สำนักช่างสิบหมู่ สร้างคน-สร้างงาน-สร้างศิลปะชั้นสูง-

“ชาติไทยเรานั้นได้มีเอกราช มีภาษา ศิลปะ และขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเองมาช้านานหลายศตวรรษแล้ว ทั้งนี้เพราะบรรพบุรุษของเราได้เสียสละ อุทิศชีวิต กำลังทั้งกาย และใจสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เพื่อพวกเรา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คงทนถาวร เป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลังต่อไป ข้าพเจ้าเห็นว่าโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ชี้ให้เห็นอดีตอันรุ่งโรจน์ของชาติไทยเรา เป็นประโยชน์แก่การศึกษาทั้งในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และวัฒนธรรม จึงควรที่ทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันทะนุถนอมบำรุงรักษาอย่าให้สูญสลายไป”

จากความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๗

กล่าวกันว่าหนึ่งในพระบรมราโชวาทครั้งนั้นเสมือนเป็นดั่งแสงสว่างนำทางให้แก่เหล่าบรรดาผู้ทำงานทางด้านศิลปะทุกแขนง ไม่เว้นแม้แต่ “กัมพล จันทรังษี” นักวิชาการช่างศิลป์ ชำนาญพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ที่น้อมนำพระบรมราโชวาทใส่เกล้าฯ พร้อมกับยึดเป็นแนวทางในการทำงานด้านศิลปะมาจนถึงทุกวันนี้

ทุกวันที่เขามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่มีโอกาสสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะกับภารกิจสำคัญในการจัดทำพระเมรุมาศ อันมีสำนักช่างสิบหมู่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ทั้งนั้นเพราะบุคลากรของสำนักช่างสิบหมู่มีทั้งสิ้น 200 คน แต่ละคนจะถูกแบ่งแยกให้อยู่ในกลุ่มประณีตศิลป์, กลุ่มศิลปประยุกต์, กลุ่มจิตรกรรม, กลุ่มประติมากรรม, ศูนย์ศิลปะ และการช่างไทย รวมถึงฝ่ายบริหารงานทั่วไป

ทั้งนี้ กลุ่มที่รับผิดชอบการจัดทำพระเมรุมาศเป็นกลุ่มประณีตศิลป์ มีบุคลากรทั้งหมด 70 คน แน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อจำนวนชิ้นงานที่มีมากกว่าหมื่น ๆ ชิ้น ผลเช่นนี้ จึงทำให้มีศิลปินจิตอาสาเข้ามาเป็นกำลังเสริมที่เข้ามาช่วยการทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญครั้งนี้

“จิตอาสาส่วนใหญ่เป็นผู้มีความรู้ และพื้นฐานทางด้านศิลปะอยู่แล้ว แต่เราต้องมีการทดสอบ และทำการคัดเลือกอีกครั้ง เพื่อหาผู้ร่วมงานดีที่สุด เพราะการจัดทำพระเมรุมาศเป็นงานศิลปะชั้นสูง หลายคนทุ่มเทกับงานนี้เป็นอย่างมาก บางคนมาปักหลักที่นี่ บางคนลาออกจากงานเพื่อทุ่มเททำงานสร้างพระเมรุ หรือบางคนเดินทางมาจากไกล ๆ เพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งในการถวายงานครั้งสุดท้าย”

“ยกตัวอย่างกรณีศิลปินจิตอาสาจาก จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มช่างที่มีความชำนาญด้านงานไม้ แต่ด้วยระยะเวลาการทำงานยาวนาน บวกกับการทำงานจิตอาสาไม่มีเงินอุดหนุนใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหากอยู่ในระยะยาวจะมีผลกระทบต่อรายได้ เขาจึงใช้วิธีขับรถเพื่อรับงานไปทำที่ จ.เชียงใหม่ และเมื่อเสร็จเขาจะนำมาส่ง และรับงานชิ้นใหม่กลับไปทำต่อ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความศรัทธาต่อในหลวงรัชกาลที่ 9”

แต่กระนั้น อีกภารกิจสำคัญของสำนักช่างสิบหมู่คือภารกิจด้านการผดุงรักษา, ฟื้นฟู และสืบทอดศิลปะวิทยาการด้านช่างฝีมือ ทั้งยังเป็นศูนย์ข้อมูลด้านศิลปกรรมของชาติ ที่จะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางในการเฟ้นหาบุคลากร 2 รูปแบบด้วยกันคือ การสอบแข่งขันผ่านสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และการสอบคัดเลือกกรณีพิเศษ

“เมื่อได้ผู้ผ่านการคัดเลือก ยังต้องผ่านการฝึกอบรม เพื่อให้มีลักษณะการทำงานแบบช่างหลวง ซึ่งจะมีรูปแบบของชิ้นงานมีความเฉพาะเจาะจงที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งงานช่างบางกลุ่มที่ไม่มีการเปิดสอนในหลักสูตรของสถาบันการศึกษา เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ผู้เข้ามาทำงานใหม่ โดยเฉลี่ยต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงสามารถปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง โดยระหว่างนั้นเขาจะทำงานเบื้องต้นก่อน ซึ่งจะมีพี่เลี้ยงคอยควบคุม และให้คำแนะนำ”

“ผู้สมัครส่วนใหญ่มาจากสถาบันทางศิลปะต่าง ๆ แต่เมื่อเข้ามาทำงานที่นี่จะต้องทำตัวเป็นแก้วน้ำที่ว่างเปล่า แค่อาศัยเพียงทักษะเท่านั้น แต่ในส่วนขององค์ความรู้ ต้องรับใหม่ทั้งหมด ดังนั้น นอกจากจะต้องมีใจรักงานทางด้านศิลปะ ยังต้องอาศัยความอดทน เรียกว่าใจต้องมาก่อน ฝีมือฝึกกันได้ นอกจากนี้ ด้านทักษะเชิงศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในแง่วิชาการ แต่กระนั้น เขาจะต้องมีความรู้แม่นยำทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา วรรณคดี และรูปแบบของงานศิลปะช่างหลวงที่มีรูปแบบตายตัว ผิดพลาดไม่ได้เลย”

“รวมทั้งการเริ่มต้นงานช่างในบางกลุ่ม เช่น งานมุก, งานแกะไม้, งานคร่ำเงินคร่ำทอง ไปจนถึงงานผ้าลายทองแผ่ลวด ซึ่งเป็นงานที่ใช้เฉพาะพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น ฉัตร, ธง รวมไปถึงหลังคาเรือพระราชพิธี ซึ่งนับวันจะมีผู้รู้น้อยลงทุกวัน สำนักช่างสิบหมู่ก็ต้องเรียนรู้ เพื่อสืบสานงานต่อไป”

“กัมพล” บอกว่าเชิงช่างเหล่านี้ปัจจุบันไม่มีสอนในสถาบันการศึกษา จึงทำให้เราต้องสร้างคนขึ้นมาทดแทน ซึ่งแต่ละคนจะใช้ระยะเวลานานมาก เพราะนักเรียนศิลปะส่วนใหญ่มุ่งไปในทางสายธุรกิจ, สายวิชาการ หรือศิลปินอิสระมากกว่า แต่เราก็มองเห็นทางแก้ด้วยการจัดทำองค์ความรู้ที่เป็นวิชาการ เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นของคนรุ่นต่อ ๆ ไปผ่านฐานข้อมูล

“โดยมีนักวิชาการช่างศิลป์ หรือการเชิญครูช่างจากท้องถิ่นมาสอนแก่บุคลากรของสำนักช่างสิบหมู่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และบันทึกข้อมูลเก็บไว้ เพื่อรวบรวมเครือข่ายทำเนียบช่าง สำหรับเผยแพร่ความรู้แก่บุคคลทั่วไป ณ ศูนย์นิทรรศการ สำนักช่างสิบหมู่ งานสิบหมู่สัญจร หรือการอบรมความรู้ทางด้านศิลปะให้แก่บุคคลภายนอก เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกของชาติให้สืบทอดต่อไป”

“ส่วนเรื่องการสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลายคนอาจเข้าใจว่าช่างสิบหมู่ทำแต่เฉพาะงานขนบเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วช่างสิบหมู่สามารถสร้างงานศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ ได้ ดังจะเห็นจากงานประติมากรรมอื่น ๆ ที่มีเอกลักษณ์เด่นชัดคืองานประติมากรรมที่เน้นกล้ามเนื้อ มีสัดส่วนเหมือนจริง ซึ่งแตกต่างจากงานประติมากรรมสมัยอื่น ที่ลักษณะงานจะเน้นความอ่อนช้อย ดังนั้น เมื่อคนรุ่นหลังศึกษาจะรู้ได้ทันทีว่านี่เป็นศิลปะร่วมสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”

ฉะนั้น นับจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสร็จสิ้นลง ในระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2560 จะมีการจัดนิทรรศการเพื่อแสดงขั้นตอนการสร้างพระเมรุมาศ โดยมีเจ้าหน้าที่จิตอาสาเป็นผู้นำชม เพื่อให้ประชาชนมีความรู้จากการทำงานของสำนักช่างสิบหมู่

ขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้พสกนิกรของพระองค์รู้สึกซาบซึ้งต่องานศิลปะชั้นสูงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งน่าจะหาชมไม่ได้ง่าย ๆ อีกต่อไปแล้ว