“ดำน้ำ” ไม่ยากอย่างที่คิด-

“ดำน้ำยากไหม ?” นี่คงเป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตสำหรับใครหลายคนที่ไม่เคยดำน้ำ

เพราะว่า ถ้าพูดถึง “การดำน้ำ” คงเป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมยามว่างที่ใครหลาย ๆ คนมองข้าม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่ากิจกรรมดำน้ำ เป็นกิจกรรมที่ห่างไกลจากการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ไม่เหมือนอย่างกิจกรรมยามว่างอื่น ๆ เช่น การวิ่ง การทานอาหาร หรือการดูภาพยนตร์ ฯลฯ

และยังคงมีอีกหลาย ๆ คน ที่ยังมองว่าการดำน้ำเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เงินในการทำกิจกรรมเยอะ ทั้งต้องเสียเงินในเรื่องของค่าคอร์สเรียน ก่อนจะออกไปดำน้ำในทะเลจริงได้ อีกทั้งยังมีค่าอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นชุดดำน้ำ หน้ากาก แท็งก์ หรือตีนกบที่ไว้สำหรับดำน้ำ หรือแม้แต่ค่าเช่าเรือ (ออกไปจุดดำน้ำ) ฯลฯ รวมทั้งหลาย ๆ คนยังคงมีทัศนคติ ความเชื่อแบบผิด ๆ ต่อการดำน้ำอีก ไม่ว่าจะเป็น ว่ายน้ำไม่เก่งคงจะดำน้ำไม่ได้ ลงไปในน้ำกลัวปลาฉลามกัด

จริง ๆ แล้ว การดำน้ำก็เหมือนกับการเล่นกีฬาและการท่องเที่ยว ที่มีทั้งมุมที่มืดและมุมที่สว่าง ที่ให้เราได้มากกว่าแค่การออกกำลังกายหรือการเที่ยวชม ถ่ายภาพ

“SEASPECTIVE ชีวิต (เสพ) ติดทะเล” จะมาทำลายความเชื่อและทัศนคติแบบผิด ๆ ทั้งหมดเอง

หนังสือ “SEASPECTIVE ชีวิต (เสพ) ติดทะเล” เขียนโดย ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ ครูสอนดำน้ำรุ่นเดอะที่การันตีประสบการณ์ดำน้ำมามากกว่าสิบปี

“ชื่อ SEASPECTIVE มีที่มาจากคำว่า sea ที่แปลว่าทะเล ผมมองว่าการดำน้ำมันมีหลายมุมที่เกี่ยวกับทะเลเอามาก ๆ มันไม่ใช่ใต้น้ำอย่างเดียว มันยังต้องดูถึงในเรื่องของหาดทราย เรื่องเกาะด้วย ส่วนคำว่า spective ก็คือการมอง หนังสือเล่มนี้มันจะเป็นการมองผ่านหน้ากากดำน้ำ ก็คือเป็นอีกมุมมองหนึ่งของทะเล ก็เลยตั้งชื่อว่า SEASPECTIVE” ดร.กุลเดชกล่าว

เนื้อหาหลักของ SEASPECTIVE จะแบ่งออกเป็น 3 พาร์ต โดยแต่ละพาร์ตจะบอกเล่าถึงเรื่องราวประสบการณ์ต่าง ๆ จากการดำน้ำของผู้เขียน ผนวกกับการไขข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำน้ำที่ใครหลาย ๆ คนสงสัย ผ่านทางตัวอักษร โดยใช้ภาษาสนทนา เนื้อหาที่สบาย ๆ เป็นกันเอง ไม่ซีเรียสหรือให้ความรู้เชิงวิชาการเกี่ยวกับดำน้ำ แต่เป็นเหมือนกับการบอกเล่าประสบการณ์ของนักดำน้ำรุ่นใหญ่ที่ผสมผสานกับการแนะแนวทางในการเรียนดำน้ำสำหรับผู้สนใจ

พาร์ต 1 ริมทะเล อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเรียนดำน้ำ การ

เตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง อธิบายเกี่ยวกับการดำน้ำแบบ “scuba” ว่าคืออะไร การดำน้ำต้องมีการเรียน การสอบใบอนุญาตอย่างไร ความเชื่อและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำน้ำ อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำน้ำมีอะไรบ้าง กฎปฏิบัติเกี่ยวกับการดำน้ำ scuba ดำน้ำอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัย รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของท้องทะเล และของร่างกายมนุษย์ ว่าต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะสามารถอยู่ใต้น้ำเหมือนปลาได้เป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมงอย่างนักดำน้ำมืออาชีพ

พาร์ต 2 คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล บอกเล่าประสบการณ์และสิ่งที่พบเห็นจากการดำน้ำ ว่าแวดวงของนักดำน้ำพวกเขาพบเจออะไรกันมาบ้างในใต้ทะเล เช่น เรื่องราวความสวยงามของปะการัง สัตว์ใต้ทะเลที่เป็นขวัญใจของนักดำน้ำ เรื่องขำ ๆ สนุก ๆ เกี่ยวกับนักดำน้ำที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันบนเรือกลางทะเล และมุมมองความคิดเกี่ยวกับโลกใบนี้ของนักดำน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะการได้ไปสัมผัสโลกใต้ทะเล

พาร์ต 3 ขอบฟ้ามหาสมุทร พาไปทำความรู้จักกับประสบการณ์การดำน้ำของ ดร.กุลเดช ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นดำน้ำเมื่อสิบกว่าปีก่อน ประสบการณ์การดำน้ำในรูปแบบแปลก ๆ และสรุปมุมมองและตัวตนของ ดร.กุลเดช เกี่ยวกับการดำน้ำที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากดำน้ำได้เริ่มก้าวไปหาประสบการณ์ใต้ทะเลให้กับตัวเองสักครั้ง

“การได้รับรองคุณสมบัติการเป็นครูสอนดำน้ำ เป็นเพียงด่านแรกของการเติบโตเป็นครูสอนดำน้ำที่ดี เพราะการเป็นครูที่แท้จริง คือ การที่เราต้องพยายามหาความรู้ใส่ตัวอย่างไม่มีวันจบเพื่อให้นักเรียนของเราได้เป็นนักดำน้ำสมกับที่เขาตั้งใจไว้และได้ประสบการณ์ดี ๆ เกี่ยวกับการดำน้ำ กลายเป็นนักดำน้ำที่พัฒนาตัวเองต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ การเป็นครูสอนดำน้ำถือเป็นจุดสตาร์ตไม่ใช่เส้นชัย เราต้องเทกแอ็กชั่นกันต่อไปไม่หยุดนิ่ง”


“ครูสอนดำน้ำที่ดีจะต้องมองเห็นความแตกต่างของนักเรียนตัวเองเป็น คนไหนเก่ง คนไหนกลัว เพราะทักษะการดำน้ำของแต่ละคนไม่เท่ากัน และจะต้องพัฒนาสกิลการดำน้ำของนักเรียนแต่ละคนให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนดำน้ำประเภทที่มีพรสวรรค์อย่างกับปลาทะเล หรือนักเรียนดำน้ำที่อ่อนปวกเปียกก็ตาม การเป็นครูสอนดำน้ำที่ดี ผมว่ามันจำกัดนิยามง่าย ๆ อย่างนี้นี่ล่ะ” ดร.กุลเดชกล่าว