BTS ลุยไม่ยั้งคอนโด-โรงแรม-ออฟฟิศแสน ล.-

แฟ้มภาพ

“คีรี” เจ้าพ่อบีทีเอสลุยลงทุนแสนล้าน จัดทัพโครงสร้างธุรกิจ 4 ขา รถไฟฟ้าหัวหอกสร้างรายได้ ผนึกพันธมิตรชิงเค้กโปรเจ็กต์ยักษ์ 3 แสนล้าน โอนพอร์ตโรงแรม อออฟฟิศบิลดิ้ง คอนโดบีทีเอส-แสนสิริ กว่า 1.2 หมื่นล้านซุกปีกยูซิตี้ เน้นธุรกิจเพื่อเช่า ได้ผลตอบแทนยาว ทุ่ม 1 หมื่นล้านช็อปโรงแรมยุโรปเพิ่ม 2 แห่ง ลุยโครงการมิกซ์ยูสพญาไท หมอชิต โรงภาษีร้อยชักสาม จ่อขายที่ดินตรงข้ามแดนเนรมิต 1.5 หมื่นล้าน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2561 ยังต้องรอดูว่าจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังผันผวน แต่การท่องเที่ยวจะเติบโตต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่ารัฐจะผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ออกมาอีกมาก อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน มูลค่ารวม 200,000-300,000 ล้านบาท

“คีรี” สปีดลงทุนต่อเนื่อง

“ถามว่าบีทีเอส กรุ๊ป ยังลงทุนหรือไม่ ยืนยันว่ายังเดินหน้าต่อ หากรัฐจะเปิดประมูลหรือให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการต่าง ๆ ก็พร้อมเข้าร่วม”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ปรับโครงสร้างภายในธุรกิจ บีทีเอส กรุ๊ป ใหม่ให้คล่องตัวมากขึ้น ลดภาระเงินทุน และมุ่งเน้นการลงทุนที่ถนัด คือ รถไฟฟ้า โฆษณา และบริการ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ ได้โอนกิจการทั้งหมดของ บจ.ยูนิคอร์น เอ็นเตอร์ไพรส์ ให้ บมจ.ยูซิตี้ หรือแนเชอรัล พาร์ค (เอ็นพาร์คเดิม) ดำเนินการ กระบวนการต่าง ๆ จะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. 2561

อย่างไรก็ตาม บีทีเอสทั้งกรุ๊ปยังมี 4 ธุรกิจเหมือนเดิม พร้อมตั้งเป้าใน 5 ปี มีกำไรเพิ่มขึ้นปีละ 25% นับจากปี 2561 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,100 ล้านบาท

มุ่งธุรกิจรถไฟฟ้า

สำหรับ 4 ธุรกิจ ประกอบด้วย “ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน” โดย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) ถือเป็นธุรกิจหลัก ใน 3 ปีนี้ จะลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อขยาย (หมอชิต-สะพานใหม่) และ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) กว่า 20,000 ล้านบาท อีกกว่า 80,000 ล้านบาท ลงทุนก่อสร้างสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่ร่วมลงทุนสายละ 75% และติดตั้งระบบพร้อมรับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี-คลองสาน)

และจะร่วมกับพันธมิตร กลุ่มบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทย-ราชบุรีโฮลดิ้งส์) เข้าประมูลหรือร่วมลงทุนกับภาครัฐ เช่น เดินรถสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

“รถไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลักคิดเป็นรายได้กว่า 60% ในปี 2563 รถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายจะเปิดใช้ คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ผู้โดยสารอยู่ที่ 2 ล้านเที่ยวคน/วัน”

นอกจากนี้จะขยายไปสู่อินฟราสตรักเจอร์อื่นทั้งบริหารและลงทุน เช่น ทางด่วน ซึ่งบริษัทมีเงินพร้อมลงทุน จากกระแสเงินสด 9,000 ล้านบาท กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง (บีทีเอสโกรท) ซึ่งขยายวงเงินได้อีกกว่า 1 แสนล้านบาท และกู้จากสถาบันการเงินที่พร้อมสนับสนุน นอกจากนี้เตรียมขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศด้วย เช่น จีน

“ธุรกิจสื่อโฆษณา” ดำเนินการโดย บมจ.วีจีไอ โกลบอลมีเดียส์ หลังซื้อขายในตลาดเมื่อ 5 ปีก่อน ขยายเติบโตมากตามสถานีรถไฟฟ้า และจำนวนรถที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมี 30 สถานี และรถ 52 ขบวน

โอนธุรกิจอสังหาฯซุกปีกยูซิตี้

“ธุรกิจอสังหาฯ” ได้โอนทรัพย์สินในยูนิคอร์นฯ มูลค่า 12,917 ล้านบาท ทั้งที่ดินเปล่า โรงแรมในธนาซิตี้ อาคารสำนักงาน (ตึกทีเอสที) และคอนโดฯ ที่พัฒนาในนามบีทีเอส-แสนสิริ ทั้งหมด ให้ บมจ.ยูซิตี้ ที่บีทีเอสถือหุ้น 35.64% บริหารจัดการ เพราะมีประสบการณ์จะทำได้ดีกว่า

“พร็อพเพอร์ตี้ยังไงก็ต้องทำ บีทีเอสทำจะดีด้านกำลังเงิน แต่ด้านการบริหารที่ไม่ชัดเจน จึงหาพันธมิตรมาร่วม ในระหว่างทางก็ร่วมกับแสนสิริพัฒนาคอนโดฯ แนวรถไฟฟ้ารัศมี 500 เมตรจากสถานี 5 ปี จำนวน 25 โครงการ มูลค่า 1 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาพัฒนาแล้ว 8 โครงการกว่า 3 หมื่นล้านบาท”

เน้นธุรกิจโรงแรม-เช่าระยะยาว

นายคีรีกล่าวว่าปัจจุบันได้รวมการบริหารและลงทุนโรงแรมมาอยู่ในยูซิตี้ทั้งหมด ทั้งแบรนด์อิสติน, ยูโฮเต็ล และแอ็บโซลูท รวมถึงธุรกิจโรงแรมของเวียนนาเฮ้าส์ ที่ซื้อมามูลค่า 12,300 ล้านบาท จำนวน 24 แห่ง รวมทั้งธุรกิจการจัดการบริหารโรงแรม 12 แห่ง ครอบคลุม 9 ประเทศในยุโรป 36 แห่ง ซึ่งผลตอบแทนดีมาก ล่าสุด จะขยายธุรกิจในโซนยุโรปเพิ่มอีก 2 แห่ง เป็นโรงเรม 200 ห้องในย่านท่องเที่ยว ใช้เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท จะเป็นรูปแบบซื้อเชนบริการหรือเข้าซื้อกิจการ

“ยูซิตี้ต่อไปจะไม่เล็ก ปีหน้าจะไม่ใช่อสังหาฯธรรมดา ที่ดีเวลอปขายหรือสร้างแล้วให้เช่าแล้วแยกกันไป จะเป็นรูปแบบบริษัทลงทุนอสังหาฯ เชิงพาณิชย์และที่เกี่ยวเนื่องกัน รวมถึงซื้ออสังหาฯที่มีรีเทิร์นดี ตั้งเป้า 5 ปีธุรกิจโรงแรมจะมีพอร์ตบริหาร 30,000 ห้อง จากปัจจุบัน 19,000 ห้อง”

ส่วนการลงทุนพัฒนาอสังหาฯให้เช่า เช่น สำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาทิ ที่ดิน 7 ไร่บริเวณบีทีเอสพญาไท จะพัฒนาสำนักงานและโรงแรมมูลค่าโครงการ 10,000 ล้านบาท ที่ดินบีทีเอสหมอชิต 11 ไร่ ซึ่งโอนให้ยูซิตี้ พัฒนาเป็นสำนักงานให้เช่า

ที่ดินแดนเนรมิตพุ่ง 1.5 หมื่นล.

ที่ดิน 48 ไร่ ตรงข้ามแดนเนรมิตที่ร่วมกับ บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (จีแลนด์) ซึ่งซื้อจากกรมบังคับคดี 7,350 ล้านบาท เมื่อปี 2557 ยังไม่ได้โอนเข้ายูซิตี้ จะพัฒนาคอนโดฯ และอาคารสำนักงาน แต่หากมีผู้สนใจซื้อจะขาย เพราะมูลค่าขยับขึ้นเป็น 15,000ล้านบาทแล้ว

สุดท้าย “ธุรกิจบริการ” แม้บางส่วนโอนไปให้ยูซิตี้และวีจีเอ แต่บทบาทไม่ได้ลดลง การบริการธุรกิจอาหารยังมีอยู่ โดยร่วมกับ บมจ.บางกอกแร้นท์ (BR) ตั้ง บจ.แมนฟู้ด โฮลดิ้งส์ ลงทุนธุรกิจร้านอาหารจีน และในอนาคตอาจจะซื้อเชนเข้ามาเพิ่ม

เป้า 5 ปีรายได้ทะลุ 2 หมื่นล้าน

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่าบริษัทมีรายได้รวม 8,000-9,000 ล้านบาท/ปี แยกเป็นรายได้จากรถไฟฟ้ากว่า 4,000 ล้านบาท สื่อโฆษณา 3,000-4,000 ล้านบาท อสังหาฯ ปีนี้มีโอนโครงการร่วมทุนบีทีเอส-แสนสิริโครงการเดอะไลน์ 300 ล้านบาท จากยูซิตี้ 600 ล้านบาท และกำไรจากการบริหารความเสี่ยงด้านการเงินอีกกว่า 1,000 ล้านบาท

“ตั้งเป้า 5 ปีหรือปี 2565 รายได้บีทีเอสกรุ๊ปจะเติบโตปีละ 25% อยู่ที่ 20,000-25,000 ล้านบาท

ยูซิตี้จัดพอร์ตอสังหาฯใหม่

ด้านนางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยูซิตี้ กล่าวว่า หลังรับโอนธุรกิจอสังหาฯจากบีทีเอสกรุ๊ป มาอยู่ในพอร์ต ล่าสุดเตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจภายใน โดย 4 ม.ค. 2561 จะขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญตัดขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อปรับพอร์ตใหม่ โดย 60% เน้นลงทุนกิจการที่สร้างผลตอบแทนดีและระยะยาว 30-40% จะพัฒนาอสังหาฯเพื่อขาย

สำหรับการลงทุนปี 2561 มีโครงการพญาไท คอมเพล็กซ์ ค่าก่อสร้าง 7,000 ล้านบาท เป็นโครงการมิกซ์ยูส สูง 51 ชั้น มีสำนักงานเกรดเอ โรงแรม 5 ดาว และพรีเมี่ยม เซอร์วิสเรซิเดนซ์ นอกจากนี้จะลงทุนพัฒนาคอนโดฯ ของบีทีเอส-แสนสิริ 3 โครงการ และโรงแรมอีสตินที่ธนาซิตี้ที่รับโอนจากบีทีเอสจะแล้วเสร็จ และเปิดบริการต้นปีหน้า

ทุ่มเดินหน้าที่ร้อยชักสาม

ปี 2562 จะเริ่มพัฒนาอาคารสำนักงานให้เช่าตรงหมอชิต ค่าก่อสร้าง 6,000 ล้านบาท พัฒนาที่ดินโรงภาษีร้อยชักสาม เงินลงทุนรวมทั้งก่อสร้างและค่าเช่าที่ดิน 3,000 ล้านบาท เป็นรูปแบบผสมผสานมีโรงแรม 4 ดาว ร้านค้า และร้านอาหารพรีเมี่ยม


ส่วนโรงเรียนนานาชาติที่ธนาซิตี้ วงเงิน 2,000 ล้านบาท ที่รับโอนจากบีทีเอสจะแล้วเสร็จในปี 2564 ขณะเดียวกันรอจังหวะพัฒนาที่ดิน 50 ไร่ บริเวณคูคต รองรับกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว