โอท็อป “เพชรสมุทรคีรี” จับกลุ่มพรีเมี่ยม-

พัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาครจับมือบริษัท ประชารัฐฯ-อีสเมด เร่งพัฒนาผู้ประกอบการโอท็อปเพชรสมุทรคีรีกลุ่มเอกลักษณ์ 25 ราย มุ่งสู่ตลาดพรีเมี่ยม คาดมูลค่าสินค้าสูงขึ้นเท่าตัว พร้อมเปิดเว็บไซต์เชื่อมโยงผู้ประกอบการ-ผู้ซื้อโดยตรง ลุยจัดโรดโชว์ 4 ภาคหาตลาดใหม่

นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี สมุทรสาคร (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และผู้ประกอบการโอท็อปกลุ่มเอกลักษณ์ หรือ Quadrant B ของกลุ่มจังหวัดเพชรสมุทรคีรี ประกอบด้วย เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ ร่วมดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเพชรสมุทรคีรี ซึ่งเป็นกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มเอกลักษณ์ สู่ตลาดสากล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปให้มีรูปแบบอัตลักษณ์สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่มีกำลังซื้อสูง

โดยจะนำผลิตภัณฑ์โอท็อปไปโรดโชว์ 4 จังหวัด ได้แก่ วันที่ 11-15 พ.ย. 60 ที่ศูนย์การค้าแพชชั่น ช้อปปิ้ง เดสติเนชั่น จ.ระยอง วันที่ 22-26 พ.ย. 60 ที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ จ.เชียงใหม่ วันที่ 29 พ.ค.-3 ธ.ค. 60 ที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ และวันที่ 13-17 ธ.ค. 60 ที่เซ็นทรัลพลาซา จ.อุดรธานี

น.ส.นันทนา หวังธงชัยเจริญ พัฒนาการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) แบ่งโอท็อปเป็น 4 ประเภท คือ ควอดแรนต์ A เป็นดาวเด่น มีศักยภาพสูง พร้อมส่งออก ควอดแรนต์ B มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นงานประณีตศิลป์ ควอดแรนต์ C กลุ่มที่มีมาตรฐาน มีความสามารถแต่ยังไม่พร้อมส่งออก และควอดแรนต์ D กลุ่มที่ต้องปรับตัวในการพัฒนา

โดยโครงการนี้ได้รับงบฯจาก พช. 19 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเฉพาะกลุ่มควอดแรนต์ B ทั้ง 4 จังหวัด 25 ผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการตลาด ได้แก่ จ.เพชรบุรี 5 ผลิตภัณฑ์ จ.สมุทรสงคราม 5 ผลิตภัณฑ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 5 ผลิตภัณฑ์ และ จ.สมุทรสาคร 10 ผลิตภัณฑ์ โดยมีการดำเนินการ 5 กิจกรรม ได้แก่ 1.การศึกษาข้อมูล ความต้องการ 2.ประชุมเชิงปฏิบัติการผู้ประกอบการ เพื่อดูว่าต้องการอะไร และตลาดต้องการอะไร

3.การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งการดีไซน์ออกแบบใหม่ การพัฒนาเทคนิคและเทคนิคการผลิต โดยมีทีมสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาช่วย 4.การเพิ่มช่องทางการตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยสร้างเว็บไซต์ขึ้นให้ผู้ประกอบการและผู้ซื้อติดต่อกันโดยตรง และ 5.งานแสดงสินค้า 4 ภาค ซึ่งมุ่งหวังผู้ประกอบการได้พบลูกค้าใหม่

ด้านนายอยุทธ์ เตชะสุกิจ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มมูลค่าผลผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า โจทย์หลักในการพัฒนาคือ ทำอย่างไรที่จะดึงอัตลักษณ์ของผู้ประกอบการออกมาใช้เป็นทุนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ โดยเน้นการทำงานแบบร่วมกัน (Co-creation) โดยใช้นักออกแบบ 7 คน ออกไอเดียความคิดและการตลาด ใช้เวลาดำเนินงาน 1 เดือนกว่า

กระบวนการเริ่มตั้งแต่นักออกแบบลงไปพบ พูดคุย และค้นหาทุนในพื้นที่ คือ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งรอบตัว เมื่อหาทุนเจอแล้ว นักออกแบบจะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการว่าคิดเห็นอย่างไร เมื่อได้ข้อสรุปก็จะทำงานกันต่อ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือต้องการเข้าไปช่วยผู้ประกอบการให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ขณะที่นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สมุทรสาคร จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งพัฒนากลุ่มควอดแรนต์ B ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมกำลังจะเข้าสู่ระดับ A โดยจะพัฒนาให้ฉีกไปจากรูปลักษณ์เดิม เป็นสินค้าพรีเมี่ยมที่ตลาดให้การยอมรับมากขึ้น แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ไว้

“เมื่อพัฒนาแล้ว มูลค่าผลิตภัณฑ์น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ตลาดต้องเปลี่ยนไป เป็นตลาดพรีเมี่ยมที่คนนำไปใช้งานและประดับบ้านมากขึ้น ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นมีช่องทางการตลาดแล้ว โดยมีการดีลกับร้านค้าที่อยู่ในห้าง เช่น จิม ทอมป์สัน”