ม.ค.เริ่ม “รีเควสทูเพย์” ข้ามแบงก์ สั่งจ่ายบิล “น้ำ-ไฟ-ช็อป-รูดบัตร”-

ดีเดย์ ม.ค. 61 รัฐหนุนเปิดบริการรีเควสทูเพย์ “ข้ามแบงก์” แจ้งบิล “น้ำ-ไฟ-ช็อปปิ้ง-ยอดรูดบัตร” เด้งบนมือถือ ฝั่งลูกค้าเลือกกดโอนจ่ายเงินผ่านมือถือได้ทันที 2 ค่ายแบงก์ใหญ่ ประกาศให้บริการต้นปี “ธนา” เผยระบบพร้อมบริการได้ทั้งระหว่างบุคคลธรรมดา และกลุ่มบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล หนุนต่อยอดบริการอื่น อาทิ สินเชื่อ เงินฝาก-กองทุน ตามมาหนุนสร้างรายได้ค่าฟีด้านอื่น ๆ

นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ที่ปรึกษาคณะทำงาน National e-Payment (แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแผนงานหลัก National e-Payment ของรัฐบาลในขณะนี้อยู่ระหว่างวางระบบบริการใหม่ออกมาสู่ภาคการเงิน ได้แก่ request to pay (รีเควสทูเพย์) หรือ การเรียกเก็บชำระเงินที่ใช้ได้ทั้งระหว่างบุคคลกับบุคคล และบุคคลกับร้านค้า ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือน ม.ค. 2561

“บริการรีเควสทูเพย์ จะมาต่อยอดการทำธุรกรรมใหม่ ๆ ได้อีกเยอะ จากเดิมที่เป็นการทำธุรกรรมทางเดียว คือลูกค้าเป็นฝ่ายจ่ายเงิน แต่ต่อไป เวลาเราเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตซื้อของ อาจจะให้ร้านค้าส่งยอดเงินเข้ามือถือ เราสามารถกดโอเคจ่ายเงินได้เลย หรือ ให้เขาส่งบิลค่าน้ำ ค่าไฟ บัตรเครดิต ทำขึ้นมาเป็นรายการให้เราเลือกจ่ายเงินได้เอง” นายอนุชิตกล่าว

ทั้งนี้ รีเควสทูเพย์ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีรูปแบบเหมือนคิวอาร์โค้ด จะช่วยให้ภาคการเงินต่อยอดบริการอื่นได้ และภาคธุรกิจทำงานได้สะดวกขึ้น ในขณะที่ผู้ให้บริการสามารถให้ผู้ใช้เลือกช่องทางในการให้บริการลูกค้า เช่น เมื่อมีคนส่งบิลไปที่เบอร์โทรมือถือ หรือเลขที่บัตรประชาชน ระบบดังกล่าวจะเช็กว่า ได้ผูกไว้กับธนาคารใด เมื่อธนาคารได้รับคำสั่งรีเควสทูเพย์ก็จะแสดงรายการให้ลูกค้าเห็นผ่านโมบายแบงกิ้ง อีกทั้งยังสามารถรวบรวมทำเป็นรายการส่งถึงบ้านลูกค้า ส่วนลูกค้าที่ไม่ได้ใช้โมบายแบงกิ้ง ก็จะเดินไปที่สาขาขอเรียกรายการและเลือกจ่ายเงินได้

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ธนาคารได้เปิดให้บริการรีเควสทูเพย์ อยู่ในแอปพลิเคชั่น SCB Easy อยู่แล้ว ซึ่งเป็นระยะแรก คือให้บริการฝั่งขาเรียกเก็บเงินและจ่ายเงินเฉพาะลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยกันเอง โดยขณะนี้มีลูกค้าธนาคาร 5 ล้านคนแล้ว แต่ในต้นปี 2561 นี้ ธนาคารจะเปิดให้บริการรีเควสทูเพย์ ที่สามารถบริการข้ามธนาคารด้วยกันได้ ซึ่งจะมีฐานลูกค้าอยู่มากกว่า 20 ล้านคนที่มีโมบายแอปพลิเคชั่น

สำหรับการเปิดทดลองฟีเจอร์นี้ จะตอบโจทย์ทั้งลูกค้าที่เป็นบุคลธรรมดา และนิติบุคคล ทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการผ่านแอปฯของธนาคารมากขึ้น แม้ว่าการบริการดังกล่าวจะไม่มีการคิดฟี (ค่าธรรมเนียม) แต่ก็จะช่วยต่อยอดไปถึงการเชิญชวนให้ลูกค้าที่ไม่เคยใช้บริการหรือใช้บริการอยู่แล้ว จะเลือกใช้บริการอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การเปิดบัญชีเป็นลูกค้าเงินฝาก กองทุนหรือขอสินเชื่อกับธนาคารได้ ซึ่งจะนำมาสู่รายได้จากบริการดังกล่าวตามมาในอนาคต

“รีเควสทูเพย์เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า เราไม่คิดค่าฟี เพราะเดี่ยวนี้การแข่งขันมีมากมาย และมาในรูปแบบใหม่ เช่น เข้ามาทางไลน์ เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล ทำให้เราต้องเพิ่มบริการที่ตอบโจทย์มากกว่า การคำนึงเรื่องรายได้จึงต้องมาทีหลัง ซึ่งสิ่งสำคัญตอนนี้คือ ทำให้แอปฯธนาคารอยู่หน้าแรกที่ลูกค้าใช้ประจำได้ เมื่อฐานลูกค้ามากพอ เราก็เข้าไปปล่อยกู้ได้ หรือมีธุรกรรมอื่น ๆ ที่ลูกค้าสนใจใช้บริการเพิ่ม ค่าฟีอื่นของแบงก์ก็อาจเข้ามา”

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า ปัจจุบันมีรีเควสทูเพย์ให้บริการอยู่ในแอปฯ K Plus แล้ว ซึ่งยังใช้เรียกเก็บได้เฉพาะลูกค้ากสิกรไทยด้วยกันเท่านั้น แต่ภายในไตรมาส 1/61 จะสามารถเปิดให้บริการเรียกเก็บเงินระหว่างแบงก์ด้วยกันได้


“Request to pay เรื่องหลัก ๆ คือระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายจะใช้เรียกเก็บเงินง่ายขึ้น สะดวกกว่าส่งบิลที่เป็นจดหมาย ไม่รู้ว่าลูกค้าได้รับหรือไม่ เพราะเมื่อมีรีเควส (คำขอ) มาจะเด้งในโทรศัพท์ ซึ่งจะมีการแนบ ลิงค์ รูปบิลให้ลูกค้ากดดูได้จ่ายได้เลย ดังนั้นจะเวิร์กมากเมื่อใช้ผ่านโมบายแบงกิ้ง” นายสมคิดกล่าว