เศรษฐกิจภูมิภาคซบสวนทางจีดีพี หอการค้าชู “ไทยเท่” คืนความมั่งคั่งให้ท้องถิ่น-

การจัดประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศของทุกปี ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปจัดตามจังหวัดต่าง ๆ กลายเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนต้องคอยติดตามการสะท้อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจภูมิภาค 5 ภาค โดยล่าสุดครั้งที่ 35 จัดขึ้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ขับเคลื่อนผ่าน 3 value chain

“กลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหอการค้าเน้น 3 value chain คือ 1.การค้าและการลงทุน 2.เกษตรอาหาร และ 3.การท่องเที่ยวและบริการ โดยผ่านโครงการ 1 หอการค้า 1 วิสาหกิจชุมชน 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร และ 1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน และเร็ว ๆ นี้จะนำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปว่า โครงการที่ไหนเกิดผลประสิทธิภาพสูงสุด ก็จะนำมาเป็นโมเดลเพื่อถ่ายทอดไปทุกหอการค้า

ขณะที่วาระเร่งด่วน คือ ปากท้องประชาชน โดยเฉพาะท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจปีหน้าแนวโน้มดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกดีแล้ว ส่งออกดีมาก ท่องเที่ยวดีมาก เป็นห่วงแค่ภาคเกษตรแต่เมื่อเศรษฐกิจดี คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ท่องเที่ยวมากขึ้น ก็กินอาหารมากขึ้นด้วย ผลประโยชน์คือเกษตรกร

5 ภาคฟื้นตัวกระจุก-ซึมกระจาย

การพยากรณ์จากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าจากการสำรวจความเห็นจากผู้ประกอบการสมาชิกหอการค้าไทยทั้ง 5 ภาค และทุกประเภทธุรกิจ จำนวน 380 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2560 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 51.6 ในปัจจุบันอยู่ที่ 41.7 และอนาคตอยู่ที่ 61.5 สะท้อนความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในอนาคตที่ดีขึ้น อีกทั้งอัตราการขยายตัว หรือจีดีพี ที่เดิมประมาณการอยู่ที่ 3.6 ได้ปรับขึ้นเป็น 3.9

แต่เสียงสะท้อนจากนักธุรกิจภาค 5 ภาค กลับสวนทางกับการเติบโตจีดีพีประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ ที่เศรษฐกิจภาพรวมผูกโยงอยู่กับสินค้าเกษตร

“วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชต์” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า จากการคาดการณ์ว่ากำลังซื้อจะปรับตัวดีขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการภาคเหนือยังสัมผัสได้น้อยมาก ภาคเหนือยังเป็นภาคที่มีความยากจนสูง ปัจจัยลบ คือ สินค้าเกษตร ทำให้กำลังซื้อคนส่วนใหญ่ของภาคยังไม่ค่อยกลับมาเท่าที่ควร ประกอบกับหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรยังค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังเติบโต สิ่งที่อยากเห็นคือ รัฐบาลกระจายโครงการเล็ก ๆ มากขึ้น เพื่อให้ลงถึงภูมิภาคให้เติบโต

“ประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า อีสานเป็นภาคที่รายได้ค่อนข้างต่ำ ประชากรสูง การเติบโตส่วนใหญ่กระจุกตัวในจังหวัดใหญ่ และเส้นทางที่พัฒนาแล้ว จากการคาดการณ์เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเป็นปกติในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ซึ่งต้องมองหาโอกาสมากกว่าวิกฤต เพราะปัจจัยภายนอกขณะนี้เป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นปัจจัยภายในต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบ เช่น การค้าชายแดนดี ต้องหาทางเป็นหุ้นส่วนกับเพื่อนบ้านให้ได้ เนื่องจากเพื่อนบ้านมีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างดี เพื่อชดเชยทรัพยากรที่เราขาดหายไป

ขณะที่เรื่องเกษตร ต้องทำระบบสหกรณ์ รวมกลุ่ม จัดซื้อขาย ตั้งวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวได้ผลักดันการท่องเที่ยวโดยชุมชน ใช้พื้นฐานของโครงการไทยเท่ ปรับใช้ในแต่ละท้องถิ่น โดยตั้งเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี

ด้าน “ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์”ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า จากภัยแล้งและน้ำท่วมทำให้สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ขณะที่สินค้ามีราคาแพงขึ้น การส่งออกที่แข่งขันรุนแรง หนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ภาคกลางอยู่ในสภาพเหมือนคนไข้ที่แม้จะออกจากไอซียูแล้ว แต่ยังอยู่ห้องคนไข้ซึ่งซึมตลอดปี’60

“รัฐควรเอาคนออกจากไอซียูให้มาเต้นได้ซักที ไม่ใช่ซึมอยู่อย่างนี้ เช่น การจัดประมูลนำออกต่างจังหวัดได้หรือไม่ เช่น รถไฟทางคู่ ให้ผู้รับเหมาต่างจังหวัดมาเป็นพาร์ตเนอร์รับช่วง หรือการแก้ไขสินค้าเกษตร เปลี่ยนการทำตลาดได้หรือไม่ ส่วนการท่องเที่ยวชุมชน หอการค้าได้ดำเนินการอยู่ เพียงแต่รัฐต้องนำงบประมาณลงมาช่วย แต่ติดปัญหาหน่วยงานที่นำงบฯมาให้กลายเป็นหน่วยงานที่ไม่ตรงกับการใช้งบฯ จนต้องมีการคืนงบฯกันอุตลุด”

“ปรัชญา สมะลาภา” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะตะวันออกที่รัฐบาลมุ่งมั่นอีอีซี แต่นักลงทุนยังต้องการความมั่นใจ คือ พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก อย่างไรก็ตาม อยากเห็นการกระจายรายได้ในพื้นที่ให้สูงขึ้นกว่าเดิม ไม่อยากให้ผลประกอบการกระจุกตัวบริษัทใหญ่ ต่างชาติเท่านั้น อยากเห็นความเป็นธรรมการแข่งขันทางการค้า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ต้องเปิดให้ผู้ประกอบการทำอาชีพในพื้นที่

“ปัจจุบันดูตัวเลขแมโครประเทศจะเห็นการเติบโตดีขึ้น แต่ประชาชนคิดว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี เพราะข้อเท็จจริงเงินในกระเป๋าประชาชนมีก้อนเดียว เมื่อคนหนึ่งมีมาก อีกกลุ่มก็ไม่มี ดังนั้นต้องอำนวยให้ผู้ประกอบการรายเล็กทำได้ นโยบายของรัฐบาลที่ออกสู่ภูมิภาคบางโครงการต้องซอยให้เล็กลง และต่อเนื่อง เพื่อกระจายรายได้เศรษฐกิจในภาคตะวันออกที่ตอนนี้ฟื้นตัวแน่ ๆ แต่จะต้องฉุดเศรษฐกิจทั้งประเทศให้ดำเนินไปได้ด้วย”

“วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ภาคใต้นั้นผูกกับภาคเกษตร หากราคาตกต่ำ ทำอย่างไรภาคใต้ก็จีดีพีไม่ขึ้น ความรู้สึกของคนใต้จึงสวนทางกับตัวเลขการเติบโตของประเทศ เพราะเงินกว่าจะหมุนเข้ามาในระบบก็ใช้เวลา 2-3 เดือน แต่จากนี้ไปมองว่าภาคใต้ไม่ได้ผูกติดแค่กับภาคเกษตร แต่ยังผูกติดกับทั้งประเทศ ภูมิภาค และเศรษฐกิจโลกด้วย

“ภาคใต้มีศักยภาพที่สูงมาก สามารถเป็นแรงส่งต่อยอดจากอีอีซีโดยใช้อ่าวไทย และอันดามันในการส่งออก ภาครัฐต้องปูพรมระบบราง เครื่องบิน เพื่อต่อยอดผลผลิตจากอีอีซีไปสู่อาเซียนบวก 6 BIMSTEC ภาคใต้จะเป็นเกตเวย์สำคัญที่จะเพิ่มตัวเลขจีดีพีของไทย”

เร่ง Winning Projects

ที่ขาดไม่ได้ โครงการสำคัญ (Winning Projects) หอการค้าผลักดันผ่านแนวคิด “ไทยเท่” ด้วยการนำอัตลักษณ์ หรือ “วัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย” ผนวก “นวัตกรรม” และ “ความคิดสร้างสรรค์” สร้างเป็นสินค้าและบริการที่แตกต่าง มีมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นมีนโยบาย Cool Japan Strategy ผลักดันสู่ยุทธศาสตร์ชาติ และเกาหลี นโยบาย The Korean Wave เป็นยุทธศาสตร์ชาติเช่นเดียวกัน

โดยภาคตะวันออก อาทิ โครงการนครอัญมณี โครงการเมืองสมุนไพรโลก โครงการมหานครผลไม้ โครงการสร้างเครือข่ายตลาดกลาง โครงการบริหารจัดการผลไม้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ภาคเหนือผลักดันผ่านกีฬา หรือสปอร์ตทัวริซึ่ม 3 ประเภทหลัก คือ มาราธอน เทรลรันนิ่ง และแกรนด์ไซคลิ่งทัวร์นาเมนต์ ภาคใต้ 2 โครงการ คือ แอปพลิเคชั่น Town Portal แค่คลิกก็มีข้อมูลครบครัน เร็ว ๆ นี้จะเปิดใช้งานได้ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และแพะแปลงใหญ่ ขณะที่ภาคกลาง 7 โครงการ อาทิ โครงการลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี ที่ล้อมาจากโครงการลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคอีสาน คือ โครงการเที่ยวริมโขง และอารยธรรมขอมภาคอีสาน

เป็นความมุ่งมั่นของเอกชน ที่ภาครัฐที่ไม่เพียงต้องรับไม้ต่อผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ยังต้องหาทางแก้ไขปัญหาให้ไว เพื่อเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกขณะ