กสิกรไทยสน”รีเวิร์สมอร์ตเกจ” รับเทรนด์สูงวัยดึงรัฐ-ประกันช่วยแชร์เสี่ยง-

แบงก์กสิกรไทย ศึกษาโมเดลเงินกู้ “รีเวิร์สมอร์ตเกจ” จับจุดสังคมสูงวัยมีบ้านปลอดภาระ ยึดหลักการ “ให้กู้” ไม่ถึง 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ ขอแรงส่ง “ภาครัฐ-ประกัน” ช่วยสตาร์ตเครื่องติดง่ายขึ้น “ซีไอเอ็มบี ไทย” ขอรอดูผลตอบรับของแบงก์ออมสินที่นำร่องออกมาแล้ว ชี้จุดอ่อนกฎหมายไทยยังไม่หนุน

นายอลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นเทรนด์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” หรือ reverse mortgage ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับลูกค้าสามารถเอาบ้านปลอดภาระ มาจำนองขอวงเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งจะได้รับเงินกู้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นรายเดือนจนถึงอายุ 85 ปี ทางธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษาสินเชื่อดังกล่าว ภายใต้หลักการจะให้วงเงินกู้ไม่ถึง 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์

“เราศึกษาอยู่ว่าจะใช้โมเดลไหน หลัก ๆ คือ ให้วงเงินใช้ถึงอายุประมาณ 80-85 ปี และวงเงินกู้ไม่ถึง 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ ที่สำคัญถ้าจะให้เวิร์กน่าจะมีหน่วยงานกลางมาช่วยสนับสนุน อย่างภาครัฐหรือบริษัทประกันที่จะมาดูแลในกรณีลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ควรจะมีบริษัท (ตัวกลาง) จะเข้ามารองรับให้ หรือกรณีลูกค้าเสียชีวิต บริษัทประกันก็รับผิดชอบไป ซึ่งในต่างประเทศก็มีประกันหลายแบบ” นายอลงกตกล่าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญในกรณีหลังครบกำหนดสัญญาเงินกู้ ซึ่งหลักการธนาคารจะให้ผู้กู้เลือกว่าจะชำระหนี้ทั้งก้อนหรือไม่ ถ้าหากผู้กู้เลือก “ไม่ชำระหนี้ดังกล่าว” ทางธนาคารจะไถ่ถามไปที่ทายาทว่าจะ “รับชำระหนี้ต่อ” หรือไม่ ส่วนกรณีที่ “ไม่มีผู้ชำระหนี้” ธนาคารก็จะดำเนินการ “ขายทอดตลาด” หากมีเงินส่วนเกินในการขาย ก็จะคืนส่วนเกินให้แก่ผู้กู้ดังกล่าว

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ขณะนี้มีธนาคารออมสินนำร่องทำสินเชื่อ reverse mortgage รองรับโครงสร้างสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลง เช่น ยุคผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น และเป็นกลุ่มที่มีสินทรัพย์ที่ต้องการนำมาแปรเปลี่ยนเป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยสินเชื่อประเภทนี้มีเกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ฯลฯ

ทั้งนี้สำหรับไทย ด้านภาครัฐและธนาคารพาณิชย์หลายแห่งหันมาศึกษาสินเชื่อ reverse mortgage มากขึ้น เพราะยังมีหลายจุดที่ต้องทำความเข้าใจ และทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นกฎหมาย เช่น การขายบ้านเพื่อชำระหนี้ที่ถือว่ายังยุ่งยาก ฯลฯ

“ตอนนี้แบงก์รัฐนำร่องก่อน เพราะมีหลายจุดที่ต้องรอดูความชัดเจน ทั้งเรื่องความต้องการสินเชื่อประเภทนี้ของตลาดโดยรวม หรือด้านกฎหมายการขายบ้านเพื่อชำระหนี้ การหมุนเวียนของบ้านมือสอง ฯลฯ เรามองว่าตอนนี้แบงก์รัฐดูแลได้เพียงพอ แต่จากที่หลายฝ่ายมองว่า ปี 2568 ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของประชากรไทย อาจกลายเป็นข้อจำกัดให้การบริการไม่ทั่วถึง เราก็จะเข้าไปทำในอนาคต” นางสาวอรอนงค์กล่าว