แก้เศรษฐกิจรากหญ้าอย่าเกียร์ว่าง-

บทบรรณาธิการ

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งอยู่ระหว่างรอประกาศเป็นทางการเกิดขึ้นในช่วงที่มีข่าวดีเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส และคาดการณ์ ว่าทิศทางเศรษฐกิจจากนี้ไปถึงปีหน้าจะขยายตัวต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2561 จะเติบโต 4-5%

สวนทางกับเศรษฐกิจท้องถิ่นรากหญ้าที่ยังซบเซาหนัก จากปัญหาพืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ เพราะตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาแม้รัฐจะออกหลากหลายมาตรการช่วยเหลือเยียวยา แต่ยังแก้ไม่ตก ส่งผลให้เกษตรกรทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ เผชิญสารพัดปัญหา ทั้งเรื่องปากท้องค่าครองชีพ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ภัยธรรมชาติ ฯลฯ

ชี้ให้เห็นว่า GDP ในภาพรวมของประเทศที่เติบโต สร้างความปีติยินดีให้กับรัฐบาลที่สามารถพลิกสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวให้กลับมาฟื้น ไม่ได้สะท้อนปัญหาของคนในระดับกลางและล่าง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง

เพราะขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ คนระดับบนประสานเสียงรับการขยายตัวของ GDP ที่สร้างสถิติใหม่ ภาคการส่งออกขยายตัวได้ตามเป้า การท่องเที่ยวสร้างรายได้เพิ่มได้เหนือความคาดหมาย แต่ภาคการเกษตร กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอียังตกที่นั่งลำบาก

เท่ากับเศรษฐกิจเวลานี้ยังโตแบบกระจุก คนบางกลุ่มเท่านั้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในภาคการเกษตรกับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีกว่า 80% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 65 ล้านคนยังมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย เพราะอานิสงส์แผ่ไปไม่ถึง

อย่างชาวสวนยางพาราที่ยังต้องทนอยู่ท่ามกลางความยากลำบาก เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาตกต่ำต่อเนื่อง แม้รัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือแต่ไม่ได้ผล สถานการณ์ราคายางมีแต่ดิ่งลง ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไม่สามารถบริหารจัดการภารกิจภายใต้ความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยิ่งช่วงปรับเปลี่ยน ครม.ยิ่งทำให้เกิดสุญญากาศ จนน่าห่วงว่าการแก้ไขปัญหาราคายางซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วจะถูกปล่อยเกียร์ว่าง เพราะต้องรอนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนใหม่ เฉกเช่นเดียวกับพืชผลการเกษตรอีกหลายชนิดที่กำลังมีปัญหารอให้รัฐบาลมาแก้ไข

หากเป็นอย่างนั้นภาคการเกษตรฐานรากของประเทศจะยิ่งจมดิ่ง ความเหลื่อมล้ำในสังคมยิ่งมีเพิ่มขึ้น ทำให้เป้าหมายหลักในการนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางห่างไกลออกไปอีก