรัสทรงประทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ณ วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2540 ความว่า “พอเพียงนี้อาจจะมีมาก….อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ต่อปวงพสกนิกรชาวไทย