Longines ฉลอง 185 ปี-

นาฬิกาลองจินส์ (Longines)แบรนด์ดังจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ฉลองครบรอบ 185 ปี ด้วยการนำนาฬิกาโบราณที่หาชมยาก 29 เรือนส่งตรงจากพิพิธภัณฑ์ลองจินส์ มาจัดแสดงในประเทศไทย บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและความสำเร็จของลองจินส์ เรือนเวลาแห่งวิจิตรศิลป์ตลอด 185 ปีแห่งความสำเร็จ ชื่องาน “Longines 185th Anniversary” ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

นิทรรศการ Longines 185th Anniversary นำเสนอประวัติศาสตร์อันยาวนานของลองจินส์ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ.1832 ณ เมืองแซงติมิเยร์ (Saint-lmier) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ออกุสต์ อกาสซีส์ (Auguste Agassiz) ผู้ก่อตั้งลองจินส์เริ่มกิจการในลักษณะเคาน์เตอร์รับประกอบนาฬิกาตามใบสั่ง ในเวลานั้นผู้ผลิตนาฬิกาจะผลิตชิ้นส่วนและประกอบนาฬิกาอยู่ที่บ้าน เมื่อประกอบเสร็จแล้วจึงส่งมอบงานให้กับอกาสซีส์ กระทั่งปี ค.ศ. 1867 แอร์เนสต์ ฟรองซิญง (Ernest Francillon) ผู้เป็นหลานซึ่งเข้ารับช่วงต่อต้องการผลิตชิ้นส่วนกลไกและทำการประกอบในโรงงานเดียวกัน เพื่อให้ประกอบนาฬิกาได้อย่างครบวงจรในจำนวนมากขึ้น จึงซื้อที่ดินเพิ่ม และตั้งโรงงานบนที่ดินหุบเขาริมแม่น้ำที่เรียกว่า “Es Longines” ซึ่งกลายมาเป็นชื่อแบรนด์อย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา

ในนิทรรศการนี้ได้นำนาฬิกาเรือนเด่น ๆ ในประวัติศาสตร์แบรนด์ลองจินส์มาจัดแสดง ไฮไลต์ของนิทรรศการอยู่ที่

WATCHMAKING – POCKET WATCHES

ตั้งแต่ ค.ศ. 1832 ถึงทศวรรษที่ 1930 ลองจินส์ผลิตนาฬิกาพกเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงแรกเน้นนาฬิกาพกที่แข็งแกร่งทนทานสำหรับใช้งาน ก่อนจะเริ่มผลิตนาฬิกาที่มีกลไกและตัวเรือนขนาดบาง ซึ่งบางรุ่นตกแต่งประดับประดาอย่างงดงาม นาฬิกาในยุคนี้ที่นำมาจัดแสดงมี 3 เรือน คือ นาฬิกาพกที่สลักเสลาและเพนต์ลายภาพทิวทัศน์ลงบนหน้าปัดอย่างวิจิตรบรรจง (ค.ศ. 1892) นาฬิกาพกเทคนิคถมทองเป็นลวดลายดอกไม้ (ค.ศ. 1915) และนาฬิกาพกหน้าปัดสีขาวแสดงเวลา 24 ชั่วโมง (ค.ศ. 1917)

FLAGSHIP

หนึ่งคอลเล็กชั่นนาฬิกาข้อมือที่เป็นไฮไลต์ของแบรนด์ และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ออกแบบในช่วงปลายปี ค.ศ. 1956 จดลิขสิทธิ์ชื่อและวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1957 เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะในยุคแรก ๆ ฝาหลังตัวเรือนมีการแกะสลักหรือแสตมป์ภาพเรือธงบังคับบัญชากองเรือ (Flagship) คอลเล็กชั่นนี้สะท้อนถึงความความสง่างามคลาสสิกแบบนาฬิกาเดรส และได้รับความนิยมมาจนถึงยุคปัจจุบัน ในนิทรรศการนี้นำนาฬิกาในตระกูล Flagship มาจัดแสดง 3 เรือน คือรุ่นตัวเรือนทองทรงกลมหน้าปัดสีน้ำเงิน ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ (ค.ศ. 1963) รุ่นตัวเรือนสตีลทรงกลม หน้าปัดขาว ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ (ค.ศ. 1960) และรุ่นตัวเรือนสตีลทรงสี่เหลี่ยมคางหมูทำงานด้วยกลไกไขลาน (ค.ศ. 1972)

PIONEERS & AVIATION

ด้วยประสิทธิภาพความแม่นยำและการพัฒนานวัตกรรมกลไกใหม่อยู่เสมอ ทำให้นาฬิกาลองจินส์เป็นที่นิยมมากในหมู่นักบุกเบิกและนักผจญภัย ซึ่งออกเดินทางไปสำรวจโลกในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 โดยลองจินส์ได้พัฒนานาฬิกาที่ช่วยคำนวณตำแหน่งและพิกัดการเดินทางได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางทางอากาศหรือทางทะเลผลงานที่นำมาจัดแสดงมีทั้งนาฬิกาแสดงพิกัดทางอากาศ ผลิตจากอะลูมิเนียม ทำงานด้วยกลไกไขลานรวมสองรุ่น (ค.ศ. 1933 และ 1939) และนาฬิกามารีนโครโนมิเตอร์สำหรับเรือเดินสมุทร ทำหน้าที่แสดงเส้นลองจิจูด (ค.ศ. 1918) โดยตัวนาฬิกาติดตั้งอยู่บนฐานวงแหวน ซึ่งทำหน้าที่ล็อกให้นาฬิกาอยู่ในแนวระนาบ และบรรจุอยู่ในกล่องไม้

น่าเสียดายที่นิทรรศการจัดแสดงในช่วงเวลาสั้น ๆ แฟน ๆ ของลองจินส์หลายคนอาจจะยังไม่ได้ไปชม คงต้องรอลุ้นกันตอนฉลองครบรอบ 200 ปีน่าจะกลับมาอีกครั้ง