“มลพิษอากาศ” พ่นพิษอินเดีย หวั่นวิกฤตลากยาวฉุดจีดีพีลด 2%-

สภาพอากาศขมุกขมัวดูคล้ายเหมือนหมอกในฤดูหนาวปกคลุม “นิวเดลี” ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน แต่แท้จริงแล้วคือ “มลพิษ” ที่ฟุ้งอยู่ทั่วเมืองหลวง และเริ่มกระจายไปตามเมืองต่าง ๆ โดยนักวิเคราะห์ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจในครั้งนี้อาจกระทบต่อตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียถึง 2% หากรัฐบาลยังไม่เร่งมือแก้ไข

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุให้อินเดียเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายมานานเกือบทศวรรษ อีกทั้ง 20 เมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลกนั้น มีเมืองในอินเดียติดอยู่ถึง 13 เมือง โดยปี 2016 WHO ยกให้ “นิวเดลี” เป็นเมืองที่มีหมอกควันพิษในอากาศมากที่สุดในโลก โดยฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐานถึง 15 เท่า

ไฟแนนซ์เชียล ไทมส์ รายงานถึงสาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศ โดย ดร.หรรษ วรรธน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาอินเดียเปิดรับการลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงนิวเดลี ที่มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น 2-3 เท่าตัวอย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างชาติชี้ว่า ปัจจัยแรกเป็นเรื่องการเปิดรับการลงทุนต่างชาติมากขึ้น แต่ไม่มีกฎระเบียบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นโยบายส่วนใหญ่มุ่งไปที่เม็ดเงินลงทุนและการจ้างงานเท่านั้น

ส่วนปัจจัยที่สองได้แก่ “ควันพิษจากรถยนต์” ซึ่งรัฐบาลปักธงนโยบายตั้งเป้าให้ปี 2030 อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่ปลอดรถยนต์ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและก้าวสู่สังคมรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% แม้ว่าจะมีการนำร่องโครงการ “รถโดยสารไฟฟ้า” ในกรุงนิวเดลีแต่เสียงตอบรับยังกังขาว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ ? ภายใต้การเปลี่ยนแปลงมากมาย

ปัจจัยใหญ่ที่นักวิเคราะห์ชี้เป้าก็คือ “การเผาไร่” โดยอ้างข้อมูลจากองค์การนาซาที่ระบุว่า การเผาไร่และเศษผลผลิตที่เหลือจากเกษตรกรรมหลังสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยวในรัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะที่รัฐปัญจาบและรัฐหริยาณาทำให้เกิดมลพิษ โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า กรณีดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษที่นิวเดลีถึง 70%

ความน่ากังวลก็คือ ปัญหาหมอกควันในอินเดียหยั่งรากลึกกว่าที่คิดไว้ เกษตรกรชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยที่ถือว่าการเผาไร่เป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมานาน โดยแต่ละปีมีฟางข้าวจำนวนมากถึง 32 ล้านตันที่ถูกเผา แม้ว่ารัฐบาลเคยแนะนำให้ใช้วิธีอื่น เช่น ใช้เครื่องหว่านเมล็ดที่ไม่จำเป็นต้องเผาฟาง และจะช่วยออกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง แต่ชาวนาก็ยังเพิกเฉย

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักขึ้น สมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย (ASSOCHAM) กล่าวกับ บิซิเนส ทูเดย์ ว่า โดยปกติระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค. คือช่วงที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวมากที่สุด แต่ความเลวร้ายทำให้ยอดจองตั๋วมาอินเดียลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง เนื่องจากเครื่องบินไม่สามารถขึ้นบินได้ตามปกติ

ล่าสุด เวิล์ดแบงก์ประเมินค่าใช้จ่ายสำหรับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในอินเดีย ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 5.7% ของ GDP แต่ปัจจุบันรัฐบาลใช้งบประมาณส่วนนี้ไม่ถึงครึ่งจากที่ประเมินไว้ พร้อมระบุ หากอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศสะดุด การเติบโตของ GDP อินเดียอาจลดลงมากถึง 2%


ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บลูมเบิร์กเสนอว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำก็คือ มาตรการห้ามเผาไร่และพืชผลเกษตร แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการส่งเสริมในด้านอื่น ๆ แต่เป็นเพียงการสร้างแรงจูงใจไม่ใช่การบังคับใช้ นอกจากนี้ยังเสนอให้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศเหมือนประเทศอื่น โดยกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงการเพิ่มกฎบังคับห้ามสร้างฝุ่นในโครงการก่อสร้าง และมีนโยบายตรวจสอบยานพาหนะเก่าที่วิ่งบนท้องถนนอย่างจริงจัง