โปรสาวจีนคนแรกขึ้นมือ 1 โลก จุดประกายกอล์ฟแดนมังกร-

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

บรรดากอล์ฟหญิงที่ติดในตารางอันดับแอลพีจีเอทัวร์ 5-6 ปีหลัง เริ่มมีนักกอล์ฟเอเชียเข้ามาในอัตราส่วนมากขึ้น แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีนักกอล์ฟสาวจีนที่ขึ้นถึงมืออันดับหนึ่งได้ จนล่าสุดกับผลงานของเฟิง ชานชาน สาวจากแดนมังกรคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นรั้งอันดับ 1 ของโลก

เฟิง ชานชาน คว้าแชมป์รายการบลูเบย์ที่บ้านเกิด เป็นแชมป์ที่ 2 ติดต่อกันหลังจากคว้าแชมป์เจแปน คลาสสิก เมื่อสัปดาห์ก่อน แชมป์ 2 รายการติดกัน ส่งให้เธอขึ้นเป็นมืออันดับ 1 ของโลกแทนที่ปาร์ค ซุงฮยุง จากเกาหลีใต้ดาวรุ่งที่ขึ้นมารั้งอันดับ 1 ได้ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

เฟิง อาจไม่ใช่นักกอล์ฟหน้าใหม่ในวงการ เธอเริ่มเล่นแอลพีจีเอทัวร์ตั้งแต่ปี 2008 เป็นนักกอล์ฟจีนคนแรกที่ได้แชมป์รายการเมเจอร์ รายการแอลพีจีเอ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อปี 2012 แต่กว่าจะขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกก็ผ่านไปอีกเกือบ 5 ปีต่อมา โดยปีนี้เธอคว้าไปแล้ว 3 รายการ คือวอลวิค แชมเปี้ยนชิพ, โตโต้ เจแปน คลาสสิก และล่าสุดคือบลูเบย์ แอลพีจีเอ ซึ่งเธอเฉือนโมรียา จุฑานุกาล ไปเพียง 1 สโตรก ผลงานรายการนี้ ทำให้ เฟิง ชานชาน เป็นนักกอล์ฟหญิงคนแรกที่ได้แชมป์รายการแอลพีจีเอติดต่อกันเป็นครั้งแรกในปี 2017

การขึ้นสู่มือ 1 ของโลกครั้งนี้ เป็นข่าวกระหึ่มแดนมังกร ในตารางอันดับนักกอล์ฟหญิงแอลพีจีเอ ซึ่งมีนักกอล์ฟกว่า 1,200 ราย รายชื่อก้านเหล็กจีนมีไม่เกิน 60 คน เมื่อปี 2012 ที่เฟิงได้แชมป์เมเจอร์แรกของตัวเอง มีนักกอล์ฟหญิงจีนคนเดียวใน 400 อันดับแรก แต่วันนี้มี 9 คนแล้ว การก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ครั้งนี้คืออีกหลักไมล์สำคัญของวงการกีฬาจีนจากที่เฟิง ชานชาน คือนักกอล์ฟจีนคนแรกสำหรับทั้งชายและหญิงที่ขึ้นรั้งมือ 1 ของโลก

สาวเฟิงวัย 28 ปี เกิดที่กว่างโจว พ่อของเธอทำงานในสมาคมกอล์ฟประจำถิ่นกำเนิดจนชักชวนลูกสาวให้ฝึกฝนกอล์ฟเป็นครั้งแรกในวัย 10 ขวบ หลังจากนั้นอีก 9 ปีเธอจึงเริ่มเป็นสมาชิกแอลพีจีเอทัวร์ในปี 2008 เล่นอีก 4 ปีก็ได้แชมป์เมเจอร์แรกในรายการแอลพีจีเอ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อปี 2012 เป็นนักกอล์ฟจากจีนคนแรกทั้งฝั่งชายและหญิงที่ได้แชมป์รายการเมเจอร์ของวงการกอล์ฟ แฟนกอล์ฟจดจำสัญลักษณ์ประจำตัวเธอได้อย่างดีจากกางเกงลายวัว

สาเหตุที่นักกอล์ฟจีนยังมีจำนวนน้อยและเพิ่งสร้างชื่อในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงต้องย้อนกลับไปที่ยุคการปกครองของเหมา เจ๋อ ตุง ในปี 1949 ซึ่งประธานเหมาสั่งห้ามเล่นกีฬากอล์ฟ โดยให้เหตุผลว่าเป็นกีฬาสำหรับคนรวย จนกระทั่งยุค 80 แต่จนถึงวันนี้แม้จะเล่นได้เสรีขึ้น แต่รัฐบาลจีนยังคงมองกอล์ฟเป็นกีฬาที่ใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น การสร้างสนามกอล์ฟถือเป็นการใช้ที่ดินและน้ำที่มากเกิน ปีนี้รัฐบาลจีนสั่งปิดสนามกอล์ฟของมหาเศรษฐีไปหลายแห่ง

แม้รัฐบาลจีนจะมีท่าทีเชิงลบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กีฬากอล์ฟเป็นที่นิยมในหมู่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โรงเรียนจีนหลายแห่งบรรจุกอล์ฟในหลักสูตร จากที่เชื่อว่ากอล์ฟช่วยเสริมสร้างมารยาทและช่วยปลูกฝังให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีงาม

แม้สถานการณ์ของกีฬากอล์ฟในจีนยังลักลั่นอยู่ ปัจจุบันจีนมีสนามกอล์ฟคุณภาพเยี่ยมที่สามารถติดอันดับโลกได้ และมีนักกอล์ฟเยาวชนที่สร้างชื่ออย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากผลงานของเฟิง ย้อนไปเมื่อปี 2013 ยังมีกวน เทียนหลาง ที่เข้าไปเล่นรายการ เดอะ มาสเตอร์ส หนึ่งในเมเจอร์หลักของกอล์ฟชายด้วยวัยเพียง 14 ปี นักกอล์ฟดาวรุ่งชายของจีนเริ่มตีตั๋วเข้าสู่พีจีเอทัวร์หลายราย

นักกอล์ฟจีนหลายรายรวมถึงเฟิง มักถูกมองข้ามทั้งที่สร้างปรากฏการณ์หลายครั้ง รวมถึงเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ที่บราซิล เมื่อปี 2014 แกรี่ กิลคริสต์ โค้ชที่ขัดเกลาเฟิง ตั้งแต่เริ่มต้นเล่นระดับเยาวชนบอกว่า เธอฉายแววตั้งแต่เด็ก ลักษณะบุคลิกเป็นแบบ “เพชฌฆาตเงียบ” ไม่มีใครสนใจจนกระทั่งเธอชนะทัวร์นาเมนต์

แต่กอล์ฟหญิงเป็นวงการที่มาไวไปไว ขึ้นง่ายแต่รักษาฟอร์มเอาไว้ยาก นับตั้งแต่เจิ้ง หย่าหนี จากไต้หวัน สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาเมื่อเป็นนักกอล์ฟหญิงเอเชียคนแรก ๆ ซึ่งสามารถเบียดขึ้นอันดับ 1 ได้ แต่ไม่นานก็เปลี่ยนมือกันไปมากมาย ปีนี้มีนักกอล์ฟหญิงนั่งรับลมบนแท่นอันดับ 1 ของโลกแล้ว 5 ราย หนึ่งในนั้นมี เอรียา จุฑานุกาล จากไทยด้วย ถือว่าเป็นปีที่มีก้านเหล็กหมุนเวียนตำแหน่งอันดับ 1 มากที่สุดในรอบ 7 ปี

ไม่ว่าเฟิงจะรักษาผลงานได้นานหรือสั้น สำหรับวงการกอล์ฟจีน เฟิงอาจเป็นนักกอล์ฟที่เปิดประตูสู่เส้นทางใหม่ของวงการกอล์ฟจีน ข่าวการขึ้นอันดับ 1 โด่งดังไปทั่วโลก แน่นอนว่าเธอได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเกิดนับตั้งแต่ได้เหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์เมื่อปี 2014


ภายหลังความสำเร็จของเฟิง จำนวนนักกอล์ฟเยาวชนจีนเริ่มขยับขึ้นแบบช้า ๆ มีเยาวชนมาฝึกหัดในต่างแดนมากขึ้น ถ้ามีปัจจัยเอื้อหนุนอย่างดีพร้อม จีนมีศักยภาพพร้อมทุกด้านสำหรับการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจกอล์ฟในเอเชียควบคู่กับเกาหลีใต้และไต้หวัน