จดหมายแห่งอนาคต (22) หรือรัฐจะคุม Data เสียเอง-

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

ในตอนที่แล้วพ่อเล่าให้ฟังว่า ในยุคของพ่อ รัฐบาลต่าง ๆ กำลังเริ่มเกรงกลัวบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ผงาดขึ้นมามีอำนาจในทางเศรษฐกิจ และทำการรับมือกับบริษัทเหล่านี้ด้วยวิธีการสามรูปแบบ คือ ล่า (ให้จ่ายภาษี) กำกับ และเข้าแทรกแซง

กำกับการใช้ data

ในฉบับที่แล้ว เราคุยกันถึงเรื่องการล่าภาษี แต่นั่นเป็นเพียงมิติเดียว ทุกวันนี้ความเรืองอำนาจของบริษัทดิจิทัลทำให้รัฐบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุโรป เริ่มคิดหาวิธีกำกับดูแลยักษ์ดิจิทัลเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการนำ data ของคนไปใช้ ที่ส่วนใหญ่เรียกว่าสามารถเอาไปใช้ได้อย่าง “ฟรี” โดยพวกเราเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเปิดข้อมูลอะไรไปบ้าง แล้วถูกนำไปใช้อะไรบ้าง

เพื่อเป็นการตอบโต้เทรนด์นี้ ทางกลุ่มรัฐบาลยุโรปจึงออกกฎหมายที่ชื่อ GDPR (General Data Protection Regulation) ขึ้นมาเพื่อคุ้มครอง “เจ้าของ data” อย่างพวกเราทุก ๆ คนมากขึ้น โดยกำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีที่เอาข้อมูลดิจิทัลของเราไปใช้ ต้องเปิดให้เราเข้าไปดูได้ว่า data อะไรของเราที่ถูกนำไปใช้บ้าง ใช้เพื่ออะไร และเราต้องสามารถขอถอนคำยินยอมให้ใช้ data ได้อย่างง่ายดายด้วย

แต่พอเห็นเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเสนอแนะให้เพิ่มไปอีกขั้น ว่าทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนความคิดใหม่ มองคนทุกคนว่าเป็นเสมือน “ร้านค้า data ของตัวเอง” คือ มีสิทธิ์เลือกเองว่าจะ “ขาย” ข้อมูลของตนให้กับบริษัทดิจิทัลหรือไม่ หรือจะเปิดข้อมูลของตัวเองให้แค่ไหน ในราคาใด โดยทุกคนอาจมี “บัญชีข้อมูลส่วนบุคคล” (personal data account) ที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ ของตนไว้แยกเป็นกลุ่ม ๆ ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน ชื่อ อายุ เพศ ไปจนข้อมูลทางพฤติกรรมเชิงลึกที่ได้จาก social media โดยกูรูอย่าง Don Tapscott เคยเสนอว่า ข้อมูลอาจถูกเก็บด้วยระบบ blockchain และแต่ละคนจะต้องมี private key ของตนเองถึงจะเปิดข้อมูลบางส่วนได้ เพราะจะปลอดภัยกว่าระบบฐานข้อมูลกลางที่หากถูกแฮกแล้วจะเห็นและดูดข้อมูลไปได้ทั้งหมด

รัฐยึด data เท่ากับรัฐยึดอำนาจ?

แต่พ่อว่านอกจากการกำกับดูแลแล้ว บางรัฐบาลอาจมองว่าจะลดอำนาจของบริษัทดิจิทัลพวกนี้ไปทำไม สู้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มี โดยนำมาเพิ่มอำนาจให้กับรัฐไม่ดีกว่าหรือ เหมือนที่สุภาษิตฝรั่งเรียกว่า If you can’t beat them, join them. (หากปราบหรือเอาชนะเขาไม่ได้ ก็ร่วมกับเขาเลยดีกว่า)

หากมองในแง่ดี การที่รัฐบาลร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีก็อาจจะมีประโยชน์มหาศาล เพราะหากสิ่งนี้นำมาสู่การพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบาย ข้อมูลจาก social media อาจช่วยทำให้ตรวจพบการก่อการร้ายได้เร็วขึ้น ข้อมูลเรื่องการเจ็บป่วยของคนอาจทำให้เจอต้นตอของโรคระบาดได้ก่อนจะแพร่กระจาย จนไปถึงข้อมูลการใช้จ่ายที่อาจช่วยให้การติดตามประเมินผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ช็อปช่วยชาติ บัตรสวัสดิการภาครัฐ ว่าได้ผลจริงหรือไม่อย่างไร

แต่ในช่วงที่พ่อเขียนจดหมายนี้อยู่ เริ่มมีหลายคนกลัว “ด้านมืด” ของ data ว่า รัฐบาลบางประเทศอาจเข้าไปแทรกแซง หรือจับมือบริษัทยักษ์ใหญ่ดิจิทัล เพื่อใช้ในการแทรกแซงและควบคุมประชาชนในแบบหนัง sci fi หลายเรื่อง อย่างเช่น ซีรีส์ Black Mirror หรือ The Circle ที่เพิ่งออกฉายมาในปีที่พ่อเขียนจดหมายนี้พอดี

ตัวอย่างหนึ่ง คือ ในกรณีประเทศจีน มีข่าวว่ารัฐบาลพยายามเข้าไปซื้อหุ้นในยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของจีน ในช่วงเดียวกันนั้นก็มีข่าวออกมาว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของแอปยอดฮิตของจีนอาจถูกแชร์ให้กับทางรัฐบาลจีน จึงไม่แปลกเลยที่คนเริ่มกลัวแผนของรัฐบาลจีนที่จะพัฒนาระบบการให้คะแนนประชากรแต่ละคน หรือ social credit scoring (SCS) โดยใช้เทคโนโลยี big data จากข้อมูลพฤติกรรมของแต่ละคน โดยแผนนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 และในปี 2015 ธนาคารกลางของจีนได้มีการมอบหมายให้บริษัทเอกชน 8 ราย ทำการทดลองพัฒนาระบบ SCS นี้

สิ่งที่คนเป็นห่วงที่สุด นอกจากเรื่องความเป็นส่วนตัวที่จะละลายหายไปแล้ว ก็คือการที่ตัวแปรที่ใช้กำหนด SCS บางตัวอาจถูกนำมาใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลได้ เช่น หากเราเคยเขียนบ่นรัฐบาลใน social media หรืออ่านไลก์บทความที่เขียนวิจารณ์รัฐบาลทางลบบ่อย ๆ แล้ว จะมีผลทำให้ SCS ของเราต่ำลงไหม ? หากเราเล่นเกมหรือช็อปปิ้งออนไลน์นานไปจะถูกมองว่าเราไม่ขยันหรือไม่ ? หรือแม้แต่เกิดมาในลักษณะครอบครัวบางรูปแบบอาจทำให้คะแนนเราต่ำตั้งแต่เกิดไหม ?

และที่คนกลัวก็คือ หากคะแนน SCS เราต่ำทั้งหมด อาจมีผลต่อทุก ๆ ด้านในชีวิตเราไม่ใช่แต่เรื่องการขอสินเชื่อ แต่อาจมีผลแม้แต่การขอทุนการศึกษา การทำพาสปอร์ต หรือแม้แต่การหาคู่ จนทำให้เกิดสังคมที่คนยึดอยู่กับตัวเลข (ยิ่งกว่าเก่า) ซึ่งจะทำให้การยึดอำนาจทางการเมืองและลิดรอนสิทธิเสรีของประชาชนเกิดได้โดยง่าย

คานอำนาจด้วยข้อมูล

หากภาครัฐหันมาจับมือกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่าง ๆ จริง ก็อาจมีทั้งประโยชน์และความเสี่ยงด้วยเช่นกัน พ่อจึงคิดว่าหากรัฐมีอำนาจมากขึ้นจากการเข้าถึง data ของประชาชน เราก็ยิ่งควรผลักดันให้รัฐ “เปิด” ข้อมูลของตนให้กับประชาชนมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยไม่ใช่แค่เปิดเพียงการโยนข้อมูลต่าง ๆ ขึ้นไปกอง ๆ กันในเว็บ แล้วให้คนเข้าไปหาเอาเอง แต่ต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ (ที่ไม่ใช่เรื่องลับหรือเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติจริง ๆ) เพื่อให้การตรวจสอบประเมินผลภาครัฐโดยภาคประชาชนนั้นง่ายขึ้นเป็นพื้นฐานนำไปสู่การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ยิ่งสำคัญขึ้นในยุคของ data

พูดอีกอย่างก็คือ หาก data คืออำนาจในยุคใหม่จริง การถ่วงดุลอำนาจก็อาจต้องทำด้วย data เช่นกัน หากรัฐใดคิดเอาแต่ข้อมูลประชาชนโดยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลของตนเองกลับคืน ย่อมเป็นตัวแปรสำคัญที่บ่งบอกเราว่ารัฐบาลนั้นคิดว่าอำนาจควรอยู่ที่ใคร

พ่อหวังว่าวันที่ลูกอ่านจดหมายนี้ รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกจะเลือกใช้ data เพื่อเพิ่มพลังให้กับประชาชนมากกว่าตนเอง บริษัทยักษ์ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจเท่านั้น