ธพว.ชงแพ็กเกจ 7.8 หมื่นล้าน อุ้ม 3 กลุ่ม SMEs แบงก์เมิน-ชูดบ.ต่ำ 1% ขึ้นไป-

ธพว.ชงแพ็กเกจอุ้มเอสเอ็มอี 3 กลุ่ม 7.8 หมื่นล้านบาท ทั้ง “กองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี-สินเชื่อเศรษฐกิจชุมชน-ซอฟต์โลน” เน้นช่วยกลุ่มที่แบงก์ไม่ปล่อยกู้-ผู้ประกอบการชุมชน-ผู้เสียภาษีถูกต้อง ส่วนมาตรการช่วยคนจน เฟส 2 คลังชง ครม.ใน ธ.ค.นี้ เล็งฝึกอาชีพ 5 ล้านคนป้อน “ไทวัสดุ-โฮมโปร”

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น ขณะนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดทำแพ็กเกจมาตรการสินเชื่อ นอกเหนือไปจากการทำฐานข้อมูลในลักษณะบิ๊กดาต้า

“หลักการก็คือเราต้องการให้แบงก์รัฐทำหน้าที่ของเขา” นายอภิศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคลังเปิดเผยว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้เสนอมาตรการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยแบ่ง 3 กลุ่ม คือ small, mini และ micro ซึ่งจะเน้นช่วยเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแบงก์พาณิชย์

“โจทย์ คือ ต้องช่วยเอสเอ็มอีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการที่ ธพว.เสนอ ได้แก่ 1.กลุ่ม micro ผ่านกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกัน โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณ 13,000 ล้านบาท มีเป้าหมาย 40,000 ราย เน้นกลุ่มที่แบงก์พาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ กรณีบุคคลธรรมดาจะกู้ให้สูงสุด 300,000 บาท ถ้าเป็นนิติบุคคลกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยต่ำแค่ 1% ต่อปี ปลอดเงินต้น 1 ปี

2.กลุ่ม mini ผ่านโครงการสินเชื่อเศรษฐกิจชุมชน วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งต้องให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 2% ตกปีละ 300 ล้านบาท เนื่องจากจะคิดดอกเบี้ยจากเอสเอ็มอีที่ 3% ต่อปีในช่วง 3 ปีแรก จากระยะเวลาเงินกู้ 7 ปี ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายเกษตรแปรรูป และท่องเที่ยวชุมชน โดยเน้นที่ทำธุรกิจในจังหวัดรอง ไม่ใช่หัวเมืองหลัก

“สินเชื่อเศรษฐกิจชุมชนนี้ จะให้เงินเอสเอ็มอีไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน หรือลงทุนขยายกิจการ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ปลอดชำระเงินต้น 1 ปีแรก ให้กู้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อราย และนิติบุคคลไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ซึ่งรวม ๆ แล้วน่าจะมีเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อราว 5,000 ราย” แหล่งข่าวกล่าว

และ 3.กลุ่ม small ทาง ธพว.เสนอให้ดำเนินโครงการสินเชื่อ transformation loan ระยะที่ 3 วงเงิน 50,000 ล้านบาท สำหรับปล่อยให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการยื่นเสียภาษีถูกต้อง ราว 10,000 ราย ให้กู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย นำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน ลงทุน ขยายกิจการ ซึ่งจะคิดดอกเบี้ยต่ำ 4% โดยขอให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 2.6% เป็นเวลา 7 ปี ตกปีละ 1,300 ล้านบาท

“ตัว transformation loan นี้ เป็นซอฟต์โลน ซึ่งจะต้องใช้เงินของธนาคารออมสิน แต่เบื้องต้นทางกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่าการให้ซอฟต์โลนไม่ได้ช่วยเอสเอ็มอีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเงินกู้แบงก์อย่างตรงจุด แถมรัฐบาลยังต้องช่วยชดเชยงบประมาณในระยะ 7 ปีอีกถึง 9,100 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในเดือน ธ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ซึ่งเมื่อตัดกลุ่มที่เป็นผู้พิการและผู้ป่วยออกไปแล้ว จะมีราว 5 ล้านคน ที่สามารถเข้ารับการฝึกทักษะอาชีพได้ โดยรัฐจะร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยช่วยจับคู่คนกับงาน

“คนที่อยู่ในข่าย ถ้ามีทักษะอยู่แล้ว เช่น ช่างก่อสร้าง ทางกรมการจัดหางานก็จะไปคุยกับเอกชนเพื่อจับคู่คนกับงาน ยกตัวอย่างไทวัสดุ หรือโฮมโปร ว่าอยากจ้างหรือไม่ ถ้าอยากจ้างก็ไปได้เลย แต่ถ้าต้องมีการฝึกอบรมทักษะก่อน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็จะฝึกให้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมมีเบี้ยเลี้ยงให้ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว