ธรรมชาติส่งสัญญาณ “อาร์กติก” กำลังเปลี่ยน! หลังพบฝูงหมีขั้วโลกนับ 200 ตัวบนเกาะในรัสเซีย

ภาพจาก AFP

แชนเนลนิวส์เอเชียรายงานว่า เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวที่เข้าไปยังบริเวณอุทยานแห่งชาติรัสเซียนอาร์กติก ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะอยู่ในทะเลอาร์กติก โดยนักท่องเที่ยวได้พบหมีขาวขั้วโลกอยู่บนเนินเขาของเกาะราว 200 ตัว

“นี่เป็นสถานการณ์ที่แปลกมาก และทุกคนที่ได้เห็นก็ประหลาดใจมาก” อเล็กซานเดอร์ กรูซเดฟ ผู้อำนวยการเกาะแรนเกล กล่าว

โดยขณะที่พบหมีขั้วโลกกลุ่มนี้นั้น พวกมันกำลังรุมกินเหยื่ออย่างวาฬหัวคันศรอยู่ริมฝั่ง ก่อนจะพักผ่อนอยู่ในบริเวณใกล้ๆ ทั้งนี้ ในฝูงหมีขั้วโลกนี้ประกอบไปด้วยครอบครัวหมีขั้วโลกหลายครอบครัวด้วยกัน

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งซึ่งเป็นที่อยู่ของหมีขั้วโลกกำลังละลาย ทำให้หมีต้องอาศัยอยู่บนแผ่นดินนานขึ้น

โดยนี่อาจจะเป็นเรื่องตื่นตาสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้เห็นหมีขั้วโลกจำนวนมากอยู่บนเกาะ หรือหนาตามากขึ้นบริเวณชายฝั่ง แต่นั่นก็หมายถึงพวกมันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้นในการหาอาหารจากบนบกที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย และชาวบ้านก็ยังเสี่ยงกับการที่จะมีสัตว์หิวโหยเข้ามาหากินในหมู่บ้าน

ทั้งนี้ เกาะแรนเกลเป็นสถานที่ที่หมีขั้วโลกจะมาอาศัยในช่วงที่น้ำแข็งละลาย ซึ่งก็คือระหว่างต้นเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน และเมื่อพวกมันไปจากที่นี่ พวกมันก็จะล่าแมวน้ำเป็นอาหาร

นอกจากนี้ กรูซเดฟกล่าวว่า เกาะแห่งนี้ยังเป็นบริเวณให้กำเนิดของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด อย่างนกในอาร์กติกก็จะมาสร้างรังและวางไข่ที่นี่มากที่สุด

“วาฬนั่นถือเป็นของขวัญสำหรับพวกมันจริงๆ เพราะวาฬตัวเต็มวัยหนึ่งตัวมีน้ำหนักหลายสิบตันเลยทีเดียว ซึ่งจะเป็นอาหารของพวกหมีขั้วโลกไปได้หลายเดือน” กรูซเดฟกล่าว

อีริค เรเกอร์ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยและเปรียบเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน พบว่า หมีขั้วโลกในปัจจุบันอาศัยอยุ่บนเกาะแรนเกลนานกว่า 1 เดือน เนื่องจากน้ำแข็งละลายเร็วกว่าเดิม และช่วงเวลาที่น้ำแข็งละลายก็ยาวนานขึ้้น

โดยจากการสังเกตพบว่า ในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้พบหมีขั้วโลก 589 ตัว จากแต่ก่อนที่พบเพียง 200-300 ตัวเท่านั้น ซึ่งถือว่าเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ

ด้านสหประชาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประมาณการว่า ปัจจุบันมีหมีขั้วโลกประมาณ 26,000 ตัวในแถบอาร์กติก และในระยะยาวน่าจะลดลงเรื่อยๆ จากการลดลงของน้ำแข็ง