บทบาทที่ปรึกษาบริหารโครงการกับการพัฒนาสนามบิน เป็นศูนย์กลางขนส่งทางอากาศในอาเซียน-

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย ไกรฤทธิ์ ฉายไธสง ไพบูลย์ หาญวัฒนานุกุล TEAM GROUP

 

นโยบายและศักยภาพด้านการขนส่งทางอากาศไทย การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอำนาจซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นของประชากรในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ส่งผลให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศอาเซียนมากยิ่งขึ้น และเกิดการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวในประเทศอาเซียน

แนวนโยบายของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ กระทรวงคมนาคม รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) กำหนดแนวทางชัดเจนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรวมถึงเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางอากาศและธุรกิจการบินที่เกี่ยวเนื่อง

ประเทศไทยมีจุดแข็งที่จะช่วยส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางอากาศและธุรกิจการบินที่เกี่ยวเนื่องได้มากมาย อาทิ ทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางกลุ่มอาเซียน เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว มีโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ดี มีสายการบินให้บริการครอบคลุมทุกระดับ เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาสนามบิน ให้มีศักยภาพรองรับนโยบายดังกล่าว นับเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ

ปัจจุบันประเทศไทยมีสนามบินน้อยใหญ่ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ 38 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ อยู่ในความดูแลของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 6 แห่ง กรมท่าอากาศยาน จำนวน 28 แห่ง กองทัพเรือ จำนวน 1 แห่ง และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 แห่ง และกำลังอยู่ในแผนพัฒนาอีกหลายแห่ง

บทบาทที่ปรึกษาบริหารโครงการกับการพัฒนาสนามบิน ในโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ หรือการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของสนามบินเดิม ล้วนมีเป้าผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาโครงการโดยทั่วไปเหมือนกันใน 4 ด้าน ได้แก่ การควบคุมระยะเวลาก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน การควบคุมมูลค่าการลงทุนให้อยู่ในงบประมาณที่กำหนด การควบคุมขอบข่ายของงานพัฒนามีความครบถ้วน และการควบคุมคุณภาพของงานให้ได้มาตรฐานสากล มาตรฐานทางการเงิน และเป็นไปตามข้อกำหนดหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การจะทำให้สัมฤทธิผลทั้ง 4 ด้านดังกล่าว จะต้องมีการวางแผนงานที่ดี โดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารโครงการ ด้านการเงิน หลักการที่ถูกต้องทางวิศวกรรม วิชาการ ลูกค้าหลากหลายครอบคลุมทุกด้านของสนามบิน ในการพัฒนาและในระหว่างดำเนินงานต้องเฝ้าติดตามประเมินผลเป็นระยะ ๆ ว่ามีงานส่วนใดไม่เป็นไปตามแผน พร้อมนำปัญหานั้น ๆ มาวิเคราะห์หาสาเหตุและหาแนวทางแก้ไข รวมทั้งหาแนวทางป้องกันในเรื่องดังกล่าว ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

ที่ปรึกษาด้านการบริหารโครงการก่อสร้าง (Project Management Consultants : PMC) คือ คำตอบในเรื่องนี้ โดยการให้บริการประเภทนี้อยู่บนหลักการที่ว่า ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานเจ้าของโครงการสนามบินขาดบุคลากรหรือไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารโครงการก่อสร้าง จึงว่าจ้าง บริษัทที่ปรึกษา ซึ่งมีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารและควบคุมโครงการมาเป็นตัวแทน ในการบริหารจัดการโครงการให้เป็นไปตามเป้าทั้ง 4 ด้านดังกล่าว

รูปแบบการบริหารโครงการพัฒนาก่อสร้างสนามบินโดยทั่วไป จะเหมือนกับโครงการก่อสร้างประเภทอื่น ๆ โดยเป็นการบริหารกิจกรรมในโครงการทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การวางแผนองค์ประกอบต่าง ๆ ของโครงการ การจัดหาผู้รับจ้างเข้ามาร่วมปฏิบัติงานให้ครบทุกองค์ประกอบ การออกแบบรายละอียด การก่อสร้าง ไปจนถึงขั้นตอนการตรวจสอบ การฝึกอบรมบุคลากร การทดลองใช้งานจริง การตรวจรับผลงานและการตรวจสอบงานในช่วงรับประกันผลงานอย่างเป็นระบบ

รายละเอียดภารกิจขอบเขตการดำเนินงานมีดังนี้

1.จัดทำแผนงานหลัก (Project Master Schedule) แผนการดำเนินงานย่อย (Operation Plan) และแผนงบประมาณ (Budget Plan) ร่วมกับเจ้าของโครงการ ให้ครอบคลุมตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโดยสมบูรณ์ 2.ประสานงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการ ให้ดำเนินงานเป็นไปตามหลักวิชาการ ได้มาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน ICAO ไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องและให้มีความสอดคล้องราบรื่นในแต่ละขั้นตอน ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการ ประกอบด้วยเจ้าของโครงการ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการบินพลเรือน เทศบาล สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และรวมถึงผู้รับจ้างทุกสัญญาและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

3.ดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างในโครงการ เช่น ที่ปรึกษาวางแผนแม่บทและออกแบบ ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ที่ปรึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น 4.ติดตาม กำกับ ดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างทุกสัญญา ให้ปฏิบัติสำเร็จลุล่วงและเป็นไปตามสัญญา ตามแผนและงบประมาณที่กำหนด

5.ศึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามสัญญาที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งตรวจสอบงาน และเสนอความเห็นให้เจ้าของโครงการใช้ประกอบการตรวจรับมอบงานในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบ และกฎหมาย

6.ให้คำปรึกษาแก่เจ้าของโครงการในระหว่างดำเนินการโครงการโดยตลอด 7.จัดให้มีการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในแต่ละขั้นตอนตลอดระยะเวลาโครงการ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมทั้งมาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีก 8.จัดทำเอกสารรายงานการประชุมและรายงานผลการปฏิบัติงาน สรุปผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานตลอดระยะเวลาโครงการ 9.ตรวจสอบและประเมินผลทางการเงิน เพื่ออนุมัติการเบิกจ่ายเงินงวดของผู้รับจ้างแต่ละราย เพื่อให้ทราบสถานะปัจจุบันทางด้านการเงิน (cash flow) ของโครงการ 10.หาทางไกล่เกลี่ยปัญหาข้อโต้แย้ง ข้อพิพาทที่อาจพึงมี โดยให้ข้อเสนอแนะ และแนวทางการหาข้อยุติปัญหาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ที่ปรึกษาด้านการบริหารโครงการก่อสร้าง (PMC) จะมีบทบาทสำคัญที่จะมาเป็นตัวแทนเจ้าของโครงการ ในการบริหารงานกิจกรรมการก่อสร้างในทุกขั้นตอน เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย นำประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเป็นอีกหนึ่งกลไกช่วยส่งเสริมประเทศไทยก้าวไปเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคอาเซียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างรวดเร็ว