5 แบงก์ชิงลูกค้า “ไร้เงินสด” ธปท.หนุนธนาคารรุกอีคอมเมิร์ซ-

แบงก์พาณิชย์เปิดศึกรอบใหม่ เร่งส่งพนักงานสาขา-ทีมเอาต์ซอร์ซ ประกบร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ เปิดบัญชีชำระคิวอาร์โค้ด พร้อมแคมเปญชิงฐานลูกค้าใหม่ เจาะร้านค้าตลาดสด-ร้านกาแฟ-แฟรนไชส์-วัด-มหาวิทยาลัย จับตาจุดเปลี่ยนสมรภูมิแบงก์ยุค “สังคมไร้เงินสด” นายแบงก์ชี้ต่อยอดคิวอาร์โค้ดปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ ธปท.ซุ่มเงียบศึกษาแนวทางอนุญาตให้แบงก์รุกธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมทดสอบโครงการ QR Code Payment สำหรับการให้บริการผ่านพร้อมเพย์ 5 ธนาคาร คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารออมสิน สามารถเปิดให้บริการทั่วประเทศเมื่อ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมจำกัดการทดลองอยู่แค่ในตลาดนัดสวนจตุจักร สยามสแควร์ และแพลทินัม ส่งผลให้ขณะนี้ธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต่างเร่งทำแคมเปญเพื่อดึงร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ มาเปิดบัญชีเพื่อรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด ถือเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดของแบงก์ในยุคสังคมไร้เงินสด

เปิดทางแบงก์รุก “อีคอมเมิร์ซ”

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากการอนุญาตให้ 5 แบงก์พาณิชย์เปิดให้บริการคิวอาร์โค้ดเป็นการทั่วไป ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ กรณีแบงก์พาณิชย์จะเข้ามาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หลังมีแบงก์เข้ามาขออนุญาตกับ ธปท.ซึ่งอนาคตก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเห็นแบงก์เข้าไปทำธุรกิจนี้ เพราะในประเทศสิงคโปร์ ธนาคารกลางสิงคโปร์ก็อนุญาตให้แบงก์สามารถเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ สามารถขายสินค้า ทำหน้าที่เป็นตัวกลางได้ แต่จำกัดอยู่ในประเภทสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อธุรกิจต่ำด้วย ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีความชัดเจนได้ภายในปี 2561

“ตอนนี้เรากำลังดูอยู่ว่าโมเดลไหนจะเหมาะ ต้องเข้าศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (regulatory sandbox) ด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องเข้าไปดูว่าเข้าข่ายแบบไหน หรืออาจไม่เข้าเพราะไม่ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน ส่วนที่ปัจจุบันแบงก์เริ่มมีการนำเสนอบริการออกมาในลักษณะคล้ายการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็ต้องไปดูว่าเป็นลักษณะไหน”

เพิ่มทีมเอาต์ซอร์ซดึงลูกค้า

ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนี้สิ่งที่ธนาคารต้องทำคือต้องเพิ่มกำลังคน เพิ่มทีมเอาต์ซอร์ซในการหาลูกค้าเพื่อให้เข้าช่วยเปิดบัญชีให้กับร้านค้า ขอความร่วมมือสาขาเพื่อหาลูกค้า และต้องเตรียมระบบหลังบ้านให้เสถียร เพื่อควบคุมให้การใช้คิวอาร์โค้ดมีเสถียรภาพ เช่น หากเกิดกรณีลูกค้าโอนเงินผิด กดคิวอาร์โค้ดผิด ระบบต้องสามารถคืนเงินให้ลูกค้าได้ทันที ซึ่งทุกวันนี้ทุกแบงก์ยังไม่สามารถทำได้ แต่กรุงศรีฯสามารถทำได้แล้ว

สำหรับโปรโมชั่นที่ธนาคารออกมีทั้งสองส่วน คือ ที่ให้กับร้านค้า และลูกค้า แต่ธนาคารจะเน้นไปที่ร้านค้ามากกว่าเพื่อดึงให้ร้านค้ามารีจิสเตอร์ก่อน เพราะจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ร้านค้า

“ตอนนี้ร้านค้าในกระเป๋าเรา ส่วนใหญ่เป็นเชนธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางราว 150-200 ราย ซึ่งมีสาขาหรือเครือข่ายอยู่ราว 30,000 สาขา ซึ่งตอนนี้เริ่มทยอยติดตั้งลงไปที่ร้านค้าแล้ว ก็คาดว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง หรือราว 15,000 ร้านค้า จะเข้ามาเป็นลูกค้าเปิดบัญชีใช้คิวอาร์โค้ดชำระเงินกับธนาคาร และส่วนที่อยู่ระหว่างพูดคุยมีอีกหลายร้อยร้านค้า

คิวอาร์โค้ดต่อยอดปล่อยสินเชื่อ

นายฐากรกล่าวว่า ผลที่จะมาจากคิวอาร์โค้ด มิติแรก คือจะทำให้เกิดการเข้าไปปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ไมโครไฟแนนซ์เพิ่มขึ้น เพราะหากธนาคารมีฐานบัญชีของร้านค้า เกิดธุรกรรมเงินเข้าเงินออก การซื้อสินค้าต่าง ๆ ก็จะเห็นข้อมูลลูกค้า และนำไปพิจารณาและปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ต่างกับปัจจุบันที่เวลาปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ต้องส่งทีมไปประกบลูกค้า ดูการซื้อขายแต่ละวัน ทำให้การปล่อยหรืออนุมัติสินเชื่อเป็นไปได้ช้า

มิติที่สอง คือ คิวอาร์โค้ด จะทำให้ลดหนี้ครัวเรือน หรือลดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลงได้ เช่น ในประเทศจีน เมื่อมีคิวอาร์โค้ด จำนวนบัตรเครดิตชะลอตัว และการออกบัตรใหม่ลดลง และการใช้จ่ายโตน้อยมาก แต่สิ่งที่โตคือคนหันไปใช้โมบายเพย์เมนต์ ซึ่งเป็นการใช้เงินของตัวเอง ทำให้คนมีวินัยมากขึ้น และสุดท้าย คือ ช่วยลดต้นทุนบริหารเงินสดลงอย่างมีนัยสำคัญ

BBL เจาะมหา”ลัย-วัดทั่วไทย

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า จากที่ธนาคารกรุงเทพผ่านการทดสอบโครงการคิวอาร์โค้ดมาตรฐาน ธนาคารจึงเตรียมขยายการให้บริการทั่วประเทศ คาดว่าภายในไตรมาส 1/2561 จะมีร้านค้ากว่า 100,000 แห่งที่เปิดบัญชีรับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมาตรฐานกับธนาคารกรุงเทพ จากปัจจุบันที่มีประมาณ 17,000 ร้านค้า

ในระยะแรก ธนาคารจะเน้นให้พนักงานสาขาทั้งในกรุงเทพ และหัวเมืองใหญ่ ลงพื้นที่เจาะกลุ่มร้านค้ารายย่อยในตลาด ตลาดสด รถรับจ้างสาธารณะ ธุรกิจขายตรง บริษัทขนส่งสินค้า ร้านค้าโรงอาหาร รวมถึงมูลนิธิ วัด เพื่อเสนอบริการให้เปิดบัญชีกับธนาคาร โดยจะมีโปรโมชั่นออกมาเพิ่มเติมในช่วงต้นปี 2561

“มูลนิธิ วัด เป็นอีกกลุ่มที่เรามีฐานลูกค้าพอสมควร โดยจะใช้ช่องทางสาขาเข้าไปเสนอบริการ ในอนาคตจะเห็นคิวอาร์โค้ดติดหน้าตู้บริจาค เวลาคนจะบริจาคสามารถสแกนได้เลย ในส่วนต่างจังหวัดจะเข้าไปในร้านค้าชุมชนต่าง ๆ เช่น ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น หรือตลาดไนท์บาซาร์ รวมถึงร้านรถเข็น”

นางปรัศนีกล่าวว่า สำหรับไตรมาส 1/2561 ธนาคารจะนำระบบคิวอาร์โค้ดที่เชื่อมโยงกับบัตรเดบิต เข้าทดสอบใน regulatory sandbox ของ ธปท. และไตรมาส 2 เตรียมระบบคิวอาร์โค้ดที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเข้ารับการทดสอบเป็นลำดับต่อไป ดังนั้นในอนาคตเมื่อลูกค้าใช้โมบายแบงกิ้งสแกนคิวอาร์โค้ดจะสามารถเลือกได้ว่าใช้บัญชีเงินฝาก บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตจ่ายเงินได้

“แคชแบ็ก” ทั้งร้านค้า-ลูกค้า

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับเคแบงก์ตั้งเป้าปีนี้จะมีการรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดกว่า 800 ล้านบาท พร้อมด้วยร้านค้าที่เปิดบัญชีใช้คิวอาร์โค้ดของธนาคาร 200,000 ร้านค้า และตั้งเป้าว่าปีหน้าจะขยายให้ถึง 1,000,000 ร้านค้า นอกจากนี้แอปพลิเคชั่น K PLUS SHOP สำหรับร้านค้าของเคแบงก์ยังรองรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของ Alipay และ WeChat Pay ที่จะช่วยขยายฐานลูกค้าจีนด้วย

พร้อมกันนี้ ธนาคารได้ทำโปรโมชั่นกับทั้งร้านค้าและลูกค้า เช่น ร้านค้าที่สมัครใช้งานแอป K PLUS SHOP จะได้รับเงินคืน 300 บาท เมื่อมียอดรับชำระอย่างน้อย 200 บาท 1 รายการ ภายใน 60 วันนับจากวันที่สมัคร สำหรับผู้ใช้งานแอป K PLUS เมื่อใช้จ่ายด้วยคิวอาร์โค้ดครบ 300 บาท/รายการ จะได้รับเงินคืน 50 บาท เริ่มวันนี้-31 ธ.ค. 2560

นอกจากนี้ หลังจากได้รับอนุญาตจาก ธปท.เปิดให้บริการเป็นการทั่วไป เคแบงก์จัดแคมเปญเดินสายตามร้านค้าในต่างจังหวัดทั่วประเทศโปรโมตแอป K PLUS SHOP รวมถึงเชียงใหม่ เพื่อขยายฐานร้านค้าที่เข้าร่วมใช้คิวอาร์โค้ดของธนาคาร พร้อมกันนี้ได้ทำแคมเปญกระตุ้นให้ลูกค้าได้ทดลองจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด เช่นแคมเปญการตลาด “กาแฟบาทเดียว” จากร้านดัง 17 ร้าน ในย่านถนนนิมมานเหมินท์ โดยผู้ถือบัตรเครดิตหรือเดบิตของเคแบงก์สามารถรับกาแฟได้ฟรีทันที 1 แก้ว ส่วนผู้ที่ใช้จ่ายผ่านแอป K PLUS จ่ายในราคาแก้วละ 1 บาท จนถึง 31 ธ.ค. 2560

SCB เพิ่มช่องทางขายเอสเอ็มอี

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการ ผู้บริหารสูงสุดผลิตภัณฑ์รายย่อย และระบบชำระเงินรายย่อย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธนาคารเปิดตัวแคมเปญ “SCB EASY Pay-แม่มณี Money Solution” เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้า SMEs ที่ใช้เงินสดเป็นหลัก เช่น ตลาดขายส่ง ขายปลีก แฟรนไชส์ เป็นต้น แพ็กเกจที่ลูกค้าเดิม-ใหม่จะได้รับอุปกรณ์ “แม่มณี” เช่น ป้ายอะคริลิกแม่มณีคิวอาร์โค้ดของร้านค้านั้น ๆ ส่วนโปรโมชั่นสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายกำลังจะออกเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ ที่ช่วยเอสเอ็มอีทำธุรกิจง่ายขึ้น เช่น Merchart App ช่วยทำลูกค้าทำบัญชีรายรับรายจ่ายได้ หรือแอปพลิเคชั่น Chatuchak Guide ที่จะเพิ่มช่องทางการขายให้ลูกค้าด้วย พร้อมกับได้เริ่มขยายตลาดต่างจังหวัด โดยเริ่มที่หาดใหญ่เป็นที่แรก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงของภาคใต้และได้เตรียมพร้อมที่จะขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

โดยเร็ว ๆ นี้ เอสซีบีจะออกแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อตอบโจทย์ร้านค้า ให้มีทางเลือกในการขายสินค้ามากกว่าการขายสินค้าแบบเดิม ๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ คาดว่าจะเปิดตัวและนำมาใช้กับร้านค้าเป็นวงกว้างได้ในเร็ว ๆ นี้

คิวอาร์โค้ดต่อยอดธุรกิจ

นางอภิพันธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ร้านค้าส่วนใหญ่มีคิวอาร์โค้ดมากกว่า 1 ธนาคาร โดยสามารถติดคิวอาร์โค้ดได้หลายธนาคารที่เปิดบัญชี ตามหมายเลขโทรศัพท์ หรือเลขบัญชีประชาชน ได้ตามที่เกณฑ์พร้อมเพย์กำหนด เมื่อร้านค้ามีตัวเลือกมากมายก็เป็นโจทย์ของธนาคารที่ต้องดึงดูดร้านค้าให้มาทำธุรกรรมกับคิวอาร์โค้ดผ่านธนาคาร เช่น การออกโปรโมชั่นที่ให้กับร้านค้า ทั้งส่วนลดหรือเงินคืนสำหรับยอดการชำระเงินแต่ละครั้ง

เรื่องคิวอาร์โค้ดจะสามารถช่วยต่อยอดธุรกิจได้อีกหลายอย่าง เช่น ช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการอัตโนมัติ หรือการพัฒนาร้านสะดวกซื้อที่ไม่ต้องมีพนักงานขาย ฯลฯ

“สิ่งที่ทำต้องมากกว่าการให้โปรโมชั่น คือการทำให้ร้านค้าเหล่านั้นที่เป็นลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ มีทางเลือกและโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น แพลตฟอร์มนี้จะช่วยร้านค้าได้มาก ซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดสำคัญของธนาคารที่จะเป็นจุดดึงดูดร้านค้าให้ติดคิวอาร์โค้ดได้ ส่วนการหาร้านค้าเพิ่มขึ้น แบงก์จะเน้นให้สาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,000 สาขา ทำหน้าที่หาร้านค้าในทุกจุด ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ตลาดนัด หรือหัวเมืองต่าง ๆ ก็คาดว่าจะเข้าถึงร้านค้าเหล่านี้ได้มาก” นางอภิพันธ์กล่าว

สำหรับสิ้นปีนี้ตั้งเป้าจะมีร้านค้าที่ใช้คิวอาร์โค้ดของธนาคารเพิ่มเป็น 200,000 ร้านค้า และคาดว่าปี 2561 จะขยายร้านค้าที่ใช้คิวอาร์โค้ดของธนาคารได้อีกกว่า 500,000 ร้านค้า

ด้านนายวุฒิชัย เจริญผล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารไอที บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) เปิดเผยว่า เคทีซีอยู่ระหว่างการทดสอบใน sandbox ของ ธปท. เพื่อทำคิวอาร์โค้ดบนบัตรเครดิตเจ้าแรกของประเทศ ซึ่งการทำคิวอาร์โค้ดครั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าตอบโจทย์ไปที่ฐานราก ร้านค้าขนาดเล็กต่าง ๆ ในพื้นที่กระจายตัวตามตลาดเล็ก ๆ มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การใช้จ่ายของลูกค้ารายย่อยมากขึ้น เช่น ซื้อสินค้าหลักสิบบาทก็สามารถชำระผ่านคิวอาร์โค้ด ผ่านบัตรเครดิตได้ โดยคาดว่าเคทีซีน่าจะออกจาก sandbox ได้ราวปลายปี และสามารถเริ่มนำคิวอาร์โค้ดมาใช้ได้ราวไตรมาสแรกปีหน้า