“เอเชีย” โหมนวัตกรรม ขึ้นแท่นเจ้าตลาดเฮลท์แคร์-

คอลัมน์ Market Move

ปัญหาสังคมสูงอายุทำให้ดีมานด์ในธุรกิจสุขภาพและโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป จนภาครัฐและธุรกิจในหลายประเทศเริ่มหันมาสนใจทุ่มลงทุนเพื่อปั้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาหวังชิงเม็ดเงินในธุรกิจสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้

โดยเอเชียถือเป็นภูมิภาคที่กำลังมาแรงทั้งด้วยจำนวนประชากรมหาศาลจนทำให้มีขนาดของตลาดยาใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีแรงหนุนจากภาครัฐที่ต้องการหาทางรับมือปัญหาสุขภาพในประเทศ และบรรดานักลงทุนกระเป๋าหนักที่พร้อมเสี่ยงแลกกับโอกาสทำกำไรในอนาคต

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย กำลังเร่งพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์หลายด้านตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เช่น สเต็มเซลล์, ฐานข้อมูลพันธุกรรม, ไบโอโลจิกดรักส์ (biologic drugs) หรือยาที่สร้างจากสารชีวภาพ และโรงพยาบาลอัจฉริยะหรือสมาร์ทฮอสพิทัล (smart hospitals) ไปจนถึงแบบที่เหมือนกับหลุดมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ อาทิ อวัยวะเทียมที่ขยับได้เหมือนจริงและร่างจักรกล หรือไซบอร์ก (cyborgs)

ขณะนี้วงการอวัยวะเทียมของออสเตรเลียกำลังคึกคักไปด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ โดย มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ของออสเตรเลียกำลังศึกษาช่องทางทำตลาด “ไบโอนิก วิชั่น” (bionic vision) เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถมองเห็นได้ ด้วยการฝังอุปกรณ์รับสัญญาณที่จอประสาทตาของผู้ป่วยเพื่อรับภาพจากกล้องวิดีโอ รวมถึงทดลองเทคโนโลยีฝังอุปกรณ์ในหลอดเลือดใกล้กับส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของสมองเพื่อส่งสัญญาณออกมาควบคุมอวัยวะเทียม เช่นเดียวกับสตาร์ตอัพ “โมนาช วิชั่น กรุ๊ป”(Monash Vision Group) ซึ่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีส่งสัญญาณภาพไปยังสมองโดยตรง

แม้ตัวไบโอโลจิกดรักส์จะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่ด้วยความซับซ้อนในการผลิตทำให้ที่ผ่านมามีปัญหาด้านต้นทุนและกำลังผลิต ซึ่งเอเชียถือเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการผลิตยาชนิดนี้ในปริมาณมากด้วยต้นทุนต่ำ โดยในเกาหลีใต้ “ซัมซุง ไบโอโลจิก” (Samsung BioLogics) กลุ่มธุรกิจด้านยาของยักษ์อุตสาหกรรมซัมซุง เช่นเดียวกับบริษัท “วูซี ไบโอโลจิก” (Wuxi Biologics) ของจีนที่ต่างมีเทคโนโลยีและโรงงานสำหรับผลิตยาชนิดนี้ในปริมาณมากเพื่อส่งไปให้กับบริษัทยารายใหญ่ทั่วโลก

ไต้หวันถือเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ ด้วยการนำบิ๊กดาต้าและระบบวิเคราะห์ข้อมูล อาทิ อายุ อาการป่วยและประวัติการรักษา มาใช้สร้างโซลูชั่นสำหรับบำบัดรักษาผู้ป่วยแต่ละรายแบบเรียลไทม์เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยกำลังทดลองอยู่ที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ในขณะเดียวกันฝั่งจีนมีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยผ่านทางแอปพลิเคชั่นสุขภาพเพื่อนำไปสร้างฐานข้อมูลแนวทางการรักษาเฉพาะบุคคลเช่นกัน

นอกจากเก็บข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นแล้ว จีนยังก้าวไปอีกขั้นด้วยการเก็บและสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมของประชากรในประเทศเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเกิดโรค รวมถึงวิธีป้องกันและรักษา โดยปัจจุบันรัฐบาลจีนมีฐานข้อมูลดีเอ็นเอของประชาชนรวมกว่า 100 ล้านคน แซงหน้าสหรัฐอเมริกา และอังกฤษที่มีฐานข้อมูลเพียง 1 ล้านคน และ 1 แสนคนตามลำดับ

ซึ่งฐานข้อมูลนี้ยังช่วยให้บริษัทจีนได้เปรียบคู่แข่งต่างชาติในการวิจัย-พัฒนาการรักษาโรคและผลิตยาที่เกี่ยวกับพันธุกรรมอีกด้วย

ด้านญี่ปุ่นนั้น หน่วยธุรกิจการแพทย์ของยักษ์อุตสาหกรรม อาทิ “ฟูจิฟิล์ม” และ “ทาเคดะ ฟาร์มาซูติคัล” กำลังต่อยอดผลงานวิจัยสระดับรางวัลโนเบลของ”ชินยะ ยามานากะ” นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ที่ค้นพบวิธีการสร้างสเต็มเซลล์จากเซลล์ปกติ ด้วยการพัฒนากระบวนการสร้างผลิตและเก็บสเต็มเซลล์ในปริมาณมากเพื่อนำไปใช้พัฒนาการรักษาโรคต่าง ๆ ต่อไป อาทิ โรคพาร์กินสันและการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง

ความเคลื่อนไหวนี้นับเป็นคลื่นลูกใหม่ของธุรกิจสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งหากเทรนด์นี้ดำเนินต่อไปอาจสามารถทำให้เอเชียเปลี่ยนสถานะจากผู้บริโภคเป็นผู้นำด้านการแพทย์ของโลกก็เป็นได้