“มาเลเซีย” กดปุ่มดิจิทัลอีโคโนมี เปลี่ยนประเทศด้วยเทคโนโลยี-

ปฎิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในทุกสิ่ง ซึ่งไม่เฉพาะประเทศไทยที่มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี “ดิจิทัล” หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน ในงาน “หัวเว่ย เอเชีย-แปซิฟิก อินโนเวชั่นเดย์” ที่ประเทศมาเลเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ตอกย้ำให้เห็นถึงความตื่นตัวลงทุนในด้านนี้ของรัฐบาลมาเลเซีย ขณะที่ยักษ์ผู้ผลิตอุปกรณ์และโซลูชั่นด้านไอซีทีแดนมังกร “หัวเว่ย” ได้เข้ามาร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม

“กัว ผิง” รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวว่า ครั้งนี้รัฐบาลมาเลเซียได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหัวเว่ยในด้านต่าง ๆ ได้แก่ SMEs Corporation Malaysia, Uni-versity Malaysia Sabah, Terengganu State Government และ Cyber Security Malaysia และเตรียมจัดตั้งศูนย์ OpenLab แห่งใหม่ในมาเลเซีย ซึ่งจะใช้เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดรับการพัฒนาใหม่ ๆ มีความยืดหยุ่น และปลอดภัย สำหรับสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรในมาเลเซีย

ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยได้จัดตั้งศูนย์ OpenLab ในเมืองมิวนิก เม็กซิโก ดูไบ สิงคโปร์ จีน และกรุงเทพฯ ทุกแห่งจะรองรับการทำงานร่วมกันระหว่างหัวเว่ยและพันธมิตรกว่า 400 รายทั่วโลกเพื่อพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ร่วมกัน

“ดาโต๊ะ ซรี ดร.อาหมัด ซาฮิด ฮามิดิ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งมาเลเซีย กล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียได้ลงทุนในด้านอินโนเวชั่นตามที่เทรนด์ของโลกที่มุ่งไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อช่วยผลักดันประเทศไม่ให้ตกขบวน ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียเองก็หวังว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้ GDP ของประเทศเติบโตขึ้นได้และสำหรับภาคประชาชนก็ต้องนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่เพียงแค่เล่นโซเชียลมีเดีย โดยรัฐบาลได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และด้านความปลอดภัย เช่น โครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G, ระบบกล้องวงจรปิด, การใช้หุ่นยนต์ และต่อไปจะทำเรื่องบิ๊กดาต้า และเอไอ (AI : Artifi-cial Intelligence) นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ใช้นวัตกรรมเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

สำหรับการร่วมมือกับหัวเว่ยจะทำการพัฒนาด้าน SMEs เนื่องจากเป็นส่วนที่ขับเคลื่อนประเทศเพราะมีสัดส่วนถึง 99.2% โดยไอทีจะมาช่วยให้มีผลผลิตที่ดีขึ้น และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ต่อมาด้าน “Cyber Security Malaysia” เป็นการนำโซลูชั่นบิ๊กดาต้ามาใช้ในการตรวจสอบใบหน้าคนผ่านกล้องวงจรปิดของมาเลเซียทั้ง 28,000 เครื่อง หลังจากที่ระบบนี้ประสบความสำเร็จช่วยลดอาชญากรรมในประเทศจีน โดยได้มีการทดลองทำร่วมกับหัวเว่ยแล้ว

นอกจากนี้ ยังนำร่องสมาร์ทซิตี้ในเมือง Terengganu รวมทั้งภาคการศึกษา หัวเว่ยได้ช่วยในการให้คำปรึกษาในการพัฒนาโปรแกรมการสอนนักเรียน แชร์ความรู้และอุปกรณ์ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนที่ดี

“มาเลเซียต้องเดินหน้าด้วยดิจิทัล ตอนนี้อินฟราสตรักเจอร์ของเราพร้อมแล้ว และกำลังก้าวสู่ขั้นที่ 2 คือ การนำบิ๊กดาต้ามาใช้ ดังนั้นเราหวังว่าประชาชนจะนำไอทีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งเอสเอ็มอีก็ต้องนำไอทีไปปรับใช้เช่นกัน”

“ดาร์เรลล์ เวสท์” รองประธาน สถาบันบรูกกิงส์ หน่วยงานวิจัยชั้นนำ กล่าวเสริมว่า จากการวิจัยเมืองปลอดภัยทั่วโลกพบว่า ภายในปี 2020 ประชากร 70% ต้องการมีที่อยู่อาศัยในเมือง และมองว่าสมาร์ทซิตี้ต้องมีทั้งความปลอดภัยด้านพลังงาน, การขนส่ง, โทรคมนาคม และสังคม จากการสำรวจใน 17 ประเทศทั่วโลก พบว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ โคเปนเฮเกน และลอนดอน สำหรับประเทศมาเลเซียอยู่อันดับที่ 12 ส่วนไทยอยู่อันดับ 10 ซึ่งสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดีคือ การใช้บิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์

จากสำรวจยังพบว่าประเทศที่มีการลงทุนด้านไอซีทีเพิ่มขึ้น 10% จะช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น 6% นอกจากนี้ทั่วโลกมีการลงทุนด้านบรอดแบนด์ถึง 27,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะช่วยเพิ่มตำแหน่งงาน 3 ล้านตำแหน่ง และเพิ่ม GDP มากกว่า 50,0000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“เมืองต่าง ๆ ต้องเผชิญกับอุปสรรคทั้งปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ความขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค และปัญหาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย แต่สิ่งสำคัญก็คือผู้นำประเทศต่าง ๆ ต้องเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ให้ได้ผ่านนวัตกรรมความปลอดภัยสาธารณะ”