ทย.สรุปแผนพัฒนาสนามบิน ดึง “ทอท.” นำร่องบริหาร 2 แห่ง-

“กรมท่าอากาศยาน” เผยผลการศึกษาแนวทางยกระดับ 29 สนามบิน วางเป้าดึง ทอท.นำร่องบริหาร “อุดรธานี-ตาก” พร้อมให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนา “ลำปาง-เพชรบูรณ์-นครราชสีมา-ชุมพร”

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากได้ว่าจ้างศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการเพื่อจัดทำแนวทางการบริหารกลุ่มท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน ผลการศึกษาระบุว่า จากการวิเคราะห์สภาพการณ์สำคัญทั้งปัจจัยภายในและภายนอกของกรม รวมถึงเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล จึงได้กำหนดตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ให้กับท่าอากาศยาน (สนามบิน) ในสังกัดกรม เป็นท่าอากาศยานแห่งการสร้างคุณค่าและโอกาส

โดยกำหนดแนวทางในการบริหารสนามบินในสังกัด 2 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.โครงการนำร่องเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในการบริหารและพัฒนาสนามบิน และ 2.โครงการยกระดับการบริหารสนามบินในสังกัด ที่เตรียมนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

สำหรับแนวทางแรกนั้นได้จัดทำรูปแบบการบริหารออกเป็น 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.ให้สิทธิ์การบริหารแก่บริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบการดำเนินงานสนามบินหลักของประเทศ 6 แห่งในภูมิภาคหลักของประเทศ แต่ยังขาดสนามบินในพื้นที่ภาคตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือ คือสนามบินอุดรธานีและตาก เพื่อให้ ทอท. มีโครงข่ายในการพัฒนาเส้นทางการบินที่ครบทุกภูมิภาคหลักของประเทศ

และ 2.การให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนา โดยได้กำหนดให้สนามบิน 4 แห่งเป็นเป้าหมายสำหรับการดำเนินงานตามรูปแบบนี้ ประกอบด้วยสนามบินลำปาง, เพชรบูรณ์, นครราชสีมา และชุมพร โดยรายละเอียดของรูปแบบของการให้เอกชนร่วมลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับผลการศึกษาที่ต้องดำเนินงานตามมาตรา 25 ของการจัดทำ PPP (เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ) ต่อไป

นายดรุณกล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการศึกษาขีดความสามารถด้านการขนส่งทางอากาศและขีดความสามารถด้านการเงิน พบว่าสนามบินในสังกัดกรมท่าอากาศยานมีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสูงถึงกว่า 25% (ปี 2552-2559) และมีท่า 17 แห่งที่มีผลกำไรจากการดำเนินงาน และจากการพยากรณ์การเติบโตของปริมาณการขนส่งทางอากาศที่ใช้บริการสนามบินในสังกัดในระยะ 20 ปี (เฉพาะสนามบินในปัจจุบัน 28 แห่ง) พบว่าจะมีสนามบินที่มีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 25 แห่ง และมีสนามบินที่ประสบภาวะขาดทุนเพียง 3 แห่งเท่านั้น