นิสสันล็อบบี้ BOI ชูธงผู้นำ ดัน “โน๊ต” เข้าหมวดรถEV-

“นิสสัน” เดินเกมรุกเจรจาบีโอไอยันทำแน่รถยนต์ไฟฟ้า แต่ขอส่ง “ลีฟ” ขายก่อนขึ้นไลน์ผลิตเต็มตัว มั่นใจ ตอบครบทุกโจทย์ “โตโยต้า-ฮอนด้า” ประกาศชัดโดดร่วมขบวนแน่ ด้าน “อีซูซุ-มาสด้า” ยังลังเลยื้อมีเวลาศึกษารายละเอียด

งวดเข้ามาเรื่อย ๆ สำหรับกรอบเวลาโปรเจ็กต์รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีระยะเวลายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสำหรับรถยนต์ไฮบริดและปลั๊ก-อินไฮบริด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 นี้ และรถยนต์ไฟฟ้า ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ปรากฏว่ามีค่ายรถยนต์หลายยี่ห้อแสดงความจำนงและยังมีบางยี่ห้อไม่พร้อม

แหล่งข่าวจากบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าว่า ได้หารือกับทางบีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมว่า นิสสันพร้อมเข้าร่วม และรถยนต์ที่จะเดินสายการผลิต คือนิสสัน โน๊ต อี-พาวเวอร์ แต่ยังมีความเห็นแตกต่างเล็กน้อย โดยนิสสันนำเสนอโน๊ต อี-พาวเวอร์ อยู่ในหมวดของรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์และไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพียงแต่ใช้เครื่องยนต์ปั่นไฟเพื่อเก็บประจุไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ซึ่งมีหลายคนยังตีความว่า น่าจะเข้าหมวดรถยนต์ไฮบริด

“เรากำลังหารือและมีการคุยเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนที่จะเริ่มผลิตโน๊ต อี-พาวเวอร์ในอนาคตอันใกล้ นิสสันมีแผนนำนิสสัน ลีฟ ที่เพิ่งเปิดตัวในญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาดในบ้านไปพราง ๆ ก่อนด้วย ตามที่คุณอันตวน บาร์เตส ประธานบริษัทประกาศไว้ชัดเจน”

ส่วนเรื่องราคาขายคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ เพราะเป็นการนำเข้าภายใต้กรอบการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้ราคาขายไม่กระโดดจนเกินไป

“นิสสันต้องการสร้างดีมานด์การใช้รถยนต์ประเภทนี้ในประเทศไทยก่อนที่ไลน์การผลิตจะเริ่มอย่างเป็นทางการ” เช่นเดียวกับนายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฮอนด้ายืนยันว่าเข้าร่วมโปรเจ็กต์ดังกล่าวนี้แน่นอน

“ตอนนี้ถ้ามองเทคโนโลยีที่ใกล้ตัวและมีความพร้อมที่สุดคือ ไฮบริด ส่วนจะไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้นั้นคงต้องมองปัจจัยอื่นประกอบด้วย ทั้งต้นทุนการผลิต ระบบสาธารณูปโภคที่จะมารองรับ”

เช่นเดียวกับค่ายโตโยต้า ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฮบริดไปเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีกำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน และผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ปีละประมาณ 70,000 ชิ้น และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ประตู, กันชน, เพลาหน้า-หลัง และอื่น ๆ ปีละประมาณ 9,100,000 ชิ้น ภายใต้การลงทุน 19,016 ล้านบาท โดยโครงการนี้จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,314 ล้านบาทต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่ค่ายอื่น ๆ เช่น มาสด้าและอีซูซุ ฯลฯ ยังไม่มีความชัดเจน โดยนายฮิโรชิ อิโนอุเอะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด เช่นเดียวกับนายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ระบุว่า อีซูซุจะเข้าร่วมโครงการนี้หรือไม่นั้น สิ่งสำคัญคือความต้องการของลูกค้า และวันนี้ยังไม่ตัดสินใจเพราะยังมีเวลาเหลือพอ

สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้น คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี และผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ประมาณ 2-3% ของรถยนต์ทั้งระบบที่ผลิตได้ปีละประมาณ 1 ล้านคัน หรือเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 20,000-30,000 คัน

โดยกำหนดภาษีสรรพสามิต 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และลดภาษีสรรพสามิตลงจากอัตราปกติ 50% สำหรับรถยนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริด พร้อมทั้งส่งเสริมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล