เอกชนค้านสูตรราคาเอทานอล รัฐเพิ่มตัวเลขตลาดฟิลิปปินส์-กดต้นทุน-

สนพ.เรียกเอกชนหารือปรับสูตรคำนวณราคาเอทานอลใหม่ เพิ่มราคาเอทานอลตลาดฟิลิปปินส์รวมไว้ในสูตร หวังกดดันราคาเอทานอลให้ต่ำลง โรงงานผลิต-โรงกลั่นน้ำมันค้านสุดตัว เพราะจะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อย-มัน ต้องปรับลดลงด้วยเช่นกัน ระวังวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักพราะถูกกว่าซื้อในประเทศ

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเอทานอล เช่น ผู้ผลิตเอทานอล และโรงกลั่นน้ำมัน ในประเด็นการปรับสูตรการคำนวณราคาเอทานอลให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยสูตรที่ใช้ในปัจจุบันคือให้ใช้ราคาเอทานอลอ้างอิงจากการราคา ระหว่างราคาเอทานอลที่ผู้ผลิตรายงานต่อกรมสรรพสามิตกับราคาเอทานอลที่ผู้ค้ามาตรา 7 รายงานต่อ สนพ. และตัดราคาสูงสุดและต่ำสุดออกไป ก็จะได้ราคาเอทานอลที่ประมาณ 24-25 บาท/ลิตร ซึ่ง สนพ.มองว่าสูตรคำนวณในปัจจุบันยังไม่ส่งผลให้ราคาเอทานอลถูกลง จึงมีแนวคิดให้นำราคาเอทานอลของตลาดฟิลิปปินส์มาคำนวณรวมด้วย โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมเอทานอล และทำให้ราคาเอทานอลถูกลง

ทั้งนี้ผู้ผลิตเอทานอลและโรงกลั่นน้ำมันได้ “คัดค้าน” สูตรคำนวณดังกล่าวเพราะ 1) สูตรดังกล่าวไม่ได้กดดันให้เฉพาะราคาเอทานอลถูกลงเท่านั้น แต่จะไปกดราคาส่วนอื่นด้วย โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรที่ต้องใช้เป็นวัตถุดิบคือ อ้อย กากน้ำตาล และราคามันสำปะหลัง ต้องลดลงไปด้วย 2) หากผู้ผลิตเอทานอลไม่สามารถหาวัตถุดิบที่มีราคาถูกได้ อาจมีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องทันที สุดท้ายเกษตรกรก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตในประเทศ และ 3) ผู้ผลิตเอทานอลอาจจะต้องทยอยปิดโรงงานเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ และที่สำคัญคือ ขณะนี้มีโรงงานเอทานอลใหม่ ๆ ทยอยผลิตเข้าระบบเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามจากความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่งผลให้ สนพ.ยังไม่ได้พิจารณาเห็นชอบว่าจะใช้สูตรคำนวณดังกล่าวหรือไม่

“ตลาดเอทานอลในไทยและฟิลิปปินส์มีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในแง่ของความต้องการใช้ที่มากกว่าไทยและมีกฎหมายที่ระบุชัดถึงเป้าหมายการใช้ว่าในปี 2006 ควรมีการใช้ทั้งประเทศที่ 5% และในบางพื้นที่ที่มีศักยภาพก็กำหนดว่าความต้องการใช้จะอัพเป็น 10% เป็นต้น ไทยใช้อยู่ประมาณ 600-700 ล้านลิตร/ปี ในขณะที่ฟิลิปปินส์ใช้มากกว่าไทยเท่าตัวหรือประมาณ 1,400 ล้านลิตร/ปี ซึ่งด้วยความที่ประเทศเป็นหมู่เกาะพื้นที่เพาะปลูกอ้อยค่อนข้างจำกัด จึงใช้วิธีนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีราคาถูกกว่าสั่งซื้อจากไทย”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมทีนั้นฟิลิปปินส์นำเข้าเอทานอลจากไทยเป็นหลัก โดยก่อนหน้านี้ไทยส่งออกเอทานอลมายังฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมากในช่วงปี 2555 รวม 160 ล้านลิตร แต่หลังจากที่กระทรวงพลังงานมีการประกาศยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ในปี 2556 ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น การส่งออกจึงน้อยลงตามไปด้วย รวมถึงเมื่อสหรัฐมีนโยบายส่งเสริมเอทานอลและยังมีการปลูกข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMO ที่มีราคาเพียง 5 บาท/กิโลกรัม ทำให้ราคาเอทานอลถูกมาก เมื่อรวมต้นทุนการขนส่งจนมาถึงฟิลิปปินส์ราคายังถูกกว่าไทยมากที่ 16-17 บาท/ลิตรเท่านั้น ในขณะที่ราคาเอทานอลของไทยอยู่ที่ 24-25 บาท/ลิตร ทำให้แข่งขันในตลาดไม่ได้ และในปัจจุบันสถานการณ์ปริมาณการผลิตเอทานอลในขณะนี้ถือว่าล้นระบบประมาณ 2 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากโรงงานผลิตเอทานอลใหม่ได้เริ่มผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้นรวมปริมาณ 6 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่ความต้องการใช้ไม่เกิน 4.2 ล้านลิตร/วัน

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับประเทศฟิลิปปินส์มีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเอทานอลทั้งระบบอย่างมีเป้าหมายและออกเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างชัดเจน ในขณะที่ไทยมีเฉพาะแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2558-2579 หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan) เท่านั้น ซึ่งภาครัฐให้เหตุผลที่ไม่มีการผลักดันให้มีกฎหมายกำกับดูแลเอทานอลโดยเฉพาะ เพราะการใช้แผนมีความยืดหยุ่นกว่า และยังสามารถปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ดีกว่าอีกด้วย ทั้งนี้สำหรับราคาเอทานอลที่ประกาศโดย สนพ.ล่าสุดราคาอยู่ที่ประมาณ 24 บาท/ลิตร