“CPF” ชูบัลลังก์โมเดลปี 2 ดันสู่ข้าวโพดแปลงใหญ่-

ซีพีเอฟเดินหน้า “บัลลังก์โมเดล” โครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน ปีที่ 2 จับมือเทศบาล ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา จัดงาน Field Day โชว์ความสำเร็จ พัฒนาศักยภาพเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยกระดับสู่ข้าวโพดแปลงใหญ่

นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการโครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน หรือบัลลังก์โมเดล ขึ้นเป็นปีที่ 2 ถือเป็นโครงการที่มีการผนึกพลังระหว่างภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรเพาะปลูกข้าวโพดอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูก การบริหารจัดการเก็บเกี่ยวและขนส่ง บนพื้นฐานการตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยเกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพาะปลูก เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตได้ตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น รวมถึงการมีตลาดรับซื้อในราคาประกัน โดยเกษตรกรสามารถนำมาขายตรงเข้าโรงงานอาหารสัตว์ได้ราคารับซื้อสูงถึง 7.90 บาทต่อกิโลกรัม

“นับจากนี้ โครงการจะสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อมุ่งสู่เกษตรกรแปลงใหญ่ เพื่อช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับให้สอดคล้องตามมาตรฐานทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน” นายวรพจน์กล่าว และว่าในปีนี้บริษัทนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร พร้อมจัดทำแปลงสาธิตให้เกษตรกรที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และนำไปปรับใช้กับแปลงปลูกข้าวโพดของตนเองได้ด้วย

แนวทาง “บัลลังก์โมเดล” ไม่เพียงสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรในตำบลบัลลังก์เท่านั้น หากเป็นต้นแบบของการรวมพลังนำจุดแข็งของภาคีเครือข่าย รัฐ-เอกชน-เกษตรกร เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทยในพื้นที่อื่น ๆ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมสร้างคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อมของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ร้อยตรีฐนนท์ธรณ์ กวีกิจรัตนา นายกเทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การจัดนิทรรศการ “ข้าวโพดแปลงใหญ่ ด้วยเกษตรทันสมัย” เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการบัลลังก์โมเดล ในปีที่ 2 มีเกษตรกรในพื้นที่เทศบาลบัลลังก์เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 451 ราย พื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 13,500 ไร่ เป็นผลจากความสำเร็จของโครงการในปีแรก โดยในปีที่สอง มีการนำความรู้เกษตรสมัยใหม่ และหลักการเกษตรที่ดี (GAP) มาประยุกต์ใช้ ส่งผลให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต ได้คุณภาพข้าวโพดตรงกับความต้องการของตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อไร่ดีขึ้น โดยเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 47% ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลงถึง 23% และมีกำไรจากการปลูกสูงถึง 3,800 บาทต่อไร่ บนพื้นฐานของการตรวจสอบย้อนกลับได้ เกษตรกรสามารถนำผลผลิตขายตรงสู่โรงงานอาหารสัตว์ในราคาประกัน