รัฐตีปีก GDP โต 3.9% แก้จุดอ่อน “ศก.รากหญ้า-SME”-

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2560 ขยายตัวสูงถึง 4.3% ต่อปี ดีกว่าที่ทุกสำนักคาดการณ์ไว้ โดยเติบโตสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส (4 ปีครึ่ง)

ได้แรงหนุนส่งออก-ท่องเที่ยว

“แรงสนับสนุนสำคัญมาจากการส่งออกที่ขยายตัวสูงในรอบ 19 ไตรมาส และภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ขณะที่จีดีพีภาคเกษตรขยายตัว 9.9% และนอกภาคเกษตรขยายตัว 3.8% โดยรวม 3 ไตรมาส จีดีพีขยายตัว 3.8% สูงกว่าเดิมที่คาดไว้ 3.7%” ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช.แถลง

การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ขยายตัว 3.1% เนื่องจากคนมั่นใจใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น สศช.คาดว่าปีนี้การบริโภคเอกชนจะขยายตัว 3.2% ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวจะแตะ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 4 จีดีพีก็จะขยายตัวได้ดี ส่งผลให้จีดีพีปี 2560 ขยายตัวได้ 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ 3.8%

ส่วนปี 2561 จีดีพีจะโต 3.6-4.6% ค่ากลางที่ 4.1% โดยได้รับแรงหนุนทั้งจากเศรษฐกิจโลก การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และจะเห็นสัญญาณการจ้างงานที่ดีขึ้นจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% โดยไตรมาส 4 จีดีพีจะยังคงขยายตัวได้ระดับสูงต่อเนื่อง จากปัจจัยต่างประเทศและมาตรการภาครัฐ การใช้จ่ายครัวเรือนจะได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม และช็อปช่วยชาติ

พืชผลตกต่ำภาคครัวเรือนอ่วม

เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ที่ชี้ว่า การบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัว แต่กำลังซื้อภาคครัวเรือนยังอ่อนแอ จากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ตลาดแรงงานซบเซา การจ้างงานช่วง 9 เดือนแรกหดตัวลง 0.7% (YoY) โดยเฉพาะการจ้างงานภาคการผลิตลดลง 3.2% แสดงว่าการฟื้นตัวของส่งออกยังไม่ได้ส่งผ่านไปสู่การจ้างงาน และในระยะต่อไปการส่งออกอาจถูกกดดันจากราคาน้ำมัน และเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง

สอดคล้องกับ “จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ที่คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง สิ้นปี 2560 น่าจะอยู่ที่ 32.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปีหน้าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.50-32.30 บาท/ดอลลาร์

“ปีหน้าค่าเงินบาทจะแข็งค่ากว่านี้ เมื่อส่งออกเติบโตดีจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล 8-9% ของจีดีพี”

“กอบสิทธิ์ ศิลปชัย” ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย มองทำนองเดียวกันว่า เงินบาทคงแข็งค่าจนถึงไตรมาส 1 ปี 2561 กรอบเคลื่อนไหวจุดต่ำสุด 32.20-32.30 บาท/ดอลลาร์ และเริ่มอ่อนค่าไตรมาส 2 เป็นต้นไป จากความชัดเจนของการเร่งปฏิรูปภาษีสหรัฐ สิ้นปี 2561 เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าที่ 34 บาท/ดอลลาร์

สศช.ชี้ทุกเครื่องยนต์จุดติด

อย่างไรก็ตาม “ดร.ปรเมธี” ชี้ว่า สศช.ประเมินว่าปี 2560 ส่งออกน่าจะขยายตัวได้ 8.6% หลังจากไตรมาส 3 ขยายตัวสูงถึง 12.5% ส่วนปีหน้าคงจะขยายตัวได้ 5% สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนแม้ช่วงนี้แข็งค่าขึ้น แต่จะไม่ฉุดการส่งออก

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตทั่วถึงมากขึ้น ไม่ได้โตเฉพาะลงทุนภาครัฐกับการท่องเที่ยวเหมือนก่อนหน้านี้ ที่ผ่านมาภาคเกษตรได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ดีขึ้นเรื่อย ๆ 3 ไตรมาส รายได้เกษตรกรและการบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่การจะส่งผ่านอย่างทั่วถึงต้องให้เศรษฐกิจขยายตัวระดับ 4% ขึ้นไปสักระยะหนึ่งก่อน

ขณะที่การผลิตภาคอุตฯที่ขยายตัวดีขึ้น ส่งผ่านไปยังเอสเอ็มอี โดยเฉพาะอุตฯรถยนต์ อุตฯอิเล็กทรอนิกส์

“เศรษฐกิจปีนี้และปีหน้า จะเห็นการบริโภคภาคเอกชนปรับขึ้นมาอยู่ในโมเมนตัม หรือมีศักยภาพี่ดีขึ้น 3% จากที่เคยอยู่แค่ 2% การลงทุนเอกชนจะโต 2.2% ในปีนี้และปีหน้าจะเร่งขึ้นเป็น 3.7% ตอนนี้เศรษฐกิจไทยติดเครื่องแล้ว เครื่องยนต์เริ่มติดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน มีแนวโน้มจะดีต่อไปในปีหน้า และกระจายไปภาคต่าง ๆ ส่งผลถึงการจ้างงาน ซื้อวัตถุดิบ การใช้จ่าย เอสเอ็มอี กลุ่มฐานราก”

นโยบายรัฐบาลในระยะข้างหน้าจะเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ครบทุกภาค ทุกพื้นที่ ทั้งดูแลผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอี รวมถึงเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค 4.0

สภาหอ-สภาอุตฯมองบวก

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือน ต.ค. 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2 หลัก ทำสถิติใหม่ สูงกว่าเดือน ก.ย. ที่ขยายตัว 12.2% มูลค่า 21,812 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดรวม 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 175,435 ล้านเหรียญเพิ่มขึ้น 9.3%

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัว 3.5-4.5% จากการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งในส่วนของรัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้น

“การส่งออกปีหน้าน่าจะขยายตัว 5% อาจจะขยายตัวลดลงแต่อยู่ระดับที่ดี รัฐควรมุ่งส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีมากขึ้น”


ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองสอดคล้องกันว่า ทิศทางเศรษฐกิจปี 2561 น่าจะดีขึ้นจากที่ภาคส่งออกขยายตัว ส่วนการท่องเที่ยวน่าจะขยายตัว 7-8% ส่งผลดีกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหาร สินค้าเกษตรจะราคาสูงขึ้น