เครือ ซี.พี.-สหพัฒน์ ธุรกิจไทยใต้ร่มพระบารมี ร.9-

ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า มีองค์กรต่าง ๆ มากมายที่เข้ามาดำเนินธุรกิจภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งผ่านมาองค์กรธุรกิจเหล่านี้ยังน้อมนำแนวพระราชดำริ พร้อมกับหลักการทรงงานของพระองค์มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งเหมือนกับ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ปี 2464 ขณะที่ “เครือสหพัฒน์” เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2485 ทั้ง 2 องค์กรถือเป็นยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจ และทั้ง 2 องค์กรมีการเปลี่ยนผ่านการบริหารจากรุ่นสู่รุ่นมาหลายช่วงเจเนอเรชั่น

แต่กระนั้นสิ่งที่ 2 องค์กรยึดมั่นตลอดมาคือ การดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

ร่มพระบารมี 4 รัชกาล

“บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ วัย 80 ปี กล่าวด้วยน้ำเสียงแจ่มใส เมื่อทราบว่าหัวข้อการพูดคุยวันนี้เกี่ยวข้องกับการนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้กับแนวทางในการดำเนินธุรกิจขององค์กร

“ธุรกิจของเราก่อร่างสร้างตัวจากร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดชื่อเฮียบเซ่งเชียง เมื่อ 75 ปีก่อน ที่สำคัญตระกูลโชควัฒนาเป็นคนจีนโพ้นทะเล เติบโตภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 กระทั่งถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 รวมทั้งหมด 4 รัชกาลที่เครือสหพัฒน์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสมอมา”

“ผมบอกพนักงานทุกคนในบริษัทว่า เราโชคดีที่มาอยู่เมืองไทย และสามารถทำธุรกิจมาจนถึงวันนี้ เพราะในหลวงไม่เคยแบ่งแยก หรือกีดกันว่านั่นคนไทย นี่คนจีน ดังนั้น ถ้าถามผมว่าหากเลือกได้ จะอยู่ที่ไหน ผมตอบได้ทันทีว่าเลือกเมืองไทย”

พระราชทานพระครุฑพ่าห์

“บุณยสิทธิ์” เล่าต่อด้วยรอยยิ้มว่า เมื่อนึกย้อนถึงความหลัง ครั้งเคยมีโอกาสชื่นชมพระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กนักเรียน ตอนนั้นผมอายุยังไม่ถึง 15 ปี ครั้งนั้นในหลวง-พระราชินี เสด็จฯเยี่ยมชาวบ้านย่านสำเพ็ง รู้สึกจะหลังเสด็จนิวัติจากสวิตเซอร์แลนด์ คนจีนในสำเพ็งดีใจมาก ทุกคนเห็นหน้าในหลวงก็ดีใจ (ยิ้ม) ผมยังจำภาพวันนั้นได้ดี

“ต่อมาเมื่อมีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกับคุณพ่อ (ดร.เทียม โชควัฒนา) คุณอา และพนักงานอีก 2-3 คน ตอนนั้นคุณพ่อยังพูดภาษาไทยไม่คล่อง เพราะต้องกล่าวถวายรายงาน แต่ในหลวงทรงตั้งใจฟังมาก เพราะเมื่อก่อนบริษัทยังไม่มีชื่อเสียง การเข้าวังเพื่อเข้าเฝ้าฯในหลวงจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก พวกเราดีอกดีใจ เป็นอะไรที่ปลาบปลื้ม หลังเข้าเฝ้าฯเสร็จ จึงชักชวนไปกินโต๊ะจีน เพราะถือเป็นโอกาสสำคัญ”

“แม้ตอนที่ผมแต่งงาน อายุสักประมาณ 30 ปี ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าฯ พระองค์พระราชทานพระให้ผมเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย ยังคงเก็บไว้จนถึงวันนี้ และอีกหนึ่งพระมหากรุณาธิคุณที่ครอบครัวโชควัฒนาได้รับจากในหลวงรัชกาลที่ 9 คือทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานตราตั้งพระครุฑพ่าห์ให้บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประกอบธุรกิจการค้าโดยซื่อสัตย์สุจริต ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี ตรงนี้เป็นความปลาบปลื้ม ความภูมิใจของเครือสหพัฒน์อย่างมาก”

สร้างองค์กรอย่างพอเพียง

“บุณยสิทธิ์” บอกว่า การได้รับพระราชทานตราตั้งมาก็ดีใจ แต่คุณพ่อสั่งสอนเสมอว่า เราต้องทำให้ดี ถึงจะได้สิ่งนี้มา ไม่ใช่ไปขอมาเพื่ออวด แต่ถือเป็นสิริมงคล ซึ่งที่ผ่านมาเราทำดีอยู่ตลอด ไม่เอาเปรียบสังคม มองความเจริญก้าวหน้าของคนไทย เพราะเป็นหน้าที่ของเรา

“ไม่เพียงแต่พระมหากรุณาธิคุณที่ยังคงฝังอยู่ในใจเสมอ หากกลุ่มสหพัฒน์ยังน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วย แม้ตอนแรกอาจไม่ค่อยเข้าใจ แต่เมื่อศึกษา จึงทำให้ทราบว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก เศรษฐกิจพอเพียงหมายความว่าทำเพื่อให้ชีวิตอยู่สบาย ถ้าคนไทยรู้ และเข้าใจ จะนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ได้ตลอด ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร เราจะอยู่ได้”

“เครือสหพัฒน์จึงไม่ฟุ่มเฟือยเลย ลงทุนแต่พอตัว ขอให้อยู่รอด และสามารถเลี้ยงพนักงานได้ ทำธุรกิจเล็ก ๆ แต่มีความสุขอยู่ตลอดเวลา อันนี้สำคัญมาก บางคนมีเงินปั๊บก็ซี้ซั้วใช้ บางคนทำธุรกิจ ยิ่งทำ ยิ่งกลุ้มใจ ไม่มีความสุขเลย ดังนั้น เมื่อใกล้ถึงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมจึงกล้าบอกทุกคนว่าผมคือคนไทยคนหนึ่ง ที่อยากมีส่วนร่วมทำให้ประเทศไทยดีขึ้น ผมหวังเช่นนั้นจริง ๆ”

“ซี.พี.” ตามรอยพระราชดำริ

เฉกเช่นเดียวกับ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ “ซี.พี.กรุ๊ป” องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในประเทศ และอีกกว่า 20 ประเทศ ทั้งยังมีการดำเนินการค้าระหว่างประเทศมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก แต่กระนั้น ในการดำเนินธุรกิจการเกษตร คงยังเกี่ยวเนื่องกับโครงการตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ว่าจะเป็นโครงการเกษตรกรรมผสมผสาน ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา รวมถึงสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์มีส่วนเข้าไปสนับสนุนการศึกษา และแสวงหาความรู้ตั้งแต่ปี 2514 ทั้งในเรื่องการบริหารทั่วไป การผลิต และจำหน่าย

จนทำให้เกิดนโยบายการสร้างธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ ในการเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรกรรมแบบชุมชนดั้งเดิม เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกว่า ผมเติบโตมาจากครอบครัวที่ในบ้านมีแต่รูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผมเห็น และซึมซับมาโดยตลอด ทั้งยังทราบว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเมตตา ทุก ๆ พระราชกรณียกิจ พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเพียร ทุ่มเท เสียสละอย่างแท้จริง แม้กระทั่งในถิ่นทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกลที่มีความยากลำบาก พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทุกที่ ทรงเป็นพระในใจของพวกเราทุกคน

“ดังนั้น โครงการในพระราชดำริหลายโครงการ เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงน้อมนำไปปฏิบัติ เพราะพระองค์ทรงเพียรพยายามทำโมเดลจำลองหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเกษตรกรรม หลายโครงการเราเข้าไปพัฒนาท้องถิ่น และช่วยเหลือเกษตรกรในแง่ของการส่งเสริมอาชีพ และการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเราทำมาอย่างต่อเนื่อง เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ทั้งยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องปรับตัว ยิ่งถ้าจะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะต้องเรียนรู้การพัฒนาไปสู่การเป็นพาร์ตเนอร์กับเกษตรกร อันเป็นสิ่งที่จะต้องทำต่อไป”

“คุณพ่อ (ท่านประธานธนินท์ เจียรวนนท์) บอกว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์กับเกษตรกรเป็นคู่ชีวิตกัน การทำโครงการเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกร ถือเป็นนโยบายของ ซี.พี. แน่นอนว่าการจะทำให้เกิดผลสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความเพียรพยายาม แต่เราเห็นช่องทางที่จะทำให้สำเร็จ โดยเฉพาะเกษตรอุตสาหกรรม และปศุสัตว์ แต่ในส่วนของพืชผลคงต้องโฟกัสให้มากขึ้น และต้องทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์”

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำดีที่สุดคือ การสร้างองค์ความรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ เราต้องสร้างโมเดลที่ทำให้ประสบผลสำเร็จต่อชุมชน และเกษตรกร นอกจากนั้นจะต้องใส่ใจเรื่องการศึกษาด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความสนใจมาก ทั้งยังเป็นสิ่งที่จะต้องสืบสานพระราชปณิธานต่อไป”

เรียนรู้เพื่อสร้างเกษตรยั่งยืน

นอกจากนั้น “ศุภชัย” ยังเล่าให้ฟังถึงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ตอนนั้นเป็นช่วงหนักที่สุดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย หากยังลามไปทั่วภูมิภาคเอเชีย กิจการหลายอย่างปิดตัวลง หรือขายออกไป บางรายต้องปรับโครงสร้าง หรือล้มละลายก็มี เมื่อเกิดเหตุการณ์ เราโทษแต่ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ค่าเงินบาทผันผวน จนคิดว่าเป็นความผิดของธนาคาร

“แต่ถ้ามองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เราต้องมองที่ตัวเรา เราทำอะไรเกินกว่าที่เราทำหรือเปล่า สมเหตุสมผลหรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสติอย่างมาก ผมจำได้ว่าตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้สติทั้งระบบ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เราทุกคนเรียนรู้ว่าสิ่งที่พระองค์ทรงสอนคืออย่าทำอะไรอย่าเกินตัว อย่าวางตัวเองอยู่บนพื้นฐานของความโลภ หรือความเห็นแก่ตัว ไม่ทำอะไรที่ได้มาจากการเบียดเบียนผู้อื่น เราต้องมีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างดี และต้องรู้ว่าสิ่งนี้ต่างหากที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”

“ดังนั้น ถ้าจะทำให้ธุรกิจฟื้นกลับมาอย่างยั่งยืน เราต้องเดินทีละขั้น ทีละตอน และต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพราะบางกรณีอาจจะหนีหนี้ ไม่จ่ายหนี้ แต่สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่ทำอย่างนั้นแน่นอน เราจ่ายหนี้คืนทุกบาท ทุกสตางค์ เพียงแต่ต้องขอเวลา ซึ่งกว่าจะผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้ ต้องใช้เวลาร่วม 10 ปี”

“จนทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ในวันนี้สามารถสร้างเกราะคุ้มกันด้วย C.P. Excellence Principles หลักใหญ่ ๆ คือกระบวนการด้านการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังจะต้องมีความยั่งยืนด้วย ผมจึงเชื่อว่าประเทศไทยมีบุญอย่างมากที่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากในหลวงรัชกาลที่ 9”

อันเป็นคำตอบที่ภาคภูมิใจของ “ศุภชัย เจียรวนนท์”