ธุรกิจฟื้นแจกโบนัสสะพัด ค่ายรถ-อสังหาอู้ฟู่ 5-7 เดือน-

ธุรกิจฟื้นจ่ายโบนัสคึกคัก โตโยต้า-ฮอนด้า-อีซูซุ-มิตซูบิชิ 7-7.9 เดือน รับยอดขายเข้าเป้า มาสด้า เซอร์ไพรส์ ให้ล่วงหน้าสำหรับจับจ่ายช่วงปีใหม่ ท็อปไฟฟ์อสังหาฯ “เอพี-แสนสิริ-อนันดา-โกลเด้นแลนด์-ศุภาลัย” ไม่น้อยหน้า ซื้อใจพนักงาน 5-6 เดือน ส่วนแบงก์-ค่ายมือถือแจกทั้งโบนัส โบนัสพิเศษ เงินสวัสดิการ ชี้เน้นให้โบนัสตามผลงาน-ปรับสวัสดิการจูงใจ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังชะลอตัวมานาน กับกำลังซื้อผู้บริโภคฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทำให้ยอดขายและรายได้ของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลากหลายสาขาเติบโตกว่าที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับเชื่อมั่นว่าปี 2561 ทิศทางเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง จะทำให้ผลประกอบการและกำไรมีเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน องค์กรธุรกิจหลายแห่งใช้โอกาสช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ประกาศแจกโบนัส ให้เงินพิเศษ เงินสวัสดิการ รวมทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นการตอบแทน

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ปีนี้คึกคักมากเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่แม้ปีนี้ตลาดที่อยู่อาศัยทั้งระบบจะชะลอตัว แต่บริษัทพัฒนาที่ดินบางรายกลับปั้นยอดขายได้แบบสวนกระแส โดยเฉพาะค่ายอสังหาฯท็อปไฟฟ์

ส่วนกลุ่มสถาบันการเงินทั้งธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ มีทั้งจ่ายโบนัสให้แบบการันตี จ่ายโบนัส โบนัสพิเศษ เงินช่วยเหลือ เงินสวัสดิการผลตอบแทน กับจ่ายตามยอดรายได้ผลประกอบการ และผลงานหรือความสามารถของพนักงาน

ค่ายรถอู้ฟู่โบนัส 7.9 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจโบนัสที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มอบให้กับผู้บริหารและพนักงาน แม้ปีที่ผ่านมากับปีนี้ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนเผชิญกับปัจจับลบหลายด้าน ภาวะการขายรถยนต์หดตัวลง แต่ยังคงมีการจ่ายโบนัสเป็นปกติ โดยเฉพาะปีนี้ตลาดรถยนต์กลับมาฟื้นตัว จะทำให้แต่ละค่ายยอมทุ่มซื้อใจพนักงานกันเต็มที่

เริ่มจากค่ายโตโยต้า กำหนดจ่ายโบนัสในอัตรา 7.5 เดือน แบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ คือ เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา 3.5 เดือน และในเดือน ธ.ค.นี้อีก 3 เดือน บวกเพิ่มเงินพิเศษมูลค่า 20,000 บาท เช่นเดียวกับค่ายฮอนด้า ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จ่ายโบนัส 7.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 25,000 บาท ค่ายมิตซูบิชิกำหนดโบนัสไว้ 7 เดือน บวกเพิ่มเงินพิเศษ 35,000 บาท ใกล้เคียงกับอีซูซุที่เตรียมโบนัสให้พนักงาน 7.9 เดือน บวกเพิ่มเงินพิเศษเช่นเดียวกัน

จ่ายล่วงหน้าให้จับจ่ายรับปีใหม่

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ยอดขายมาสด้าดีมาก ทำได้เกินเป้าที่กำหนด ดังนั้นการจ่ายโบนัสน่าจะอยู่ในเกณฑ์ 6 เดือน และจะมีคำนวณเพิ่มเติมจากความสามารถอื่น ๆ ซึ่งปกติมาสด้าจะจ่ายตามปีงบประมาณแบบญี่ปุ่น คือ เริ่มจ่ายเดือน เม.ย. แต่มาสด้าอนุมัติจ่ายก่อนในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้พนักงานได้มีเงินไปจับจ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ค่ายซูซูกิอนุมัติแล้วสำหรับเงินโบนัส โดยพิจารณาให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6 เดือน พร้อมบวกเงินพิเศษอีก 28,500 บาท ขณะที่นิสสันยังอยู่ระหว่างพิจารณา แต่คาดว่าน่าจะราว ๆ 6 เดือนเช่นกัน ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท โดยจะสรุปอีกทีเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2560 คือ เดือน มี.ค. 2561 แต่เดือน ธ.ค.นี้ บริษัทได้มอบเงินโบนัสให้กับพนักงานในอัตรา 1 เดือนก่อน ส่วนพนักงานระดับบริหารจะได้ในอัตรา 1.5 เดือน

ไม่ต่างจากค่ายฟอร์ด ที่จะปิดปีงบประมาณราวเดือน มี.ค.ปีหน้า กำหนดมอบโบนัสพิเศษให้กับพนักงาน 1 เดือน เป็นอัตราฟิกซ์ปกติ ส่วนเงินโบนัสประจำปีต้องรอดูผลประกอบการทั้งปีอีกครั้ง คล้าย ๆ กับค่ายเชฟโรเลต “ส่วนค่ายรถยนต์ที่ได้น้อยที่สุดตอนนี้น่าจะเป็นค่ายเอ็มจี ในกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ กำหนดให้เงินโบนัส 2 เดือน” ผู้สื่อข่าวรายงาน

อสังหาฯแจก 5-6 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้มีบริษัทมหาชนหลายรายที่มีผลงานโดดเด่น ทั้งในด้านยอดขาย และยอดรับรู้รายได้ โดยมีอย่างน้อย 5 ราย ที่สามารถทำยอดขาย (พรีเซล) สูงเกินเป้าที่ประกาศไว้ตอนต้นปีจนต้องมีการปรับเพิ่มเป้า ได้แก่ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์), แสนสิริ, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, โกลเด้นแลนด์, ศุภาลัย ทำให้คาดว่าในภาพรวมของวงการ อัตราการจ่ายโบนัสตอบแทนพนักงานน่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

แหล่งข่าวจาก บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า ปีที่แล้วพนักงานได้โบนัสเฉลี่ยคนละ 5 เดือน สำหรับปีนี้มีผลดำเนินงานเป็นบวกหลายด้าน โดยเฉพาะยอดพรีเซลจากเดิม 14,500 ล้านบาท มีการปรับเป้าเป็น 20,000 ล้านบาท ทำให้แนวโน้มโบนัสปีนี้ไม่ต่ำกว่าเดิม อย่างน้อยเฉลี่ยคนละ 6 เดือน

เช่นเดียวกับ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ระบุว่า ปีนี้เป้ายอดพรีเซล 53,000 ล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปีผลดำเนินการอาจต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย แต่ยังเกิน 50,000 ล้านบาท โดยปีที่แล้วได้รับโบนัสเฉลี่ย 6 เดือน คาดว่าปีนี้มีโบนัสใกล้เคียงกัน

ในขณะที่แหล่งข่าวจาก บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ ระบุว่า โบนัสปีที่แล้วเฉลี่ย 5 เดือน ปีนี้ผลดำเนินงานทรงตัว ในด้านยอดพรีเซลมีการปรับลดจาก 20,000 ล้านบาท เหลือเป้า 16,000 ล้านบาท และคาดว่าทำได้ตามเป้าที่ปรับใหม่ จึงคาดว่าโบนัสปีนี้อาจได้ใกล้เคียงปีที่แล้ว

แบงก์กรุงไทยให้เงินสวัสดิการ

สำหรับการจ่ายโบนัสของสถาบันการเงิน นายผยง ศรีวนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า โบนัสประจำปี 2560 ของธนาคารกรุงไทยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการธนาคาร ว่าจะมีหรือไม่ ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากสถานะการดำเนินงานของธนาคารด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรุงไทยมีการจ่ายผลตอบแทน โดยไม่ได้อยู่ในรูปเงินโบนัส แต่จ่ายให้เป็นเงินสวัสดิการผลตอบแทนของพนักงาน ซึ่งจะจ่ายในช่วง มี.ค.ของทุกปี แต่ละคนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความสามารถ หรือผลงานของแต่ละคน แต่เฉลี่ยแล้วให้เงินตอบแทนเฉลี่ยแล้ว 3 เดือน

แบงก์แจกโบนัส-โบนัสพิเศษ

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ มีการรายงานว่าจะจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานในอัตราคงที่ต่อเนื่องมาหลายปี โดยคิดเป็นเงินโบนัส 2 เดือน โดยแบ่งจ่ายเป็นสองรอบ คือ จ่าย 1 เดือนในงวด ธ.ค.ของปีนั้น ๆ ขณะที่อีก 1 เดือนแบ่งไปจ่ายในช่วง มิ.ย.ของปีถัดไป

และนอกจากการจ่ายโบนัสปีละ 2 เดือน 2 ครั้งแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ ยังจ่ายเงินโบนัสพิเศษ ให้พนักงานโดยอิงผลประกอบการธนาคาร และผลงานของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งเงินโบนัสพิเศษนี้จะจ่ายในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ของทุกปี

ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ นอกจากมีการจ่ายโบนัส และโบนัสพิเศษ แล้วยังมีการจ่ายเงินช่วยเหลือให้พนักงานของธนาคารอีก 1.5 เดือน ในแต่ละปีด้วย ซึ่งรวม ๆ แล้วธนาคารกรุงเทพจ่ายเงินโบนัส บวกเงินช่วยเหลือพนักงาน รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3.5 เดือนในแต่ละปี

ส่วนธนาคารกสิกรไทย และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยนั้นจะพิจารณาการจ่ายโบนัสตามผลประกอบการและผลงานแต่ละคน ซึ่งธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จ่ายโบนัสในช่วงมีนาคมของทุกปี

ค่ายมือถือให้เงินพิเศษ-โบนัส

แหล่งข่าวจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจ่ายโบนัสให้พนักงานของบริษัทโดยปกติแล้วจะพิจารณาจากผลงานโดยจะมีตัวชี้วัดหรือเคพีไอในการประเมินเข้ากับเป้าหมาย และผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละปี และที่เอไอเอสจะมีการจ่ายโบนัสในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และของปีที่แล้วที่จ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 3 เดือน

นอกเหนือจากโบนัสแล้ว ในบางปีอาจเป็นเงินเพิ่มเติมพิเศษเพื่อเป็นกำลังใจให้พนักงาน เช่น ปีก่อนหน้านี้ที่มีการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ พร้อมกับการเร่งโอนย้ายลูกค้าจากคลื่นเดิมที่หมดสัมปทานไปยังคลื่นใหม่ภายใต้ใบอนุญาตก็มีการให้เงินพิเศษเป็นหลักหมื่นบาท โดยโอนเข้าในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ “เอ็มเปย์” (mPay) ทั้งเพื่อตอบแทนพนักงานและกระตุ้นให้มีการใช้บริการอีวอลเลตเพิ่มขึ้น เป็นต้น

แหล่งข่าวจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทยังไม่มีกำไร แต่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพนักงานที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักต่อเนื่องมาตลอด บริษัทจึงมีเงินจัดสรรพิเศษให้กับพนักงาน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 เดือน โดยมีการจัดสรรให้ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา แต่สำหรับปีใหม่ที่จะถึงนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร

จ่ายโบนัสตามผลงาน

นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลสำรวจอัตราโบนัสของพนักงานไทย ประจำปี 2560 เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจเป็นพนักงาน 2,020 คน จาก 26 สายงาน และผู้ประกอบการ 322 องค์กรทุกภูมิภาค พบว่า รูปแบบการให้โบนัสมี 2 แบบ คือ แบบการันตี คิดเป็น 53% และแบบพิจารณาผลงาน 50% โดยบางบริษัทจ่ายโบนัสทั้ง 2 แบบ และคาดว่าอนาคตเทรนด์การจ่ายโบนัสจะเป็นแบบพิจารณาผลงานมากขึ้น

พิจารณาธุรกิจที่จ่ายโบนัสแบบการันตี ธุรกิจยานยนต์จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 2.33 เดือน ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ เฉลี่ย 1.31 เดือน ธุรกิจบริหารการเงิน เฉลี่ย 1.16 เดือน ธุรกิจอาหาร/เครื่องดื่ม/จัดเลี้ยง 0.89 เดือน ธุรกิจไอที 0.86 เดือน

ส่วนที่จ่ายโบนัสตามผลงาน อันดับหนึ่งธุรกิจยานยนต์สูงสุด เฉลี่ย 2.14 เดือน ธุรกิจบริหารการเงิน 1.96 เดือน ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ 1.26 เดือน ธุรกิจอาหาร/เครื่องดื่ม/จัดเลี้ยง 1.11 เดือน ธุรกิจไอที 0.92 เดือน

ปรับสวัสดิการจูงใจ

ด้าน น.ส.พิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจรายงานการวางแผนจัดสรรงบประมาณเงินเดือนในเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2560 ไตรมาส 3 ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่าง 250 บริษัท พบว่า โบนัสปี 2560 อยู่ที่ 1.8-5.5 เดือน แตกต่างกันไปตามกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มประกันภัย จ่ายโบนัสต่ำสุด 1.8 เดือน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมที่ 2.4 เดือน

โดยกลุ่มบริหารสินทรัพย์ จ่ายโบนัสสูงที่สุด 5.5 เดือน รองลงมาคือ กลุ่มประกันชีวิต, การเงินการธนาคาร, อุตสาหกรรมทั่วไป 2.4 เดือน กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค และกลุ่มอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ 2.3 เดือน

นอกจากการจ่ายโบนัสแล้ว นายจ้างไทยมีแนวโน้มปรับรูปแบบสวัสดิการให้ตรงตามความต้องการของพนักงาน ลูกจ้างแรงงานมากขึ้น เช่น เพิ่มแผนดูแลครอบครัว การดูแลบุตร สวัสดิการซื้อขายวันลาหยุด แผนสวัสดิการเพื่อสภาวะการเงิน เนื่องจากนายจ้างส่วนใหญ่เชื่อว่า สวัสดิการจะเป็นตัวช่วยจูงใจพนักงานให้ผูกพันกับองค์กร และรักษาคนมีฝีมือไว้ได้