รัฐ-เอกชนแปดริ้วขานรับอีอีซี ที่ดินพุ่ง 20 ล./ไร่-เร่งยกร่างผังเมืองใหม่-

ภาครัฐ-เอกชนเมืองแปดริ้วขานรับนโยบายบิ๊กตู่ พร้อมต่อยอดพัฒนารับอีอีซี ชี้ราคาที่ดินพุ่งไร่ละ 20 ล้านบาท จ่อบังคับใช้ พ.ร.บ.อีอีซี เดือน ม.ค. 61 ส่วนการจัดทำผังเมืองใหม่เสร็จภายในปีครึ่ง

นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวในงานสัมมนาในหัวข้อ “ชาวฉะเชิงเทรา ได้อะไรจาก EEC” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะผลักดันให้เศรษฐกิจจังหวัดฉะเชิงเทราเติบโต จังหวัด0tมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนภาคเอกชน มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

สุวิทย์ คำดี

ฉะเชิงเทราได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดปี 2561-2564 แบ่งเป็น 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ให้สอดรับนโยบายอีอีซี และตลาดโลกที่จะขยายตัวในอนาคต 2.เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันภาคการเกษตรที่มีความปลอดภัย สมดุล พัฒนาเกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ พัฒนาวิสาหกิจชุมชน (โอท็อป) ให้มีสินค้าคุณภาพ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

3.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แหล่งเรียนรู้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 4.บริหารจัดการทรัพยากรจังหวัด สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและเป็นระบบ สร้างจิตสำนึกประชาชน 5.การพัฒนาทุนทางสังคม ให้ประชาชนมีความสุข มีความมั่นคงในชีวิต เข้าถึงการศึกษา มีอาชีพ มีสุขอนามัย และมีอัตลักษณ์

นายเจริญชัย ประเทืองสุขศรี ประธานสายงานโครงการลงทุน สำนักงาน สกรศ. กล่าวว่า การพัฒนาอีอีซีจะช่วยสร้างความเจริญให้ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งพัฒนาอยู่แล้วให้ต่อยอดได้ทันที คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนช่วง 5 ปี (2560-2564) 1.5 ล้านล้านบาท โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงกัน คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และ อู่ตะเภา) รถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ จะช่วยให้ฉะเชิงเทราพัฒนาอย่างรวดเร็ว สร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลเชื่อมโยงการสร้างเมืองใหม่ ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นเมืองต้นแบบด้านดิจิทัลรองรับกลุ่มดิจิทัลรายใหญ่ของโลก

นอกจากนี้ อีอีซีจะพัฒนาด้านการศึกษา อาชีพ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศ เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการแรงงาน ส่วนการใช้อำนาจตาม ม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการจัดทำผังเมืองใหม่ไม่ใช่ล้างผังเมืองเดิมแต่จัดทำผังเมืองที่เชื่อมโยงกันระหว่าง 3 จังหวัดในอีอีซี และสนับสนุนการพัฒนาโครงการในภาพรวม โดยจะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปีครึ่ง จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ปัจจุบันจะใช้ผังเมืองเดิมไปก่อน

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮาส์ จำกัด (มหาชน) มองว่า ขณะนี้แผนการพัฒนา จ.ฉะเชิงเทรา ของภาครัฐค่อนข้างสับสน ล่าสุดราคาที่ดินในฉะเชิงเทราพุ่งขึ้นมาก เช่น ที่ดินติดริมถนนที่ซื้อไว้ราคา 4 ล้านบาท ปัจจุบันน่าจะสูงถึง 20 ล้านบาท ดังนั้นในการพัฒนาอีอีซีภาครัฐต้องชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร และให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะสำคัญที่สุดในการพัฒนาเมืองคือประชาชน เพราะประชาชนและภาคเอกชนเก่งเรื่องการพัฒนามากกว่ารัฐ

“การสร้างเมืองต้องจัดวางโครงสร้างพื้นฐานในทำเลที่เหมาะสม ต้องรู้จักใช้ประโยชน์ อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ควรอยู่กลางเมือง และทำให้ประชาชนสามารถเดินไปมาระหว่างรถไฟ ที่อยู่อาศัย สำนักงานออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า ระยะทางไม่ควรเกิน 500 เมตร ใช้โมเดลที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประชาชนได้ดี”

นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.อีอีซี ที่อยู่ระหว่างการแปรญัตติในวาระที่ 2 ยังไม่เสร็จสิ้น สภาขยายเวลาอีก 60 วัน คาดว่าจะประกาศใช้ในเดือน ม.ค. 2561 จากเดิม พ.ย. 2560 ต้องเสร็จ และในวันที่ 22 พ.ย. 2560 จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ของ EEC วาระสำคัญคือ รายงานความคืบหน้าทุกโครงการ ผลการชักจูงนักลงทุนในส่วนของ กนอ. จะรายงานความคืบหน้าการขายพื้นที่ในนิคม ปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 2,500 ไร่ จากพื้นที่พัฒนาแล้ว 12,000 ไร่ เป้าที่เตรียมรองรับให้นักลงทุน 50,000 ไร่