กรศ.เปิดแผน PPP ลงทุน 4 โครงการขนาดใหญ่ EEC ปี’61-

เปิดแผนงาน 4 โครงการใหญ่ใน EEC ปี 2561 กรศ.-กระทรวงอุตฯเร่งแผนสร้างคน-ท่องเที่ยวรองรับทันที

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ กรศ.ได้จัดทำกรอบแผนงานโครงการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ขนาดใหญ่ 4 โครงการหลักในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย 1.สนามบินอู่ตะเภา 2.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา 3.รถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน 4.ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2561

จากนั้นจะเริ่มเข้าสู่แผนงาน โดยกรอบการทำงานของสนามบินอู่ตะเภาเริ่มตั้งแต่ ต.ค. 2560 จนถึง มี.ค.2561 จะเสนอแผนให้ คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้ความเห็นชอบต่อรายงาน ต.ค. 2561 เข้าสู่การคัดเลือกนักลงทุนและลงนามในสัญญา ในส่วนของอาคารต่าง ๆ จะใช้ทั้งรูปแบบ PPP หรือเอกชนเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่ส่วนอื่น ๆ เช่น รันเวย์ ที่ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานจะต้องเป็นการลงทุนจากภาครัฐ

ส่วนแผนงานสำคัญขนาดเล็ก 2 โครงการที่ กรศ.และกระทรวงอุตสาหกรรม กำลังดำเนินการเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) คือ แผนด้านการศึกษา เช่น การผลิตแรงงานระดับอาชีวะ หลักสูตรเกิดจากการร่วมมือของสถาบันการศึกษา และแผนท่องเที่ยว คือ ต้องพัฒนาเมืองให้มีศักยภาพระดับโลก เพื่อดึงเที่ยวบินมาลงที่สนามบินอู่ตะเภา

“ตอนนี้นักลงทุนจับตาดูความคืบหน้าของโครงการใน EEC เพื่อเตรียมลงทุน เราตั้งเป้า 1 ปี ต้องมีนักลงทุน 30 ราย ต้องทำแผนท่องเที่ยว เกษตร ด้านการศึกษา และผังเมืองต้องเสร็จ และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่าเมืองเหมาะกับท่องเที่ยวด้านไหน”


ระหว่างนี้ต้องเร่งดึง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ลงทุน เช่น การดึงลาซาด้าลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล, แอร์บัส โรลส์-รอยซ์ ลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยาน โตโยต้า ลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กลุ่มอมตะ WHA และอีก 6-7 รายที่พร้อมลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ควบคู่ไปกับการทำโครงสร้างพื้นฐาน ใน 5 ปี จะเห็น EEC เฟสแรกเสร็จสมบูรณ์